วช. ผนึกกำลังกองทัพบก โชว์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ผ่านศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เพิ่มพลังชุมชน เป็นของขวัญปีใหม่ สุดยอดยกระดับคุณภาพพริกแห้งของไทย สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ...
 
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้พิจารณาองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ให้การสนับสนุนนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการส่งเสริม การพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม โดยการน้อมนำแนวทางพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชาตามนโยบายรัฐ เป็นแนวทางในการบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับกองทัพบก ในฐานะหน่วยงานประสานงานศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อส่งต่อความสุขมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชนและชุมชนในพื้นที่โดยรอบศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ทั้ง 4 ภูมิภาค

ทั้งเพื่อการขยายผลองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและชุมชนโดยรอบ จึงได้ลงนามความร่วมมือระหว่างกองทัพบก และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ นำผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนมาจัดแสดงนิทรรศการ อาทิ การจัดการองค์ความรู้งานวิจัยนมแพะครบวงจร เพื่อการใช้ประโยชน์ในชุมชน และสังคมตามแนวพระราชดำริของชุมชนอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี การยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของพริกแห้งของไทยและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพริก และการจัดการความรู้การผลิตแป้งกล้วยและผลิตภัณฑ์จากกล้วยและแป้งกล้วย และโครงการเส้นใยป่านศรนารายณ์ในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจะเข้าไปเติมเต็มศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในทุกภูมิภาค นำมาสู่การพัฒนาที่ฐานราก เสริมสร้างคุณภาพชีวิต และสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างพอเพียง

...

ด้านผศ.ดร.วราภา มหากาญจนกุล หัวหน้าโครงการการยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของพริกแห้งของไทย  กล่าวว่า แต่เดิมพริกของไทยมักประสบปัญหาเรื่องของเชื้อรา แต่เมื่อนำพริก อาทิ พริกชี้ฟ้าเข้าสู่กระบวนการล้าง อบแห้ง สามารถคงสภาพพริกให้มีอายุการใช้งานได้มากขึ้น ที่สำคัญนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะน้ำพริก ซึ่งปัจจุบันความรู้ดังกล่าวถูกนำมาต่อยอดในหลากหลายชุมชนทั้งจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี ตลอดจนเตรียมพร้อมสู่การส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย โดยพริกถือเป็นหนึ่งเครื่องปรุงที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างกว้างขวาง

ขณะที่ ดร.เกษม มานะรุ่งวิทย์ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พระนคร เจ้าของโครงการเส้นใยป่านศรนารายณ์ในเชิงพาณิชย์ กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นกระบวนการปรับเส้นใยให้มีความนุ่มจากเยื่อจากธรรมชาติของป่านศรนารายณ์ จนกลายเป็นสินค้า อาทิ เครื่องประดับ รองเท้า กระเป๋า หมวกและเข็มขัด โดยระยะแรกพบว่าชาวบ้านใช้สารเคมี แต่เมื่อเข้าไปถ่ายทอดการย้อมสีจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น คราม ทำให้สินค้าดังกล่าวได้รับความสนใจมากขึ้น ปัจจุบันมีการพรีออเดอร์เข้ามาจากหลากหลายกลุ่มลูกค้า ถือเป็นหนึ่งต้นแบบงานจักสานที่ใช้ภูมิปัญญามาเพิ่มมูลค่าและก่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ด้วยงานฝีมือ.