การถกเถียงเรื่องปัญหานักมวยเด็ก หลังจากเกิดโศกนาฏกรรม นักมวยเด็กยากจนจากอีสานถูกน็อกสลบคาเวที และเสียชีวิตในเวลาต่อมา กลายเป็นการเถียงกันคนละเรื่อง ฝ่ายสนับสนุนนักมวยเด็กอ้างว่าไม่เคยมีนักมวยเด็กต้องเสียชีวิต รายของ “น้องเล็ก” เป็นเพียงอุบัติเหตุ ขณะที่ฝ่ายคัดค้านเถียงว่านักมวยเด็ก เสี่ยงจะสมองเสื่อมหรือพิการ

คนในวงการมวยเด็กซึ่งคาดว่ามีถึง 3 แสนคน ดาหน้าออกมาคัดค้านการแก้ไขกฎหมาย โดยอ้างว่ามวยไทยเป็นวัฒนธรรมไทย ต้องฝึกฝนกันตั้งแต่เด็กๆจึงจะเก่งได้ ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลการกีฬา สนับสนุนการแก้ไข พ.ร.บ.มวย 2542 ของ สนช. ขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อพัฒนากีฬามวย และคุ้มครองความปลอดภัยของนักกีฬาโดยเฉพาะเด็ก

ฝ่ายสนับสนุนการแก้ไขกฎหมาย เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้แจงว่าการชกมวยในวัยเด็กเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิต ขัดต่อหลักอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 ที่ห้ามจ้างหรือวานให้เด็กทำงาน หรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อการพัฒนาเด็ก

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการวิจัยกลุ่มเด็กนักมวย 335 คน กับกลุ่มเด็กทั่วไป 252 คน พบว่านักมวยที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี มีเลือดออกในสมอง เซลล์สมองและใยประสาทฉีกขาด สมองไม่สั่งการตามปกติ ความจำลดลง นำไปสู่ภาวะสมองเสื่อม ระดับสติปัญญาหรือไอคิวต่ำกว่าเด็กปกติ อาจเรียนจบแค่ระดับมัธยม

มีข้อมูลระบุว่า ในปัจจุบันมีนักมวยอายุต่ำกว่า 15 ปีมากกว่า 1 แสนคน ชกชิงเงินรางวัลตามงานวัดและเทศกาลต่างๆ บางรายเริ่มต่อยมวยตั้งแต่ 4 ขวบ นักมวย เด็กเหล่านี้โดนชกศีรษะอย่างน้อย 20 หมัด ต่อการชกหนึ่งครั้ง เคยนับได้สูงสุดถึง 40 ครั้งต่อหนึ่งยก ยิ่งเริ่มชกเมื่ออายุน้อยกว่า ชกนานกว่า จำนวนไฟต์มากกว่า ก็ยิ่งมีผลกระทบต่อสมองมากขึ้น

...

พ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ปล่อยให้ลูกชกมวย เท่ากับปล่อยให้ลูกถูกทำร้ายร่างกายโดยชอบด้วยกฎหมาย หรืออาจจะผิดกฎหมายคุ้มครองเด็ก แต่ไม่มีการใช้บังคับกฎหมายอย่างจริงจัง หลายฝ่ายอ้าง “ความยากจน” เด็กต้องชกมวยเพื่อเลี้ยงตนเอง เป็นความจริงที่น่าเศร้าของสังคมไทย แต่ก็ต้องมีกฎหมายและมาตรการที่เข้มงวด ในการปกป้องคุ้มครองเด็ก

มีการโฆษณาชวนเชื่อมาอย่างต่อเนื่องว่า สังคมไทยกำลังก้าวสู่ 4.0 แต่สังคมไทยยังส่งเสริมการใช้และขูดรีดแรงงานเด็ก และปล่อยให้มีการค้าประเวณีเต็มบ้านเต็มเมือง น่าจะดูแบบอย่างประเทศที่พัฒนาเช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เมื่อหลายสิบปีก่อนเคยมีนักมวยดังระดับโลกจำนวนมาก แต่ขณะนี้ไม่มีแล้ว มีแต่นักกีฬาแบดมินตัน วอลเลย์บอล และเทนนิส ที่เก่งระดับโลก.