สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจและลูกจ้างควรจะรู้ถึงสิทธิของตนเอง เมื่อถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม หรือถูกเอารัดเอาเปรียบจากสัญญาจ้าง ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายสูงสุดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มีเจตนามุ่งหมายจะคุ้มครองแรงงานหรือลูกจ้าง เนื่องจากถือว่าลูกจ้างเป็นผู้ที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่านายจ้าง
เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม หรือนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด นายจ้างจะต้องรับผิดชำระค่าชดเชย ดังนี้
1. ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วันหรือ 60 วันแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ การบอกกล่าวล่วงหน้านั้น ให้หมายความรวมถึงลูกจ้างทดลองงานด้วย
2. ค่าชดเชยตามระยะเวลาการทำงาน ดังนี้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปน้ี
(1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วันแต่ไม่ครบ 1 ปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
(2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปีแต่ไม่ครบ 3 ปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
(3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
(4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปีแต่ไม่ครบ 10 ปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
(5) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไปให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
3. ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติ
...
จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา
นอกจากนี้ ในกรณีที่บริษัทหรือนายจ้างที่มีสวัสดิการอื่นๆ เช่น สิทธิประกันสังคม หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น เมื่อลูกจ้างถูกนายจ้างเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ลูกจ้างควรรีบไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน เพื่อจะได้รับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม
สำหรับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นายจ้างมีหน้าที่คำนวณและให้จ่ายรวมทั้งหมดในคราวเดียว ภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่สมาชิกสิ้นสมาชิกภาพ นายจ้างหรือเจ้าหนี้จึงไม่สามารถหักเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของสมาชิก เพื่อชำระหนี้หรือชดใช้ค่าเสียหายได้ และไม่สามารถยึดหน่วงเงินกองทุนไว้ได้ ตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มาตรา 24 กำหนดว่าสิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุนไม่อาจโอนกันได้ และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
ทั้งนี้ ในกรณีที่ลูกจ้างปฏิบัติผิดระเบียบของบริษัทหรือทุจริตทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย นายจ้างต้องใช้สิทธิทางศาลเท่านั้น จะหักหนี้ หักค่าเสียหาย หรือจะใช้สิทธิยึดหน่วงรายได้ เงินชดเชย หรือเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของลูกจ้าง ไม่ได้
เมื่อนายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หรือไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด ลูกจ้างสามารถร้องเรียนไปยังพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเขตพื้นที่ หรือใช้สิทธิทางศาลได้ โดยไม่ต้องใช้ทนายความ และไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
Facebook: ทนายเจมส์ LK