ความทันสมัยของชีวิตในโลกปัจจุบัน มอบความสะดวกสบาย หลายอย่างให้แก่ชีวิตคนเราก็จริง แต่มันก็มาพร้อมค่าใช้จ่าย
ในการดำรงชีพที่แพงขึ้น แถมยังบีบเค้นให้เราต้องทำมาหากินหนักขึ้น ต้องออกไปหากินไกลบ้านมากขึ้น จนแทบไม่เหลือเวลาให้กับคนที่รักในบ้าน
วิถีชีวิตเยี่ยงนี้ ไม่เพียงเป็นอุปสรรคต่อความพร้อมหน้ากันของสมาชิกในครอบครัว ยังลามไปเป็นอุปสรรคต่อการแต่งงาน หรือคิดจะมีลูกของคนสมัยนี้ ยิ่งกว่านั้นยังไม่เอื้อต่อการดูแลสมาชิกคนอื่นๆภายในบ้าน จนกลายเป็น “ความเปราะบาง” รูปแบบใหม่ ที่สังคมไทยและอีกหลายประเทศกำลังเผชิญกัน
มันก็ไม่ต่างกับสำนวนที่ว่า เด็ดดอกไม้ สะเทือนไปถึงดวงดาว นั่นแหละ...หลายคนแอบหวั่นวิตกว่าถ้าอัตราการเกิดใหม่ของสังคมไทย เกือบจะกลายเป็นศูนย์อยู่เช่นนี้ไปเรื่อยๆ อนาคตอีก 100 ปีข้างหน้าหรือศตวรรษหน้า ประเทศเราจะมีประชากรเหลืออยู่ถึง 20 ล้านคน หรือไม่
และถ้าเหตุการณ์ยังคงดำเนินอยู่เช่นนี้ต่อไปอีกสัก 1 ศตวรรษ 2 ศตวรรษ หรือ 3 ศตวรรษต่อเนื่อง...อะไรจะเกิดขึ้น วันหนึ่งคำว่า “คนไทย” หรือ “ประชากรไทย” อาจถูกลบชื่อออกไปจากโลกใบนี้เลยหรือเปล่า
...
จริงๆแล้ว ไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวที่ต้องเผชิญกับสภาพการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรและครอบครัวในลักษณะนี้ ล่าสุดมีรายงานว่า แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างเมียนมาเองก็พบกับความเปลี่ยนแปลงและกำลังตกอยู่ในชะตากรรมแทบไม่ต่างจากไทย
พม่าในอดีต หรือเมียนมาในปัจจุบัน กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ภายหลังการเปิดประเทศ และค่อยๆปล่อยมือทีละน้อยจากระบอบเผด็จการทหาร เดินหน้าสู่อ้อมกอดของประชาธิปไตยมากขึ้น สภาพเศรษฐกิจของเมืองใหญ่ๆในเมียนมา จึงเริ่มพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ
ไม่ว่าจะเป็นเหมืองหลวงเก่าอย่าง ย่างกุ้ง เมืองหลวงปัจจุบัน อย่าง เนปิดอว์ หรือเมืองท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง มัณฑะเลย์
เมืองหลักเหล่านี้ ล้วนมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ต้องการกำลังการผลิต หรือแรงงานมากขึ้น ประชาชนส่วนหนึ่งจึงเริ่มหันหลังให้ภาคสังคมเกษตรกรรม บ่ายหน้าสู่สังคมเมือง ที่ทั้งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมกำลังขยายตัว
เมื่อผู้คนเปลี่ยนสภาพจากสังคมเกษตร มาเป็นมนุษย์เงินเดือน มีงานทำ มีเงินเดือนกิน และคาดหวังว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัญหาใหม่ก็เริ่มตามมา
นั่นคือ เกิดเป็นคำถามตามมาว่า “ครอบครัว” ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของสังคมเมียนมา พร้อมแล้วหรือยังที่จะร่วมเดินหน้าไปกับการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ในที่สุดภาพของ “เมียยุค 2018 เวอร์ชันเมียนมา” จึงแทบจะดูไม่ต่างกับชีวิตจริงของ “เมียยุค 2018 ในสังคมไทย”
ผู้หญิงเมียนมายุคนี้หลายคน เมื่อแต่งงานแล้วต้องลาออกจากงาน หรือหยุดชีวิตการทำงานหาเงินได้เองไว้เพียงแค่นั้น เพื่อออกมาเป็นแม่บ้าน ดูแลลูกและความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว คล้ายคลึงกับผู้หญิงไทยหลายคนในปัจจุบัน
ซินซิน และ จีจี สองนักวิจัยทางสังคมของเมียนมา บอกว่า การจะมีโอกาสได้ทำงานหรือไม่ของหญิงชาวเมียนมาสมัยนี้ ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญ คือ สามี จำนวนบุตรที่มี และครอบครัวที่หญิงแต่งงานแล้วผู้นั้นเข้าไปอยู่ด้วย
เพราะตามขนบธรรมเนียมของชาวเมียนมา ได้วางบทบาทของผู้เป็นภรรยาไว้ว่า ภรรยามีหน้าที่ต้องดูแลบ้าน เลี้ยงลูก ดูแลสามี และทุกคนในบ้านเป็นหลัก
การที่ผู้หญิงเมียนมาบางคนหลังแต่งงานแล้ว ได้เข้าไปอยู่ในบ้านซึ่งพอมีฐานะ หรือมีคนรับใช้ก็ยังพอมีโอกาสได้ออกไปทำงานนอกบ้านบ้าง
แต่ถ้าสามีย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่น ภรรยาก็ต้องย้ายตาม หากย้ายตามไปแล้ว รายได้ของสามีไม่พอเลี้ยงปากท้องคนในครอบครัว ภาระมักจะมาตกหนักอยู่กับผู้เป็นภรรยา ที่ต้องออกไปทำงานหาเงินนอกบ้าน แถมยังต้องแบกรับภาระดูแลในบ้านด้วยทันที
ขณะที่นักประชากรศาสตร์ของไทย จากมหาวิทยาลัยมหิดลบางคนตั้งข้อสังเกตว่า การขยายตัวในภาคเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องที่เกิดขึ้นกับเมียนมาเวลานี้ ส่งผลให้วิถีชีวิตชาวเมียนมายุคใหม่ เปลี่ยนแปลงไปด้วย
...
เพราะโดยทั่วไปแล้ว ชีวิตคนเรามักจะล้อไปตามการขยายตัวของความเป็นเมือง และการใช้ชีวิตแบบเฉพาะตัวในสังคมเมือง นอกจากนี้ความรับผิดชอบเรื่องปากท้องของครอบครัวในสังคมเมือง ยังมักจะปิดกั้นโอกาสของการอยู่บ้านเพื่อเลี้ยงดูลูกของผู้หญิงทั้งหลาย
สรุปแล้ว ความเปราะบางของบทบาทเมีย และอุปสรรคในการทำงานของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว เป็นแค่ปัญหาหนึ่ง
แต่ปัญหาใหญ่กว่าก็คือ ถ้าเห็นว่ามันยากนักที่จะเป็นทั้งเมียและแม่ในเวลาเดียวกัน อีกหน่อยผู้หญิงไม่ว่าประเทศใดในโลกก็จะไม่แต่งงานและมีลูก คิดแค่ว่าตั้งหน้าทำงานหาเงินดูแลตัวเองดีกว่า
สภาพการณ์เช่นนี้ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อโครงสร้างประชากร และความมีภราดรภาพของสถาบันครอบครัวของผู้คนในประเทศนั้นอย่างแน่นอน เพราะสังคมจะขาดความสมดุล และเต็มไปด้วยปัญหายุ่งเหยิงหลายอย่างตามมา
ดังนั้น นับแต่นาทีนี้ หากรัฐบาลของประเทศที่มีปัญหาในลักษณะนี้ ยังทำตัวเหมือนทองไม่รู้ร้อน ต่อไปในศตวรรษหน้าประชากรของประเทศนั้น จะค่อยๆหดหายลงไปเรื่อยๆ...ในระดับที่น่าใจหาย!!!
จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหลายเรื่อง ให้ผู้บริหารประเทศเหล่านั้นควรเร่งดำเนินการ
...
เช่น พยายามหาทางลดอุปสรรคในการทำงานของผู้มีลูก โดยเฉพาะในช่วงที่ลูกยังต้องการการดูแล หามาตรการสนับสนุนให้หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนรับผู้ที่ต้องออกจากงาน เพื่อมีบุตร สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ได้อีกครั้ง หลังจากที่บุตรเริ่มเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียน เป็นต้น
ขณะเดียวกันในส่วนของคนชราหรือสมาชิกที่สูงวัยในครอบครัว ก็ต้องไม่ละเลยหรือทิ้งขว้าง รัฐบาลควรหากลไกที่เอื้อต่อการให้ลูกหลาน สามารถกลับไปเยี่ยม หรือดูแลผู้สูงอายุเหล่านั้นตามสมควร
พัฒนาสมรรถนะของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครดูแลเยี่ยมผู้สูงอายุที่อยู่ตามบ้าน (อผส.) ส่งเสริมพัฒนาระบบเพื่อนบ้านที่ดี และพึ่งพาได้ไว้คอยช่วยดูแลผู้สูงอายุแทนบุตรหลานที่ต้องออกไปทำงาน และให้ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ มีบทบาทมากขึ้นในการสร้างเสริมศักยภาพของผู้สูงอายุ เป็นต้น
ไม่ว่าสังคมใด หากไม่เริ่มต้นวันใหม่...ด้วยความผิดหวังจากเมื่อวาน เราจะกลายเป็นสังคมที่เข้มแข็ง และมีรอยยิ้มที่กว้างขึ้นอย่างแน่นอน.