คุณแม่วัยใส และกลุ่มมารดาที่ใช้ชีวิตแข่งขันกับเวลามีเฮ หลังทีมวิจัยจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิจัยสมุนไพรเร่งน้ำนมมารดาให้นมบุตรสำเร็จ ปัจจุบันกลุ่มมารดา หลังคลอดบุตรมักจะให้น้ำนมทารก 1-3 เดือน แล้วต้องหยุด สาเหตุหนึ่งมาจากปริมาณน้ำนมน้อย หรือบางรายไม่มีน้ำนม
ผศ.ดร.พัชราณี ภวัตกุล อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ภาวะหญิงให้นมบุตรต้องการสารอาหารต่างๆ มาก ซึ่งมีแนวโน้มมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ เพราะหลังคลอดบุตรจะต้องให้นมทารก หากไม่ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน นอกจากสุ่มเสี่ยงต่อการขาดแคลเซี่ยม แนวโน้มยังสทำให้มารดาไม่มีปริมาณน้ำนมเพียงพอที่จะเลี้ยงทารก และจากข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ควรมารดาควรให้นมบุตรหลังคลอดอย่างน้อย 6 เดือน แต่จากข้อมูล พบว่าประเทศไทยมีแม่ที่ให้นมบุตรจนเด็กอายุถึง 6 เดือน เพียงแค่ 15 % ขณะที่สาธรารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมารดาให้นมบุตร 40 % ละอินโดนีเซีย 42 %
สาเหตุหนึ่งที่กลุ่มมารดาให้นมบุตรในไทยอัตราเฉลี่ยน้อยสาเหตุมาจากวิถีชีวิต ที่ต้องเร่งรีบ ทำให้ไม่มีเวลาบริโภคอาหารบำรุงน้ำนม จากปัญหาดังกล่าวคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล จึงศึกษาการนำสมุนไพร ลูกซัด ขิง และขมิ้น มาศึกษาวิจัยใช้สมุนไพรเพิ่มน้ำนมแม่ โดยสมุนไพรบ้านอาจารย์ สนับสนุนทุนวิจัย
ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ หนึ่งในทีมวิจัย เผยว่า จากข้อมูลที่ทีมวิจัยค้นคว้ามีพืชสมุนไพรที่ช่วยสร้างน้ำนม 3 ชนิดได้แก่ลูกซัด ที่หญิงชาวอินเดีย และยุโรป นำมาใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร เพื่อเพิ่มการผลิตน้ำนม ซึ่งลูกซัดได้ถูกจัดเป็นยาพื้นบ้านมาแต่โบราณของชาวยุโรป และถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย จากข้อมูลดังกล่าว ทีมวิจัยจึงได้นำ ขิง และขมิ้นชัน สมุนไพรไทย ซึ่งยังไม่มีการศึกษามาใช้เป็นส่วนผสมในอัตราส่วนต่างๆ จากนั้นนำไปศึกษาประสิทธิผลการเสริมสมุนไพร และศึกษาผลข้างเคียงทั้งมารดาและทารก ด้วยการวิจัยทางสากล โดยมหาวิทยาลัยมหิดล อนุมัติการวิจัย
โดยทีมวิจัยทำการเลือกกลุ่มอาสาสมัคร ซึ่งเป็นมารดาให้นมบุตร ระหว่างอายุ 20-40 ปี จำนวน 50 ราย พร้อมแบ่งกลุ่มศึกษาเปรียบเทียบ กลุ่มแรกให้แคปซูลซึ่งภายในบรรจุแป้งข้าวโพด และกลุ่มที่ 2 ให้แคปซูลสมุนไพรเร่งน้ำนม โดยรับประทาน ก่อนอาหาร ทั้ง 3 มื้อ ครั้งละ 3 แคปซูล ระยะเวลา 14 วัน พบว่าปริมาณน้ำนมกลุ่มที่ได้รับแคปซูลสมุนไพร จาก 700 มลต่อวัน เพิ่มขึ้น 1,000 มล.ต่อวัน โดยสารอาหารในน้ำนม ไม่เปลี่ยนแปลงคุณภาพยังคงอยู่ ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับสมุนไพร ปริมาณน้ำนมคงที่
ทั้งนี้ผลงานวิจัยตำรับสมุนไพรเพิ่มน้ำนมแม่ ได้จดทะเบียนอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา และยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ระดับโลก “Breastfeeding Medicine” นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา.