โครงการ “สวัสดิการแห่งรัฐ” ...เป็นอีกหนึ่ง โครงการสำคัญที่ “รัฐบาล” ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย ด้วยการออก “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย
น่าสนใจว่าวันนี้...มีผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนแล้วกว่า 11.4 ล้านคน และในแต่ละเดือนรัฐบาลให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆผ่านบัตรที่ว่านี้ สามารถส่งตรงไปยังผู้ที่ขาดโอกาสทางสังคมอย่างแท้จริง
กลไกสำคัญมีว่า...การให้ “วงเงิน” เพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งภาครัฐยังคงเดินหน้าขยายร้านค้าธงฟ้าฯอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ รองรับการใช้งานของผู้ถือบัตรอย่างทั่วถึง
การขยายร้านธงฟ้าฯ ธนาคารกรุงไทยในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภาครัฐให้บรรลุเป้าหมาย ธนาคารจะติดตั้งเครื่องรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกชื่อย่อว่า “EDC” ให้กับร้านค้าธงฟ้าฯ เพื่อใช้ในการรับชำระค่าสินค้าของผู้ถือบัตร
อาศัยเครือข่ายสาขาที่มีอยู่ทั่วประเทศ เป็นแขนขาในการติดตั้ง ไม่ว่าจะเป็นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอในถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล หรือต้องขึ้นเขาขึ้นดอย...
...
ถึงวันนี้ติดตั้งไปแล้วเกือบ 40,000 ร้านค้า ทว่า...ก็ยังไม่พอในการตอบโจทย์ ธนาคารกรุงไทยจึงอาศัยความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมบวกกับความรู้ทางการเงิน พัฒนาแอปพลิเคชัน “ถุงเงินประชารัฐ” ขึ้นมา เพื่อติดตั้งให้กับร้านค้าแผงลอย ร้านค้าในตลาดสด นับรวมไปถึงรถเร่ขายของ...ที่เป็นร้านค้าธงฟ้าฯ
เพื่อใช้ในการรับชำระเงินค่าสินค้า...ซื้อๆขายๆ ช็อปปิ้งได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
“ถุงเงินประชารัฐ” แอปนี้ถือว่าไม่ธรรมดา ด้วยเป็นตัวช่วยสำคัญทำให้การขยายร้านค้าธงฟ้าฯเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น เพียง 1 เดือน ธนาคารก็สามารถติดตั้งไปแล้วกว่า 10,000 ร้านค้า ...มีเป้าหมายขยายให้ถึง 100,000 ร้านค้าในเร็ววันนี้
ประกาศๆให้รู้กันโดยทั่วสำหรับ “ร้านค้า” ที่ต้องการเป็น “ร้านค้าธงฟ้าฯ” แบบใช้แอปถุงเงินประชารัฐ เพียงลงทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ร้านค้าที่ผ่านเกณฑ์จะได้รับเอสเอ็มเอส (SMS) จากธนาคารกรุงไทย นำหนังสือรับรองที่กระทรวงพาณิชย์ออกให้มาสมัครใช้บริการได้ที่สาขากว่า 1,100 แห่ง
ส่วนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ชำระเงินผ่านแอปถุงเงินประชารัฐ...เพียงเปลี่ยนเลข 6 หลักที่เครื่องเอทีเอ็ม (ATM) หรือเอดีเอ็ม (ADM) หรือที่สาขาธนาคารกรุงไทยเท่านั้น
ลงพื้นที่สำรวจกันจริงๆ การใช้งานแอปถุงเงินประชารัฐร้านรวงต่างๆสะดวกสบายจ่ายคล่องปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน สุ่มสำรวจกัน
ไปที่ย่านจังหวัด “นนทบุรี” และ “สมุทรปราการ” ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด หรืออย่างที่เคยกลัวกันไว้ในตอนแรก บางเสียงก็ว่า...แรกๆอาจจะไม่เคยชินสักเท่าไหร่ แต่พอได้ลองทำก็สามารถใช้งานได้คล่องมากขึ้น ที่สำคัญ...รู้สึกได้ถึงความสะดวกชัดเจน
การชำระเงินเพียงสแกนหน้าบัตรของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กรอกราคาสินค้า และยืนยันด้วยตัวเลข 6 หลัก การชำระเงินก็เสร็จเรียบร้อย งานนี้เรียกได้ว่าทุกฟากฝั่งทั้ง “ร้านค้าธงฟ้าฯ” ที่ใช้แอป “ถุงเงินประชารัฐ” และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐดูจะลงตัวกันพอดิบพอดี
วินวินด้วยกันทั้งสองฝ่าย
นิปภาพร เทพา เจ้าของร้านเทพา ย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี บอกว่า เธอมีร้านขายของชำอยู่ก่อนแล้ว แต่มีเพื่อนมาบอกให้เปิดร้านที่ตลาดดวงแก้วเพราะอยู่ในทำเลที่ดีกว่าและเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่
เมื่อเปิดร้านแล้วก็สมัครเป็นร้านค้าธงฟ้าฯเลย เพราะญาติที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแนะนำ ซึ่งร้านของนิปภาพรเป็นร้านแรกในจังหวัดนนทบุรีที่ใช้แอปถุงเงินประชารัฐ เริ่มใช้มาตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
...
“ปกติมียอดขายวันละสอง...สามพันบาท แต่พอเป็นร้านธงฟ้าฯยอดขายเพิ่มเป็นหก...เจ็ดพันบาท เพราะในย่านนี้มีคนถือบัตรเยอะมา ที่ร้านก็ง่าย สะดวก บางทีลูกค้าก็นั่งวินมอเตอร์ไซค์มาจากที่อื่น
ลูกค้าไม่ได้ซื้อหมดวงเงิน ส่วนมากทยอยซื้อ เช่น ซื้อนมกล่อง 10 บาท...ซื้อไข่ 30 บาท การใช้แอปก็ไม่ยาก ใช้ไอแพดสแกนบัตรของลูกค้าซึ่งจะเห็นยอดเงินและบอกลูกค้าว่ามีเงินเหลือเท่าไหร่ที่จะซื้อของได้”
รายต่อมาเป็นรถเร่ ฉวีวรรณ ขำอ่อน เจ้าของรถเร่...“ทองดำค้าข้าว” เล่าให้ฟังว่า ปกติขายข้าวสาร อาหารแห้ง รวมทั้งผักดองและของสดในย่านประชาอุทิศ พระสมุทรเจดีย์และพระประแดง ที่ตัดสินใจสมัครเป็นร้านค้าธงฟ้าฯเพราะลูกค้าหายไป โดยไปซื้อของ เช่น ข้าวสารจากร้านค้าธงฟ้าฯในเมือง
และ...มีลูกค้าที่ถือบัตรมาถามหาอยากใช้บริการ ซึ่งเป็นรถเร่ จึงติด ECD ไม่ได้ แอปถุงเงินประชารัฐจึงเหมาะมากกว่า...“ครั้งแรกที่
ใช้งานแอปรู้สึกไม่ชิน เลยโทร.ไปถามแบงก์กรุงไทย เจ้าหน้าที่ก็แนะนำและอธิบายวิธีใช้ เลยกลับมาลองใช้ดูอีกครั้ง ตอนนี้ใช้คล่องแล้ว มือถือที่ใช้ไม่ได้แพงอะไร แค่ถ่ายรูปได้ชัดก็พอ”
ฉวีวรรณ บอกว่า ตอนนี้ลูกค้าเดิมเริ่มกลับมาซื้อของเยอะขึ้นและบอกว่า...จ่ายง่าย สะดวกดี และช่วงหลังก็มีลูกค้าใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น...แล้วก็มาถึงรายสุดท้าย กอบกุล เกตเกษา เจ้าของร้านกอบกุล ย่านพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ บอกว่า เปิดร้านขายของมานานกว่า 12 ปี สมัครเข้าร่วมโครงการธงฟ้าฯและใช้แอปถุงเงินประชารัฐเป็นร้านแรกในจังหวัดสมุทรปราการ ปัจจุบันใช้มาแล้ว 2 เดือน
...
...มีลูกค้าผู้ถือบัตรฯมาซื้อของในร้านประมาณ 50 คน ส่วนใหญ่ซื้อสินค้าที่ใช้ทุกวัน เช่น ผงซักฟอก สบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน โดยเฉพาะตอนต้นเดือน คนจะเยอะเป็นพิเศษ
“ใช้แอปมีข้อดีตรงที่ไม่ต้องมีเครื่องรูดบัตร เพียงมีโทรศัพท์เครื่องเดียวก็สามารถสแกนบัตรและจ่ายเงินได้เลย ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับลูกค้า ถ้าลูกค้ายังไม่ได้เปลี่ยนเลข 6 หลักจะจ่ายเงินไม่ได้ ด้วยความที่ตัวเองใช้มือถือโอนเงิน จ่ายเงินเป็นประจำอยู่แล้ว จึงแนะนำลูกค้าได้...หรือถ้าใครทำไม่เป็นก็จะพาไปเปลี่ยนที่ตู้เอทีเอ็ม (ATM) ธนาคารกรุงไทยที่หน้าปากซอย และบอกให้จำเลขให้ได้ วันหลังจะได้ใช้เลขนี้มาซื้อสินค้า”
ปิดท้ายกันจริงๆกับตัวจริงเสียงจริง “ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” คนแรกอาศัยอยู่ย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เยาวภา กำมะหยี่ บอกว่า ตอนนี้สามารถไปซื้อสินค้าในร้านค้าธงฟ้าฯได้หลายที่มากขึ้นและยังจ่ายผ่านแอปถุงเงินได้อีกทาง สะดวกกว่าเดิมมาก เพียงไปเปลี่ยนเลข 6 หลักมาก่อน วิธีเปลี่ยนเลขไม่ยากเลยแค่ไปที่ตู้เอทีเอ็มกรุงไทย สอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้าไปแล้วใส่เลข 6 ตัวสุดท้ายของบัตรประชาชน...
จากนั้นกดเลข 6 ตัวที่คิดขึ้นเอง แค่นี้ก็เรียบร้อย และเยาวภาก็ยังชวนเพื่อนๆไปเปลี่ยนที่ตู้เอทีเอ็มด้วย ถ้าใครมองไม่ค่อยเห็นจะแนะนำอยู่ข้างๆหรือให้พนักงานสาขามาช่วย
มุมมองอีกรายเป็นของ ญาณิตา ติณะน้อย ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ย่านประชาอุทิศ เขตทุ่งครุ เธอบอกว่าเพิ่งได้บัตรฯมาไม่นานแล้วมีโอกาสได้ซื้อสินค้าผ่านแอปถุงเงินประชารัฐที่ร้านรถเร่ในย่านประชาอุทิศ
ไม่เคยรู้มาก่อนว่ารถเร่ในหมู่บ้านจะมีแอปให้ลูกค้าจ่ายเงินได้ พอดีเจ้าของรถเร่แนะนำให้ใช้เลยลองซื้อดู
“วันนี้ซื้อไป 50 บาท เดี๋ยวอาทิตย์หน้าจะมาซื้ออีก”
...
แอป “ถุงเงินประชารัฐ” ไม่เพียงช่วยให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้รับความสะดวกสบายในการจับจ่ายซื้อสินค้ามากขึ้น แต่ยังช่วยให้ประชาชนฐานรากของประเทศได้คุ้นชินกับวิถีชีวิตที่ไม่ต้องพกพาเงินสด
“สังคมไร้เงินสด” จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0”.