สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ประมาณการให้เห็นถึงสถานการณ์วิกฤติแบบคร่าวๆว่า ปัจจุบันคนไทยป่วย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับไต ไม่น้อยกว่า 8 ล้านคน!!!
เฉพาะในปี 2558 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องปลูกถ่ายไต ล้างไตทางช่องท้อง หรือฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำนวน 18,963 คน นอกจากนี้มีผู้ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง ที่ต้องทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ล้างไตทางช่องท้อง หรือฟอกเลือดทำไตเทียมอีก รวมทั้งสิ้น 97,570 คน
เมื่อนำค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดทำไตเทียม ประมาณ 200,000 บาท ต่อคน ต่อปี...คูณเข้าไปเป็นเงินเท่าไร ใครมีเครื่องคิดเลขลองจิ้มดู
“ไต” เป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญยิ่งของระบบทางเดินปัสสาวะคนเรา มีหน้าที่ กรองของเสีย น้ำ และ เกลือแร่ส่วนเกิน ออกจากร่างกายทางเลือดที่ไหลผ่าน เพื่อไปสร้างน้ำปัสสาวะ
ภารกิจของไตยังมีหน้าที่รักษาความปกติของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย สร้างสารที่ใช้ควบคุมความดันโลหิต และสารที่ช่วยกระตุ้นเม็ดเลือดแดง
เรื่องของเรื่องก็คือ “ไต” ที่เสียหายไปแล้ว...ไม่สามารถกลับฟื้นคืนสภาพได้อีก
...
บางคนรู้แล้ว แต่หลายคนยังไม่รู้ว่าเหล่านี้คือสัญญาณการมาเยือน ของโรคไตในเบื้องต้น
1.) อาการปวดหลัง ปวดบั้นเอว เมื่อ “ไต” เกิดความผิดปกติ เราจะรู้สึกปวดหลัง หรือบั้นเอวแถวๆชายโครง บางรายอาจปวดร้าวลงไปถึงท้องน้อย หัวเหน่า หรืออวัยวะเพศด้วย
ยิ่งถ้ามีอาการอุดตันที่ท่อไต หรือกรวยไตอักเสบ อาจจะมีอาการปวดเข้าไปถึงใน กระดูก และ ข้อ ซึ่งสามารถทดสอบเบื้องต้นโดยใช้วิธีกดหลังเบาๆ หากมีอาการเจ็บ อย่าปล่อยไว้ ควรรีบไปพบแพทย์
2.) ในผู้ที่มี ความดันโลหิตสูงมาก ล้วนเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต เพราะความดันเลือดสูง คือสัญญาณเด่นชัดอย่างหนึ่งที่ฟ้องว่าไตเริ่มมีปัญหา
3.) บวม ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายมีน้ำและเกลือเพิ่มขึ้น เพราะ “ไต” เริ่มไม่ทำหน้าที่กรองของเสีย น้ำ และเกลือแร่ส่วนเกินออกจากร่างกายนั่นเอง
โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มมีอาการบวมที่ใบหน้า หนังตา ขา และเท้าทั้งสองข้าง สามารถทดสอบเบื้องต้นได้ด้วย การลองใช้นิ้วกดที่หน้าแข้งทิ้งไว้สักพักแล้วปล่อยนิ้ว ถ้าปรากฏรอยบุ๋มตรงที่นิ้วกด แสดงว่าเริ่มบวมและส่อเค้าว่าอาจมีปัญหาที่ “ไต”
4.) เพลีย เหนื่อยง่าย ซีด เบื่ออาหาร และ ผิวหนังแห้งคัน มีรอยถลอกจากการเกา สัญญาณเตือนเหล่านี้มักจะปรากฏในผู้ที่ใกล้เป็นไตวายเรื้อรัง
5.) ปัสสาวะผิดปกติ ทั้งสี และ ความขุ่น เช่น ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด ปัสสาวะเป็นฟองมาก มีเลือดปนอยู่ในปัสสาวะ อาจเป็นสัญญาณเตือนของการป่วยเป็นโรค “ไต”
การเป็นโรคไต มักเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง
เช่น ชอบกินอาหารรสจัด รสเค็ม หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียม เป็นประจำ เช่น เกลือ กะปิ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ผงชูรส ซอสปรุงรส และผงปรุงรสต่างๆ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการชอบกินอาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูป กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต ที่แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
แบบแรก ไตวายชนิดเฉียบพลัน ซึ่งมีสาเหตุจากการที่เซลล์ของไตสูญเสียการทำงานอย่างเฉียบพลัน โดยที่อาจเกิดจากการอักเสบ ติดเชื้อ หรือเกิดการอุดตันอย่างเฉียบพลันในไตก็ได้
อีกแบบคือ ไตวายเรื้อรัง ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากโรคทางร่างกายร่วมด้วย
เช่น ผู้นั้นป่วยเป็น โรคเบาหวาน ซึ่งเกิดจากภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินปกติ ทำให้อวัยวะต่างๆในร่างกาย รวมทั้งไต ต้องทำงานหนักมาก ไตจึงเสื่อมเร็วมากตามไปด้วย
ถัดมากรณีผู้ที่ป่วยเป็น โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดฝอยบริเวณไตมีภาวะแรงดันสูงอยู่ตลอดเวลา จนเส้นเลือดฝอยในไตเกิดการปริแตก เป็นอีกสาเหตุฮิตที่ทำให้ไตเสื่อม
เช่นเดียวกับกรณีของผู้ที่ ป่วยเป็นโรคไขมันในเลือดสูง ก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไตเสื่อมลงอย่างมาก เพราะไขมันในเลือด จะไปอุดตันที่เส้นเลือดฝอยบริเวณไต ทำให้ไตต้องทำงานหนักตลอดเวลา
...
ในเพจสุขภาพชื่อดัง “ความรู้สนุกๆ แบบหมอแมว” ซึ่งผู้ตอบ คำถามหรือให้ความรู้ คือ นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา หรือ “หมอแมว” เจ้าของเพจ เคยได้รับคำถามที่มักจะสงสัยกันว่า ผู้ที่ป่วยเป็นไตวายเรื้อรัง ระดับ 5 เอาเข้าจริงแล้ว ควรจะได้รับการฟอกเลือด และล้างไตด้วยหรือไม่?
“หมอแมว” บอกว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจถึงความหมายของ “ไตวายเรื้อรัง ระดับ 5” ซึ่งหมายถึง การที่อัตราการกรองของเสียออกจากร่างกายของไตเหลือน้อยกว่า 15 ซีซีต่อนาที ต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตารางเมตร eGFR < 15
อัตราการทำหน้าที่กรองของเสียประมาณนี้ ทำให้ความสามารถในการกรองของเสีย น้ำ และเกลือแร่บางอย่างลดลง จนเกิดภาวะของเสียคั่งค้างอยู่ในร่างกาย ทำให้นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย มึนงง สับสน ฯลฯ
“ถ้าเป็นกรณีที่มีน้ำคั่ง ก็อาจทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอด หรือหากมีความผิดปกติของเกลือในร่างกาย โดยเฉพาะตัวโปแตสเซียม ซึ่งเมื่อผิดปกติรุนแรง อาจจะส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ
ฉะนั้น เมื่อถึงระดับนี้ หรือแค่ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง ระดับ 4 แพทย์ก็ควรเริ่มพูดคุยเรื่องนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยเตรียมพร้อมรับการบำบัดทดแทนไต ไม่ว่าจะเป็นทางหน้าท้อง หรือทางเส้นเลือดได้แล้ว”
หมอแมวบอกว่า เหตุที่ต้องคุยกันไว้ก่อน เพราะการบำบัดทดแทนไต ต้องมีการเตรียมตัว หรือเตรียมความพร้อมเอาไว้ก่อน เมื่อถึงเวลาจะใช้ก็จะสามารถรักษาได้ทันท่วงที โดยมีผลแทรกซ้อนตามมา...ไม่มาก
แต่ถ้าไม่ได้พูดคุย หรือเตรียมพร้อมใดๆเอาไว้เลย เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ขึ้นและจำเป็นต้องใช้วิธีรักษา แบบเร่งด่วน จะทำให้มีความเสี่ยงในเรื่องผลแทรกซ้อน...มากกว่า
“สรุปแล้ว กรณีคนไข้เป็นไตวายเรื้อรัง ระดับ 5 แนะนำว่า แพทย์และผู้ป่วยควรคุยกันก่อนถึงข้อดีข้อเสีย และถามถึงเหตุผลว่าควรจะทำหรือไม่ ถ้าต้องทำ...เพราะเหตุใด”.
...