ความตายเป็นสิ่งน่ากลัว แต่จะน่ากลัวน้อยลง ถ้าพร้อมเผชิญกับความตาย ดังนั้นในช่วงท้ายของชีวิต อย่างที่ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ แนะนำคือ เป็นห้วงเวลาสำคัญที่ควรเผชิญความตายอย่างสุขสงบ
กลัวความทุกข์ทรมาน เจ็บปวด กลัวความพลัดพราก สูญเสีย ทั้งความสัมพันธ์ ที่คุ้นเคยและรัก จากสิ่งเคยคุ้นชินไปเจอสิ่งที่ไม่รู้ เคยมีอำนาจควบคุม แต่อาจควบคุมอะไรไม่ได้ในช่วงใกล้ตาย และตายแล้วไม่รู้ไปไหน ความรู้สึกเหล่านี้ เป็นเพียงตัวอย่างสารพัดความกลัวของมนุษย์ ที่บอกเล่าเรื่องความกลัว ความตาย
รู้ว่ากลัว ก็จะกล้าเผชิญความตาย
แม้มนุษย์เราจะกลัวเพียงใด ก็ไม่มีทางเลือก เพราะทุกคนหนีไม่พ้นความตาย แต่ทางเลือกยังพอมี ที่จะเผชิญความตายได้อย่างมีความสุขทั้งแก่ตัวเอง และคนรอบข้าง นี่คือสิ่งที่ตอนยังมีลมหายใจอยู่ ควรรู้
ป้าศรี หรือ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ รองประธานกรรมการ และผู้ก่อตั้ง บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ผู้ที่เจอกับความพลัดพรากมาตั้งแต่เด็ก เพราะคุณแม่จากไปตั้งแต่อายุ 2 ขวบ ทำให้เมื่อป้าศรี โตขึ้นก็สนใจเรื่องความตาย และให้เวลากับการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ เรื่องการเตรียมตัวเพื่อเผชิญความตายอย่างสงบ ทั้งกับผู้ป่วย ผู้ดูแล บุคลากรสาธารณสุข และผู้สนใจทั่วไปมานาน
“ชีวิตกับความตายไปด้วยกัน เพราะมีชีวิตก็มีความตาย เราทุกคนต้องถึงความตาย ไม่ว่าจะเร็ว หรือช้า แต่ถ้าเราทำความเข้าใจให้พร้อมที่จะถึงจุดนั้น ด้วยการยอมรับในความเป็นจริง เพราะเราไม่รู้เลยว่าถึงจุดนั้นจะอยู่สภาพไหน เจ็บปวดไหม แต่ถ้าลูกหลานและแพทย์ดูแลเราดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และยอมรับส่วนที่ทำไม่ได้ ก็ต้องยอมรับความจริง นี่คือสำคัญที่สุด”
...
ป้าศรี กล่าวด้วยว่าสิ่งที่ค้นพบคือ มนุษย์มีความกล้า และมีปัญญา ที่จะรับความเป็นจริงของการสิ้นสุดของชีวิต สิ่งหนึ่งที่ป้าศรีมักจะพูดกับคนที่อยู่กับคนไข้ คืออย่าร้องไห้ หรือยื้อยุด ทำให้เขาต้องเสียความสงบที่เขาจะพบข้างในใจเขา เพราะเชื่อว่าในปัญญาของมนุษย์ เมื่อถึงจุดสุดท้ายจะพบกันโน้ตสุดท้ายของเพลงชีวิตของแต่ละคน แม้จะไม่ใช่หมดทุกคน แต่เชื่อว่าเมื่อถึงจุดสิ้นสุดก็จะมีความกล้าและปัญญาเผชิญกับความจริง
เรื่องควรทำก่อนถึงวาระท้ายของชีวิต
มีเรื่องมากมายที่คนคิดว่าไว้ว่าควรทำก่อนตาย แต่เมื่อถีงเวลานั้นจริงๆ แล้ว อาจมีบางเรื่องที่หากไม่ได้ทำการจากไปอาจเต็มไปด้วยความห่วงและกังวล มีคำแนะนำจากป้าศรี อย่างน้อย 3 เรื่องที่ควรทำในช่วงก่อนถึงวาระท้ายของชีวิต
เรื่องแรกคือ คุณภาพของจิต สำหรับทุกคนแล้ว เรื่องร่างกายก็ดูแลไปให้ดีที่สุด ส่วนเรื่องใจก็ควรเตรียมตัวเตรียมใจ เพื่อให้มีคุณภาพของจิต ซึ่งการเตรียมใจนั้น ในทางพุทธศาสนา มีเรื่องเข้าถึงสัจธรรมของชีวิต ที่ว่าชีวิตแปรเปลี่ยนทุกวินาที เช่น เซลล์ตายตลอดเวลา ทุกอย่างเคลื่อนไป ถ้าเราเข้าถึงสัจธรรมนี้ได้ ก็เป็นการยอมรับไปในตัว เรื่องใจต้องฝึกการเข้าถึงความสงบภายในใจเราเอง ที่ไม่ต้องอิงกับสิ่งอื่นจนเกินไปนัก จริงๆ ก็ต้องอิงบ้าง แต่พร้อมกันนั้นต้องสามารถเข้าถึงความสงบในใจได้
เรื่องที่สอง การทำชีวิตให้มีความหมาย ในช่วงที่ทั้งร่างกายและจิตใจแข็งแรงพอนั้น มีหลายเรื่องที่มนุษย์เราควรทำ ป้าศรียกตัวอย่างเช่น เรื่องการทำชีวิตให้มีความหมาย มีประโยชน์ต่อผู้อื่น และสังคม เพื่อที่ว่าอย่างน้อยเวลาใกล้ตายเราจะรู้สึกว่าชีวิตไม่สูญเปล่า
เรื่องที่สาม เคลียร์เรื่องค้างคา เป็นเรื่องของการเตรียมให้ไม่มีการค้างคา ซึ่งแต่ละคนก็มีเรื่องราวของตัวเอง ที่อาจค้างคา บางคนอาจรออะไรอยู่ เช่น อยากจะขอโทษใคร เป็นห่วงใคร ถ้าเราพิจารณาเรื่องเหล่านี้ ทำเรื่องเหล่านี้ก่อนถึงจุดสุดท้ายของชีวิต ก็จะสุขสงบลงได้
...
ช่วงโน้ตสุดท้ายของชีวิต
สิ่งที่พบเห็นบ่อยครั้ง คือเมื่อมีผู้ป่วยระยะท้าย อาจเกิดความขัดแย้งกันในบ้าน อย่างการทะเลาะกันของบรรดาลูกๆ ในการดูแลรักษา ที่บางฝ่ายอยากยื้อชีวิต ขณะที่บางฝ่ายเลือกอยากดูแบบประคับประคอง โดยที่ไม่รู้เลยว่า ความต้องการของเจ้าของลมหายใจนั้นต้องการอย่างไร คำแนะนำเรื่องนี้ จากป้าศรีคือ รู้ว่าทุกคนในครอบครัวต่างอยากดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุด แต่สุดท้ายแล้วทุกคนควรฟังเจ้าของลมหายใจ ว่าต้องการอย่างไร
“ความเข้าใจของลูกหลาน หรือคู่ชีวิต การเอาใจเราไปใส่ใจเขา เป็นสิ่งสำคัญ เรื่องความรักและความกตัญญูนั้น ลองคิดว่าถ้าเราเป็นคนนอนที่เตียงต้องการอะไร อะไรคือการจบชีวิต และวรรคสุดท้ายในชีวิต ที่เขาจะบอกว่าขอบคุณ อย่าเอาเราเป็นตัวตั้ง เอาเขาเป็นตัวตั้ง นั่นคือสิ่งที่จะทำให้คนที่คุณรัก และให้โน้ตสุดท้ายของเขาไพเราะที่สุดในช่วงท้าย”