“คนไทพาเก” สร้างบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำบุรีดีฮิง สาขาหนึ่งของแม่น้ำพรมบุตร เมืองนาฮาร์คาเตีย เขตดีบรูการ์ แคว้นอัสสัมชาวไทกลุ่มนี้ เป็นสาขาหนึ่งของไทใหญ่ เคยอยู่ในอาณาจักรมาวหลวง ตอนใต้ของจีน ย้ายถิ่นมาอยู่ในรัฐคะฉิ่นประเทศเมียนมา จากนั้นข้ามเขาปาดไก่ เทือกเขากั้นระหว่างพม่ากับอินเดียเข้ามาอยู่ในรัฐอัสสัม แม้เส้นทางโยกย้ายถิ่นจะยาวไกล แต่ยังคงรักษาประเพณี วัฒนธรรม และภาษาของตนเองไว้ได้อย่างเข้มแข็ง

ไม่เหมือน “ไทอาหม” ที่เปลี่ยนการนับถือศาสนาพุทธไปเป็นฮินดู สืบมาวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ รวมทั้งภาษาตระกูลไทที่เคยใช้ก็ค่อยๆ ถูกกลืนหายไป จนปัจจุบันไทอาหมแม้จะมีจำนวนนับ 10 ล้านคน แต่หาคนรู้ภาษาไทอาหมยากเหลือคณา

ด้วยความตระหนักในภูมิปัญญารากเหง้าของตน ล่าสุดเห็นมีชาวอาหมรุ่นใหม่พยายามรื้อฟื้นภาษาของตนเอง ด้วยการกลับมาศึกษาเรียนรู้ แต่ผลจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องรอคอยต่อไป

ชาวไทพาเกเป็นกลุ่มคนไทยที่เข้าไปอยู่อัสสัมหลังไทอาหม แต่ยังรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี และที่สำคัญรักษาภาษาพูดและภาษาเขียนของเผ่าพันธุ์ตนเองไว้ได้อย่างเหนียวแน่น แม้ปัจจุบันจะเหลือกันอยู่ราว 2,000 คนเท่านั้น

...

คณะสำรวจเอกสารโบราณจากประเทศไทย มี ดร.อุเทน วงศ์สถิตย์ หัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร นายดอกรัก พยัคศรี นักวิชาการจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และผู้ติดตามไปสังเกตการณ์ ตรงไปยังวัดไทนำเก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบุรีดีฮิง ท่ามกลางหมู่บ้านชาวไทพาเกอันร่มรื่น วัดแห่งนี้เดือนเมษายน พ.ศ.2561 มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่เพียง 1 รูป และสามเณร 13 รูป

ขณะที่วัดกว้างใหญ่ไพศาล ทำไมพระภิกษุสงฆ์มีจำพรรษาน้อยนัก ทราบจากชาวไทพาเกว่า ประเพณีการบวชของชาวไทพาเกไม่เหมือนกับคนไทยในประเทศไทย ใครที่ตัดสินใจบวชพระแล้วจะต้องบวชไม่สึก ถ้าบวชแล้วสึกจะกลายเป็นคนที่เชื่อถือไม่ได้ กฎเหล็กข้อนี้ทำให้ไม่มีคนบวชพระง่ายๆ

เราผ่านซุ้มประตูสีทองอร่ามเรืองเข้าไปในวัดไทนำเก ขณะถ่ายภาพซุ้มประตู วัวภาษาไทพาเกเรียก โงสี่ห้าตัวเดินอยู่หน้าวัด ดูท่าทางเป็นมิตรดี อยากจะเข้าไปทักทายเพราะเคยเลี้ยงมาก่อน แต่ต้องห้ามใจ เพราะเกิดเจ้าสัตว์มีเขากริ้วขึ้นมา แทนที่เราจะได้เข้าไปกราบพระ ดูเอกสารโบราณจะกลายเป็นต้องไปโรงพยาบาลแทน

เรากราบนมัสการเจ้าอาวาสชื่อณาณพลภิกขุ ท่านบวชมาแล้ว 43 พรรษา เป็นชาวไทคำยัง เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อแจ้งความประสงค์ และชี้แจงการเข้ามาศึกษาเอกสารโบราณแล้ว ท่านบอกว่ายินดีและให้เด็กวัดชื่อสิรีนณารายณ์กุรมี อายุราว 7-8 ขวบมาช่วยดูแล

เจ้าเด็กน้อยชาวฮินดู ดวงตาโตท่าทางคล่องแคล่วว่องไว พาเราไปยังอาคารสองชั้น เมื่อเปิดประตูชั้นล่างเข้าไปก็พบตู้เอกสารโบราณรายเรียงกันอยู่เต็มทุกตู้ สาเหตุที่บ้านไทนำเกแม้เป็นหมู่บ้านเล็กๆแต่มีเอกสารภาษาไทพาเกมากนั้น ทราบภายหลังว่า เพราะมีประเพณีเขียนหนังสือ และคัดลอกหนังสือถวายวัด ถือกันว่าเป็นการสร้างกุศลอย่างใหญ่หลวง
ตัวหนังสือไทพาเกเรียก “ลิกไต” มาจากคำว่า “เลข” แปลว่าขีดเขียน และคำว่า “ไต” คือไทนั่นเอง ส่วน “หนังสือ” ที่เป็นเล่มเรียก “ปับลิกไต” คำว่าปับมาจากคำว่า “พับ” เพราะหนังสือแต่ละเล่มเขียนลงบนกระดาษสา ต้องพับเหมือนเอกสารโบราณของไทย

อาคารเก็บ “ปับลิกไต” หรือหนังสือไทพาเก เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างเก็บหนังสือทั้งชั้น เปิดเข้าไปก็ต้องน้อมศีรษะคารวะให้อย่างอ่อนน้อม เพราะท่านเก็บเอกสารเอาไว้อย่างมีระเบียบ จัดหมวดหมู่เอาไว้แต่ละตู้ หนังสือเล่มแรกที่เราได้เห็นชื่อ “ลิกไตภูมิ” นั่นคือ หนังสือไตรภูมิ บ้านเราก็มีไตรภูมิพระร่วงของพญาลิไท และพบเรื่อง “ลามามัง” คือ รามเกียรติ์ และหนังสืออีกหลากหลายขนาดมีทั้งเขียนด้วยลายมือ และถ่ายเอกสารรวมเล่ม บางเล่มมีจำนวนกว่า 200 หน้า ไม่รู้ว่าเขียนกันได้อย่างไร

...

เรื่องราวในหนังสือ มีทั้งบทสวดมนต์ในพระพุทธศาสนา หนังสือประวัติศาสตร์ กฎหมาย และอื่นๆ เล่มที่โดดเด่นที่สุดคือ ไตรภูมิ เพราะเขียนด้วยลายมือ มีภาพวาดประกอบทั้งเทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก บางภาพเห็นคนตกนรกดิ้นอยู่ในกระทะทองแดงแสนจะทุกขเวทนา

หลังสำรวจเอกสารที่วัดไทนำเกแล้ว เราต้องตื่นเต้นเมื่องี่ยอดพาไปบ้านชาวไทนำเก เจ้าของบ้านชื่อ อ้าย องกิยะ เวียงแก่น (AI ONGKIYA WEINGKEN) และอาม เจ้า เขียว จะคับ เวียงแก่น (AM CHAW KHYO CHAKHAP WEINGKEN) สองสามีภรรยาเป็นปราชญ์ของหมู่บ้านไทนำเก กำลังสร้างเรือนขนาดใหญ่สำหรับเป็นศูนย์การศึกษาเรียนรู้ทั้งภาษาและประวัติศาสตร์ไทพาเก

บ้านหลังนี้เคยต้อนรับนักวิชาการดังจากประเทศไทยและทั่วโลก อาทิ ศ.ดร.บรรจบ พันธุเมธา ผู้เขียนหนังสือ กาเลหม่านไต, ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร และ รศ.ดร.กรรณิการ์ วิมลเกษม เป็นต้น

พบปราชญ์ชาวไทพาเกแล้ว ทำให้เราตระหนักว่า ภาษาไทพาเกอย่างไรคงจะสูญหายไม่ง่ายแน่ๆ หนังสือที่นำมาให้ดูเป็นตัวเขียนในกระดาษสาและหนังสือเล่ม เช่น เรื่องปู่สอนหลาน อูแป่มสามลอ ขุนผาเผือก ฮ้องขวัญ และมีบันทึกเก่าแก่อายุ 230 ปี

...

สำหรับการศึกษาเอกสารโบราณครั้งนี้ ดร.อุเทน วงศ์สถิตย์ บอกว่า สาเหตุที่เลือกชาวไทพาเก เพราะว่าในบรรดาคนไททุกกลุ่มในประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นไทอาหม ไทคำยัง ไทตุรง ไทอ้ายตอน ไทพาเกและไทคำตี่ คนไทที่ยังรักษาภาษาพูดในชีวิตประจำวันไว้ได้มีเพียงสามกลุ่ม คือ 1.ไทอ้ายตอน 2.ไทพาเก และ 3.ไทคำตี่ ส่วนอีกสามกลุ่มที่เหลือ เลิกพูดภาษาไทแล้ว สูญเสียอัตลักษณ์ไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ดร.อุเทนบอกว่า ไทพาเกอยู่ในสภาวะที่อันตรายเสี่ยงต่อการสูญเสียภาษาอยู่เหมือนกัน เพราะว่าจำนวนคนมีประมาณ 2,000 คนเท่านั้น เมื่อคนมีจำนวนน้อย คนที่อ่านตัวอักษรไทพาเกได้ก็น้อย เพราะความยุ่งยากหลายประการ เช่น เด็กรุ่นใหม่นิยมเรียนศาสตร์ทำเงินไว้ สำหรับประกอบอาชีพ มากกว่าที่จะสนใจศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรมของตนเอง

เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่สามารถอ่านอักษรไทพาเกได้ และยังมีปัจจัยอื่นๆ คือ ภาษาเขียนไทพาเกไม่มีรูปวรรณยุกต์กำกับ เมื่อเขียนออกมาแล้วรูปอักษรเหมือนกัน แต่ความหมายต่างกัน เป็นต้น

ดร.อุเทนบอกว่า ต้องถือว่าชาวไทพาเกมีวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง เป็นชาตินักปราชญ์ มีอักษรและวรรณกรรมเป็นของตนเองท่ามกลางในสังคมชาวฮินดูที่อยู่รายรอบ

...

ขณะที่นายดอกรัก พยัคศรี บอกว่า การศึกษาเอกสารไทพาเกครั้งนี้ ทำให้เกิดประโยชน์ต่อชาวไทยคือ ทำให้คนไทยรู้จักคนไทนอกประเทศมากขึ้น และรู้ว่ายังมีกลุ่มคนไทยอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ทั้งอินเดีย พม่า จีน เวียดนาม คนไทเหล่านี้มีภาษา ประเพณี วัฒนธรรม คล้ายๆคนไทยในประเทศไทย ความคล้ายมีทั้งเรื่องภาษา คำศัพท์ที่ตรงกัน ส่วนใหญ่แล้วจะคล้ายกับภาษาไทยถิ่นเหนือ สามารถพูดคุยกันได้ในประดับหนึ่ง ตัวอย่างคำที่เหมือนกันเช่น คำว่ากิน มา น้ำ ข้าว ต้ม ตำ ขา หมา หมู ไก่ ช้าง ปลา เป็นต้น

พลางสรุปว่า “โครงการนี้ เรามุ่งศึกษาตัวเอกสารโบราณ เป็นการสำรวจเบื้องต้นก่อน นักวิชาการส่วนใหญ่มองข้ามไปที่ไทอาหม ทั้งๆ ที่กลุ่มไทพาเกยังคงอัตลักษณ์ของตัวเองไว้ได้อย่างดี การเข้ามาศึกษาในครั้งนี้ก็เพื่อที่จะกระตุ้นให้นักวิชาการในสาขาอื่นๆ เข้ามาศึกษากลุ่มไทพาเกให้มากขึ้น”

การสำรวจเอกสารโบราณไทพาเกครั้งนี้ หวังอย่างยิ่งว่า จะได้เห็นรากเหง้าและสายสัมพันธ์ระหว่างไทในอัสสัมกับไทยที่อยู่ในประเทศไทย.