พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จารึกไว้บนแผ่นหินหน้าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความว่า

“คุณค่าของบัณฑิต ไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้นั้น เก่งหรือพิเศษอย่างไร หากแต่ว่าผู้นั้นทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นเพียงไร”

รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ปณิธานในการสร้างคน เป็นกำลังสำคัญของประเทศ เรายึดมั่นมาโดยตลอด”

นับตั้งแต่ประเทศไทยก้าวสู่ยุคของอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน การขับเคลื่อนประเทศในสมัยนั้น นอกจากเร่งพัฒนาปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจแล้ว ก็ไม่สามารถปฏิเสธความสำคัญของการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรของประเทศในด้านการบริหารธุรกิจ และการวางรากฐานด้านการศึกษาให้กับเยาวชน

เปรียบเสมือนฐานโครงสร้างของบ้านที่มีการลงเสาเข็มอย่างมั่นคงแข็งแรง

80 ปีแล้ว ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สร้างบัณฑิตและมหาบัณฑิต ในสาขาวิชาบริหารธุรกิจ เป็นกำลังสำคัญในด้านการบริหารทั้งในหน่วยงาน ภาครัฐ และองค์กรเอกชน โดยมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงและสร้างคุณประโยชน์มากมาย

ด้วยวิสัยทัศน์ในการก้าวสู่การเป็น “ต้นแบบของสถาบันการศึกษาและวิจัยด้านบริหารธุรกิจที่ดีที่สุดของประเทศไทย (Thailand’s Best Business School Model)

พร้อมทั้งการยกระดับในการสร้างมาตรฐานด้านการศึกษาให้เท่าเทียมกับสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจในระดับนานาชาติ การยื่นขอรับรองมาตรฐานการศึกษา จึงเปรียบเสมือนการการันตีคุณภาพของคณะฯ

ปี 2012 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยื่นขอรับรองมาตรฐานหลักสูตรและผ่านการตรวจประเมินการรับรองมาตรฐานการศึกษาในระดับสากลจาก EQUIS (EFMD Quality Improvement System) เป็นครั้งแรก

...

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี EQUIS เป็นองค์กรอันทรงเกียรติในด้านการบริหารธุรกิจจากสหภาพยุโรปที่ทั่วโลกให้การยอมรับ มีกฎเกณฑ์กติกาในการรับรองมาตรฐานที่เข้มงวด

ตัวอย่างเช่น สถาบันต้องมี Corporate Connection หรือการเชื่อมโยงกับองค์กรและบริษัทด้านธุรกิจ มีการเรียนการสอนที่ปลูกฝังจิตสำนึกเพื่อสังคม ตอบสนองต่อโลกและสิ่งแวดล้อมให้กับนักศึกษา มีความเป็นนานาชาติในทุกมิติ ตั้งแต่เรื่องของหลักสูตรการสอน องค์ความรู้ คณาจารย์ และนักศึกษา เป็นต้น

ทั้งนี้ การรับรองมาตรฐานการศึกษาดังกล่าวไม่ใช่ได้เพียงครั้งแรกและคงอยู่ตลอดไป แต่จะมีการตรวจประเมินทุก 3 ปี โดยคณะฯผ่านการตรวจประเมินและได้รับการรับรองอย่างต่อเนื่องในปี 2015

ต่อมาปี 2017 คณะฯได้ผ่านการรับรองมาตรฐานการศึกษาจาก AACSB (Association to Advance Collegiate Schools of Business) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในด้านการเป็นสถาบันวิชาการด้านการบริหารระดับสูง ซึ่งเกณฑ์ของ AACSB จะเน้นในด้านหลักสูตรวิชาการ คณะอาจารย์ต้องมีผลงานตีพิมพ์ มีความเข้มงวดในการคัดเลือกอาจารย์และนักศึกษา ฯลฯ

ล่าสุดในปีนี้ หลักสูตร MBA ของคณะฯ ที่ยื่นขอรับรองมาตรฐานได้ผ่านการตรวจรับรองคุณภาพระดับมาตรฐานในระดับสากลจาก AMBA (Association of MBAs) สหราชอาณาจักร เป็นที่เรียบร้อย

ส่งผลให้ Thammasat Business School (TBS) เป็นสถาบันการศึกษาที่บรรลุสถานะ 3 มงกุฎ นับเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย

สถานะ 3 มงกุฎ หรือ Triple Crown หมายถึง สถาบันการศึกษาที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการศึกษาระดับนานาชาติอย่างครบถ้วนจาก 3 สถาบันหลักด้านการบริหารธุรกิจของโลกคือ AACSB (Association to Advance Collegiate Schools of Business) จากสหรัฐอเมริกา EQUIS (EFMD Quality Improvement System) จากสหภาพยุโรป และ AMBA (Association of MBAs) จากสหราชอาณาจักร

ด้วยเกณฑ์การประเมินที่แตกต่างกัน และมีกติกาที่เข้มงวดอย่างยิ่ง

จากสถิติ มีมหาวิทยาลัยจำนวนน้อยกว่า 1% ของมหาวิทยาลัยในโลกนี้ที่ได้รับการรับรอง ซึ่งสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจำนวน 13,670 แห่งทั่วโลก มีเพียง 90 แห่งเท่านั้น ที่ผ่านการรับรองครบทั้ง 3 มาตรฐาน

รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพบอกว่า ความแตกต่างของทั้ง 3 การรับรอง คือ AACSB จะประเมินโดยเน้นในเรื่องของหลักสูตร เรียกได้ว่าลงลึกในทุกรายละเอียดของหลักสูตรการเรียนการสอน ขณะที่ EQUIS ประเมินภาพรวมและเน้นย้ำในเรื่องของเครือข่าย

แต่ AMBA จะตรวจประเมินหลักสูตร MBA ซึ่งองค์ประกอบของหลักสูตรจะมีความแตกต่างจากระดับปริญญาตรีโดยสิ้นเชิง เพราะการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนนักศึกษาก้าวสู่โลกของการทำงาน

ในขณะที่ MBA มุ่งเน้นไปในเรื่องของการทำให้ผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานมาแล้ว มีการสร้างทักษะ เพิ่มพูนความสามารถที่จำเป็นเพื่อยกระดับสถานะในวิชาชีพนั้นๆ เกณฑ์การประเมินของ AMBA จึงเน้นย้ำในด้าน Host Graduated Experience

...

การที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการรับรองทั้งหมดนี้ มีความหมายต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาด้านบริหารธุรกิจของไทย และส่งผลต่อนักศึกษาในหลายด้าน

“สิ่งที่ตามมาจากการได้รับรองสถานะในระดับ Triple Crown คือการสร้างชื่อเสียงของสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากประเทศไทย ให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ”

และในวันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งถือเป็นวันครบรอบการก่อตั้งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะผู้บริหาร อาจารย์ และนักศึกษาได้ร่วมกันจัดงาน “เอื้องฟ้า 80 ปี” เชิญชวนศิษย์เก่ามาร่วมพบปะรุ่นพี่-รุ่นน้อง และคณาจารย์ ร่วมฉลองให้กับความสำเร็จ

สำหรับนักเรียนนักศึกษา นี่คือสิ่งที่จะรับรองว่า ดีกรีนี้เป็นที่รู้จักแน่นอน ไม่ว่าจะไปทำงานที่ไหนในโลก พวกเขาเหล่านี้จะผ่านการศึกษาด้านบริหารธุรกิจที่มีมาตรฐานระดับสากล เทียบเท่ากับสถาบันชั้นนำอื่นๆ

ขณะเดียวกัน บริษัทหรือองค์กรก็จะสามารถมั่นใจได้ว่า บัณฑิตที่จบจากคณะฯ มีคุณภาพ มีทักษะที่จำเป็น สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการขององค์กรได้

...

Triple Crown Accreditation ยังมีความหมายรวมไปถึงดีกรีด้านธุรกิจของบัณฑิตจะเป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าต้องการทำงานที่ไหนในโลก

การเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันที่มีการรับรองเหล่านี้จะเปิดประตูไปสู่ความร่วมมือและโอกาสทางด้านอาชีพในระดับสากลกับ Business School ชั้นนำจากทั่วโลก

นอกจากนี้ การได้รับการรับรองจากทั้ง 3 สถาบัน ส่งผลให้ก้าวไปสู่เครือข่ายคณะบริหารธุรกิจชั้นนำ ที่ถือเป็นพิเศษระดับโลกในด้านการบริหารธุรกิจอย่าง PIM (Partnership in International Management) โดยปกติแต่ละประเทศจะมีมหาวิทยาลัยเป็นสมาชิกได้เพียง 1-2 แห่งเท่านั้น

“เราเป็นสถาบันแรกจากประเทศไทย ที่เข้าไปอยู่ในเครือข่าย PIM เป็น 1 ใน 65 มหาวิทยาลัย จากสมาชิกเพียง 32 ประเทศทั่วโลก”

รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพบอกว่า เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่ายินดี ที่เราได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม PIM นับเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทย และอาจเป็นการประชุมที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของ PIM โดยจัดประชุมดังกล่าว กำหนดไว้ในช่วงวันที่ 23-25 ตุลาคม 2562

...

Triple Crown Accreditation และ PIM จะสร้างเครือข่าย สร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางการศึกษาให้เกิดขึ้นมากมายในอนาคต เป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม.ฟ