ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ตำรวจเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่ช่วงที่ผ่านมา การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจมีปัญหาหลายครั้ง...หลายคดี...

ทั้งบกพร่อง บิดเบือนพยานหลักฐาน ทำให้การพิจารณาของอัยการผิดเพี้ยนไปสู่ดุลพินิจที่คลาดเคลื่อน!

ปัจจุบันมีแนวคิดปฏิรูปตำรวจ แตกวงไปถึงการยกร่าง พ.ร.บ.การสอบสวน ให้อัยการเข้าร่วมสอบสวนมากขึ้น ต้องยอมรับว่าเป็นของใหม่ อยู่ระหว่างวัดกำลัง ต้องดูว่ามันจะผ่านหรือไม่?

ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ ในฐานะครูกฎหมายหลายสถาบัน และเคยเป็นอาจารย์พิเศษนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) ให้ความเห็นว่า...

“ประเทศไทยแยกการทำงานพนักงานสอบสวนกับการสั่งคดีของพนักงานอัยการออกจากกันมานานแล้ว แต่เท่าที่ผ่านมาพบว่า มีปัญหาในทางปฏิบัติ ในการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนอยู่เนืองๆ เช่น การสอบสวนไม่ครบถ้วน จนถูกอัยการย้อนสำนวนให้สอบเพิ่ม”

บางกรณีผู้ต้องหาให้การอ้างพยานเพื่อให้พนักงานสอบสวนสอบพยานฝ่ายตนกลับถูกตัดออก จนไม่ปรากฏในสำนวนสอบสวน...

บางกรณีร้องว่าถูกข่มขู่ ถูกบังคับ ถูกซ้อมระหว่างการสอบสวน ฯลฯ

ดังนั้น...กระแสเรียกร้องให้พนักงานอัยการเข้ามามีบทบาทร่วมสอบสวนจึงได้รับการตอบรับมากขึ้น?!?

ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า พนักงานอัยการอาจยังไม่มีอัตรากำลังเพียงพอ การร่วมสอบสวนบางคดี เช่น คดีที่มีอัตราโทษจำคุกเกิน 10 ปีขึ้นไป หรือคดีที่สำคัญๆในเบื้องต้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทั้งพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนน่าจะรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย

มิใช่เพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง...แต่เพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองในกระบวนการสอบสวน เพื่อให้ได้ความจริงและความครบถ้วนของการสอบสวนมากขึ้น...

ประเด็นเรื่องการถ่วงดุล หรือความรวดเร็วในการสอบสวนคงไม่ใช่ข้ออ้างไม่ให้พนักงานอัยการร่วมสอบสวน เพราะจุดประสงค์หลักของกระบวนการยุติธรรมคือ ทำให้ประชาชนทุกคนได้รับความยุติธรรมอย่างเต็มที่

...

ความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ จะเป็นบทพิสูจน์สำคัญของพนักงานอัยการว่า จะสามารถทำได้ดังที่ประชาชนตั้งความหวังหรือไม่?

สุดท้ายสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกประการหนึ่ง เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนคือ การให้ทนายความร่วมฟังการสอบสวนได้ เพื่อความโปร่งใสของกระบวนการสอบสวน?

สหบาท