น้ำเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานสำคัญของทุกชีวิต ทั้งยังเป็น Infrastructure ที่ขาดไม่ได้ทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว

ร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการนํ้า 20 ปี ที่ประกอบไปด้วย 6 ยุทธศาสตร์หลัก...การคงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ เป็นยุทธศาสตร์ลำดับที่ 5 มีการตั้งเป้าใหม่จะฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม เพื่อเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ของประเทศให้ได้ 40% ภายในปี 2569

จากปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 31% นั่นเท่ากับว่า จะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้อีก 30 ล้านไร่

เพื่อจะได้มีป่าไว้ช่วยเก็บน้ำ ชะลอน้ำไม่ให้ไหลเร็ว น้ำจะได้มีโอกาสซึมไปเก็บไว้ในชั้นใต้ดินมากขึ้น ลดการกัดเซาะทำลายหน้าดิน การตื้นเขินของอ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ ลำคลอง ลดน้อยลง คุณภาพน้ำดีขึ้น ฯลฯ

เหตุผลเหล่านี้เป็นที่รู้กันดีว่า ป่าช่วยได้ ที่ผ่านมาทั้งภาครัฐและเอกชนต่างมีโครงการปลูกป่ากันมาหลายสิบปี แต่กลับไม่ได้ป่าเพิ่มขึ้นเหมือนที่ได้ลงทุนลงแรงโหมโฆษณาแต่อย่างใด แถมพื้นที่ป่าไม้ยังถูกบุกรุกทำลายเพิ่มมากขึ้นอีกต่างหาก

แม้แต่ยุครัฐบาลอำนาจพิเศษที่เปิดฉากโชว์ศักยภาพเอาจริงเอาจังกับปัญหานี้ ถึงขั้นประกาศนโยบายทวงคืนผืนป่า...ป่ายังถูกบุกรุกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.5 แสนไร่

สรุปแล้ว...ถ้าเรายังคงใช้วิธีการแบบเดิมๆ เป้าหมายอีก 7 ปี ต้องสร้างป่าเพิ่มให้ได้ 30 ล้านไร่ คงเป็นได้แค่เพียงภาพฝันเท่านั้นเอง

...

แต่กระนั้น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) หน่วยงานหลักด้านน้ำของประเทศ

ไม่ละความพยายามในการหาแนวทางใหม่ๆ ที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ลำดับที่ 5 บรรลุเป้าหมาย

เมื่อ กลุ่มวิเคราะห์เศรษฐกิจและสังคม กองนโยบายและยุทธศาสตร์ สทนช. พบว่า การนำแนวคิดภายใต้กรอบการจ่ายค่าตอบแทนในการบริการของระบบนิเวศ ที่เรียกว่า PES (Payment for Ecosystem Service) มาใช้แทนการฟื้นฟูป่าแบบเดิมๆ น่าจะบรรลุเป้าหมายได้

เพราะมีการนำแนวทางนี้ไปใช้ใน 26 ประเทศ 74 โครงการ ปรากฏว่าได้ผลฟื้นฟูป่าได้รวดเร็ว...ตัวอย่างที่เห็นผลได้ชัดเจน สภาพพื้นที่ ภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ ภูมิรัฐศาสตร์ ใกล้เคียงกับบ้านเรา นั่นคือ เวียดนาม

ที่ได้เริ่มโครงการในช่วงปี 2543-2553 ที่จังหวัดแลมดอง เนื่องจากเป็นพื้นที่มีราษฎรบุกรุกทำลายป่าเพื่อทำการเกษตรเป็นจำนวนมาก

จากเดิมก่อนปี 2543 จังหวัดแลมดองมีพื้นที่ป่ารวมทั้งสิ้น 706,205 ไร่ เมื่อนำระบบ PES มาใช้ 10 ปีผ่านไป ได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นมาถึง 3 เท่าตัว เป็น 2,131,450 ไร่

โดยรัฐบาลเวียดนามใช้วิธีออกกฎหมายยอมรับให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้แบบพึ่งพาอาศัยกัน ยอมให้ทำการเกษตรแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า ทำเกษตรแบบ GAP และมีการจ้างให้เกษตรกรทำหน้าที่เฝ้าดูแลป่า ปลูกป่า โดยมีการตั้งกองทุนขึ้นมาให้ทางจังหวัดเป็นผู้ดูแล

และเงินกองทุนที่ได้มาใช้จ่ายจ้างเกษตรกรให้ช่วยกันดูแลป่า ฟื้นฟูป่า มาจาก 3 แหล่งใหญ่ด้วยกัน นั่นคือ จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ จากบริษัทองค์กรที่ผลิตน้ำประปาหรือนำน้ำไปใช้ประโยชน์ และจากกลุ่มผู้ประกอบการการท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการในป่า

เงินที่เข้ามาในกองทุน 80% จะถูกจัดสรรจ่ายไปให้เกษตรกรเป็นค่าเดินตรวจป่า ป้องกันไฟป่า ดูแลป่า และปลูกป่า อีก 20% จะถูกจัดสรรไปให้องค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อใช้ในด้านวิชาการ อบรมให้ความรู้กับเกษตรกร ทั้งในเรื่องการปลูกป่า ดูแลป่า และทำการเกษตรแบบเป็นมิตรกับระบบนิเวศ ไม่ทำลายป่า

ปรากฏว่า วิธีการนี้นอกจากจะได้พื้นที่ป่าฟื้นคืนกลับมาอย่างรวดเร็วแล้ว ยังทำให้คนอยู่กับป่ามีรายได้เสริมจากการฟื้นฟูป่าไร่ละ 3,076-3,516 บาทต่อปี

โดยรัฐไม่ต้องควักจ่าย แต่ได้ป่ามากกว่าที่ประเทศไทยถมเงินจ้างปลูกป่าปีแรกไร่ละ 3,900 บาท แต่วัดผลไม่ได้ว่า ได้ป่าเพิ่มมาจริงแค่ไหน.

ชาติชาย ศิริพัฒน์