สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับสัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มแม่ค้าเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเข้าดำเนินการจับกุมแม่ค้าในตลาด ซึ่งแม่ค้าคนดังกล่าวจำหน่ายสินค้าประเภทชุดชั้นใน แต่ชุดชั้นในไม่มีฉลากสินค้า จึงเกิดการโต้เถียงและกระทบกระทั่งกันขึ้นระหว่างแม่ค้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม แม่ค้าในตลาดหลายคนจึงหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายคลิปเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ และนำไปโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างกว้างขวาง คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจจับกุมแม่ค้าที่จำหน่ายสินค้าไม่มีฉลากได้หรือไม่
คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ามีกฎหมายกำหนดให้สินค้าบางประเภท เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยสินค้าที่ควบคุมฉลากจะต้องปิดฉลากและระบุรายละเอียดลงในฉลากให้ครบถ้วน หากผู้จำหน่ายสินค้าที่ควบคุมฉลาก ผู้ผลิต เพื่อขาย หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อขาย ฝ่าฝืนจะมีความผิด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
สาเหตุที่กฎหมายกำหนดให้สินค้าบางประเภทเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก เนื่องจากกฎหมายมุ่งคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก โดยผู้บริโภคควรที่จะได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือสินค้า เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า รวมถึงสามารถนำรายละเอียดที่ระบุไว้ในฉลากไปเปรียบเทียบกับสินค้ายี่ห้ออื่นได้ด้วย
ทั้งนี้ ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลากจะต้องมีรายละเอียดระบุตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. 2541
...
ข้อ 2 ฉลากของสินค้าที่ควบคุมฉลาก จะต้องระบุ ดังต่อไปนี้
(1) ชื่อประเภท หรือชนิดของสินค้าที่แสดงให้เข้าใจได้ว่าสินค้านั้นคืออะไร ในกรณีที่เป็นสินค้าที่สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายให้ระบุชื่อประเทศที่ผลิตด้วย
(2) ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยของผู้ผลิตเพื่อขายในประเทศไทย
(3) ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยของผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย
(4) สถานที่ตั้งของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือของผู้สั่งหรือผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย แล้วแต่กรณี
(5) ต้องแสดงขนาดหรือมิติ หรือปริมาณ หรือปริมาตร หรือน้ำหนักของสินค้า นั้น แล้วแต่กรณี สำหรับหน่วยที่ใช้จะใช้ชื่อเต็ม หรือชื่อย่อ หรือสัญลักษณ์แทนก็ได้
(6) ต้องแสดงวิธีใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสินค้านั้นใช้เพื่อสิ่งใด เช่น ใช้ทำความสะอาดพื้นไม้ หรือพื้นกระเบื้อง ภาชนะพลาสติก หรือภาชนะดินเผา ภาชนะเคลือบใช้ตั้งบนเตาไฟ ใช้เข้าไมโครเวฟ ใช้เก็บอาหารในตู้เย็น
(7) ข้อแนะนำในการใช้หรือห้ามใช้ เพื่อความถูกต้องในการใช้ที่ให้ประโยชน์แก่ผู้บริโภค เช่น ห้ามใช้ของมีคมกับการแซะน้ำแข็งในตู้เย็น
(8) คำเตือน (ถ้ามี)
(9) วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดอายุการใช้ หรือวันเดือนปีที่ควรใช้ก่อน วันเดือนปีที่ระบุนั้น เพื่อให้เข้าใจในประโยชน์ของคุณภาพหรือคุณสมบัติของสินค้านั้น (ถ้ามี)
(10) ราคา โดยระบุหน่วยเป็นบาท และจะระบุเป็นเงินสกุลอื่นด้วยก็ได้
กรณีผู้จำหน่ายสินค้าที่ควบคุมฉลาก ผู้ผลิต เพื่อขาย หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อขาย ฝ่าฝืนจำหน่ายสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยไม่มีฉลากหรือแสดงฉลากไม่ถูกต้อง จะมีความผิด
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522
มาตรา 52 ผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลากตามมาตรา 30 โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายสินค้าที่มีฉลากที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากสั่งเลิกใช้ตามมาตรา 33 ทั้งนี้ โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สุดท้ายนี้ ขอฝากเป็นอุทาหรณ์ให้กับแม่ค้าและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควรเข้าใจบทบาทหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย ไม่ควรใช้ความรุนแรงหรือใช้คำพูดที่รุนแรง ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการประทะกันได้ง่าย จนอาจจะเกิดความผิดอื่นๆ ติดตามมาด้วยครับ
สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
Facebook: ทนายเจมส์ LK
...