กรมชลฯ ย้ำสร้างเขื่อน-อ่างเก็บน้ำใช้ทุนมหาศาล ต้องควบคู่พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ปลื้มโครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ชาวบ้านรายได้เพิ่ม ซื้อเมล็ดพันธุ์น้อยลง หลังลุยแปลงทดลองเพาะ-เก็บเมล็ด...

นายมหิทธิ์ วงศ์ษา นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ (ส่วนสิ่งแวดล้อม) สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า การสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ ก่อนจะเริ่มสร้างต้องมีการศึกษา มีการวางแผนด้านการเกษตรอย่างเป็นระบบ ทั้งเรื่องลักษณะดินว่าเหมาะสมต่อการปลูกพืชชนิดใด และเกษตรกรปลูกพืชพันธุ์ใด เนื่องจากการสร้างอ่างเก็บน้ำต้องลงทุนมหาศาล บางโครงการมากถึงหลายพันล้าน หากเกษตรกรยังลืมตาอ้าปากไม่ได้ ยังมีคุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้น ถือว่ากรมชลประทานขาดทุน ดังนั้นเมื่อมีอ่างเก็บน้ำแล้วเกษตรกรต้องปลูกผลผลิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม มีความเป็นอยู่ดีขึ้น หากประสบผลสำเร็จจะส่งผลดีในหลายเรื่อง

ทั้งนี้ ในการประเมินครั้งล่าสุดในโครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก พบว่าในแง่สังคม ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เรื่องการเกษตรที่เคยมีปัญหาการเผาตอซัง ปัจจุบันเกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ใช้สารเคมีน้อยลง แม้แต่เมล็ดพันธุ์ที่ต้องซื้อก็ลดลง โดยกรมชลประทานได้ไปทำแปลงทดลองเพื่อเพาะและเก็บเมล็ดพันธุ์ เบื้องต้น พบว่ามีความคุ้มทุนค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาการเกษตรจากต้นน้ำ ซึ่งเดินหน้าเต็มกำลัง ทำให้วันนี้เกษตรกรรมที่เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตและปากท้องคนมากมายได้มีอนาคตสดใส และลืมตาอ้าปากได้ตามวัตถุประสงค์.