ว่ากันว่า หนึ่งในประเทศที่ออกจะพิสดาร หรือไม่ยอมรับความจริง ในเรื่องการใช้ไฟฟ้าและราคาค่าไฟ คือประเทศไทย นั่นคือ ต้องการใช้ไฟฟ้าในราคาตีตั๋วเด็ก แต่ต่อต้านที่จะสร้างโรงไฟฟ้าทุกประเภท ซึ่งใช้พลังงานราคาถูกมาปั่นไฟ ไม่ว่าพลังงานนิวเคลียร์ น้ำจากเขื่อน หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน
วันก่อน พล.อ.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ รองประธานคณะกรรมาธิการ การพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งยังคงกุมขมับ ขบปัญหาข้างต้นไม่แตก ไปพูดที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ บอกว่า
“ทุกวันนี้ทั่วเมืองไทยมีผู้ที่ใช้ไฟฟรีมากถึง 4.4 ล้านคน เรากำลังหาทางทำให้ส่วนหนึ่งของผู้ที่ใช้ไฟฟรีเหล่านี้ ซึ่งพอจะมีความสามารถจ่ายค่าไฟได้บ้าง ลดจำนวนลงไป 1.4 ล้านราย แต่นั่นก็ยังเหลือผู้ที่ใช้ไฟฟรี (ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้) อีกถึง 3 ล้านราย”
เขาบอกว่า นอร์เวย์ เป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่กำลังเลิกใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมัน ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวก่อมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม โดยเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมากแทน สาเหตุที่นอร์เวย์ทำแบบนี้ได้ เพราะเขาเป็นประเทศที่มีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าราคาถูกจากพลังน้ำ
...
ขณะที่ เยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่ขายเทคโนโลยีซึ่งใช้ ผลิตพลังงานหมุนเวียน (พลังงานจากแหล่งที่สามารถนำมาใช้โดยไม่มีวันหมด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม ) ให้กับไทย และอีกหลายประเทศ แต่ก็ยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หลายโรง และมีโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินอีกนับร้อยโรง
เปรียบเทียบระหว่างราคาค่าไฟของโรงไฟฟ้าแต่ละประเภท โรงไฟฟ้าพลังน้ำ มีต้นทุนต่ำสุดอยู่ที่ 1.86 หน่วย ตามด้วยการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินนำเข้า (ราคา ณ เดือน ก.พ.2560) อยู่ที่ 1.92 หน่วย ก๊าซธรรมชาติ (จากอ่าวไทย) 1.93 หน่วย จาก พลังงานชีวภาพ 3.76 หน่วย พลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ 4.12 หน่วย พลังงานชีวมวล 4.82 หน่วย พลังงานงานจากขยะ 5.82 หน่วย และ พลังงานลม อยู่ที่ 6.06 หน่วย
แม้ทุกประเทศต้องการให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานในประเทศของตน แต่ประเทศส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถเลิกใช้พลังงานจากฟอสซิล อย่างน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินได้อย่างเด็ดขาด
พล.อ.อ.อดิศักดิ์บอกว่า แม้การผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ถูกต่อต้านในหลายประเทศ แต่ทุกวันนี้ด้วยเทคโนโลยีที่รุดหน้า สามารถนำถ่านหินมาจัดการให้เป็นพลังงานที่สะอาดมากขึ้น หรือมีมลภาวะลดลงได้ในหลายรูปแบบ
ยกตัวอย่าง ล่าสุด ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกถ่านหินคุณภาพดีให้หลายประเทศนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า สามารถนำคาร์บอนที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินมาอัดเป็นแท่งแล้วฝังกลับลงใต้ดิน
แคนาดา ล่าสุดใช้เทคโนโลยีนำเอาแมกนีเซียมปริมาณ 1 ตัน มาดูดซึมคาร์บอน ½ ตันได้สำเร็จ โดยใช้โพลีสไตรินเป็นสารเร่ง ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เป็นต้น
หลายคนโต้แย้งว่า ถ้าไม่เอาถ่านหิน แต่เปลี่ยนมาใช้วิธีซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านแทนล่ะจะได้หรือไม่...
...
พล.อ.อ. อดิศักดิ์บอกว่า การซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเช่น จาก สปป.ลาว เมียนมาและมาเลเซีย ทุกวันนี้ไทยเราก็ทำอยู่แล้ว แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านพลังงานอยู่ไม่น้อย
กล่าวคือ เราจะตั้งหน้าตั้งตาหวังพึ่งพิงให้เพื่อนบ้านเหล่านี้เป็นแบตเตอรี่ให้เราตลอดไปนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ไม่ต้องอะไรมาก แค่ไฟฟ้าในลาว หรือพม่า ไม่สามารถส่งข้ามมายังฝั่งไทยได้ จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม เช่น ปิดเพื่อซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า หรือท่อส่งก๊าซ...แค่นี้ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟในบ้านเราจนปั่นป่วนแล้ว
พล.อ.อ.อดิศักดิ์บอกว่า ขืนปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ลองคิดดูจะมีใครอยากเข้ามาลงทุน หรือท่องเที่ยวที่ประเทศไทย เพราะทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่พัก โรงแรม สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย รวมทั้ง ภาคการลงทุน และอุตสาหกรรม ล้วนต้องใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น ถ้าไฟฟ้าบ้านเราติดๆดับๆ ไร้เสถียรภาพ ทุกอย่างก็จะพลอยเสียหายตามไปด้วย
พล.อ.อ.อดิศักดิ์บอกว่า ฉะนั้นก่อนที่คนไทยจะตัดสินใจเลือกโรงไฟฟ้าประเภทใด มีอยู่ 3 ปัจจัยสำคัญ ที่ต้องคำนึงถึงเป็นหลักเสมอ นั่นคือ ความมั่นคงด้านพลังงาน ปริมาณสำรองกระแสไฟฟ้า และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
...
ตามแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือพีดีพีฉบับใหม่ (พีดีพี 2018) ซึ่งเริ่มมีการเน้นความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น โดยมุ่งเน้นพัฒนาโรงไฟฟ้า 3 รูปแบบ คือ 1.โรงไฟฟ้าเพื่อการแข่งขัน 2.โรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง และ 3.โรงไฟฟ้าที่ช่วยเสริมทางด้านเศรษฐกิจ
โดย PDP ฉบับใหม่ ตามนโยบายกระทรวงพลังงาน มุ่งเน้นสร้างพลังงานเป็นรายภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 8 ภาค เพราะเห็นว่า แต่ละภาคมีข้อจำกัดและประสิทธิภาพที่ต่างกันไป
การจัดทำแผน PDP แบบเน้นเป็นรายภาค เชื่อว่านอกจากช่วยแก้ปัญหาการสร้างพลังงานกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งมากเกินไป ยังช่วยให้การวางแผนและพัฒนาตรงตามวัตถุประสงค์มากขึ้น
ยกตัวอย่าง ภาคอีสานยังคงพึ่งพาไฟฟ้าจากภาคเหนือ และ สปป.ลาวได้ ต่างจากภาคใต้ที่พึ่งพาไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย ได้เพียง 300 เมกะวัตต์เท่านั้น เป็นต้น
ส่วนกรณีโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง นอกจากจะประกอบด้วย ความมั่นคงที่ต้องตอบโจทย์เป็นรายภูมิภาค ยังต้องมีการบริหารจัดการที่รองรับการผลิตรูปแบบใหม่ คือ การใช้พลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้า ดังนั้น ในการจัดทำแผนจึงต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงระบบสายส่งเข้ากับภูมิภาคด้วย
...
ส่วนในแง่ความมั่นคงของสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้านั้น ควรจะมีมากกว่า 50% หรือไม่ ตามแผนพีดีพี 2018 ยังต้องหารือความชัดเจนกันอีกครั้ง
เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่า กิจการที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานควรให้รัฐถือครองได้ 50% แต่ถ้ามองแบบกิจการทั่วไป ถือว่ารัฐไม่ควรแข่งขันกับเอกชน แต่ไฟฟ้าเป็นเรื่องที่จะต้องมาตีความกันอีกที
ขณะที่ วัฒนพงษ์ คุโรวาท รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานบอกว่า พีดีพี (PDP) ก็คือแม่บทในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว 20 ปีนั่นเอง
สำหรับประเทศไทยถ้าบอกว่า ตามแผนพีดีพี 2018 ต้องปรับสัดส่วนการนำก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้า ลดลงจากเดิมที่เคยใช้กันมากถึงร้อยละ 70 ให้ลดลงอีกร้อยละ 37 แล้วไปเพิ่มเชื้อเพลิงทางเลือกตัวอื่น เช่น ใช้ถ่านหินนำเข้าจากอินโดนีเซีย และออสเตรเลียมาผลิตไฟฟ้า และซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านแทน
“ถ้าดูจากกำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยที่จ่ายไฟเข้าระบบในปี 2561 ซึ่งตามแผนพีดีพี 2015 เดิมกำหนดไว้ว่า จะต้องมีการจ่ายไฟเข้าระบบ 2,147 เมกะวัตต์ แต่จนถึง ณ สิ้นเดือน มิ.ย.2561 มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่จ่ายไฟเข้าระบบจริงได้เพียงแค่ 722 เมกะวัตต์เท่านั้น”
“ฉะนั้น สิ่งที่อยากฝากไว้ให้ช่วยกันคิด ก็คือ เรื่องพลังงาน นอกจากต้องสะท้อนต้นทุนที่เหมาะสมมากกว่าเน้นที่ความถูก หรือแพงของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ยังท้าทายอย่างยิ่ง ที่ สนช. หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต้องสร้างความเข้าใจ และทำให้เกิดการยอมรับจากฝ่ายที่ต่อต้านให้ได้”.