ไม้ชนิดนี้ มีด้วยกัน 2 ชนิด คือ ชนิดแรกเรียกว่า “กรวย” อีกชนิดหนึ่งเรียกกันทั่วไปว่า กรวยป่า ซึ่งทั้ง 2 ชนิด จะมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ใกล้เคียงกันมากจนเกือบแยกไม่ออกว่าต้นไหนเป็น “กรวย” หรือ กรวยป่า มีชื่อวิทยาศาสตร์และมีแหล่งที่พบเหมือนกันทุกอย่าง แต่สรรพคุณทางสมุนไพรไม่เหมือนกันอย่างชัดเจน โดย “กรวย” และ กรวยป่า มีชื่อเฉพาะคือ HORSFIELDIA IRYA (GAFRTN.) WARB. อยู่ในวงศ์ MYRIS TICACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง 10-25 เมตร โคนต้นเป็นพูพอนและมักมีรากค้ำยัน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน โคนใบมนหรือแหลม หน้าใบเป็นสีเขียว หลังใบเป็นสีนวล ใบดกให้ร่มเงาดีมาก

ดอก ทั้ง 2 ชนิดพันธุ์ออกเป็นช่อตามซอกใบ เป็นดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกตัวผู้แผ่กว้างกว่าช่อดอกตัวเมีย ดอกมีขนาดเล็กจำนวนมาก เป็นสีเหลือง วงกลีบรวมติดกัน ส่วนบนแยกเป็น 2 กลีบ ดอกตัวผู้จะมีเกสรตัวผู้ 6-10 อัน ดอกตัวเมียจะไม่มีเกสรและตัวดอกจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้อย่างชัดเจน ดอกมีกลิ่นหอมแรง เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูงดงาม และส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ชื่นใจยิ่งนัก “ผล” รูปทรงกลม ติดผลเป็นพวง 2-5 ผล ผลสุกเป็นสีส้มอมแดง ใน 1 ผลจะมีเมล็ด 1 เมล็ด เนื้อหุ้มเมล็ดเป็นสีแดงอมส้มกินไม่ได้ ดอกออกเกือบทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง พบขึ้นตามที่ราบริมแม่น้ำลำคลองใกล้ๆกับพื้นที่ที่มีเขตติดต่อกับทะเลทั่วไป ประเทศไทยพบที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ต่างประเทศพบที่ศรีลังกา หมู่เกาะอันดามัน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย

สรรพคุณของ “กรวย” ชาวมาเลเซียใช้เปลือกต้นต้มน้ำกลั้วในปากแล้วบ้วนทิ้งบำรุงอาการเจ็บคอ ส่วนกรวยป่าตำราแผนไทยระบุว่า ใบสดตำละเอียดทาแก้โรคผิวหนังผื่นคันชนิดมีตัวดีมาก ใบสดหั่นตากแห้งผสมใบยาสูบมวนเป็นบุหรี่สูบ แก้ริดสีดวงจมูกดีมากครับ.

...

“นายเกษตร”