สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่งครับ ซึ่งผมคิดว่าอาจจะเกิดขึ้นกับพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย หรือผู้สูงอายุของท่านได้ บางคนคิดว่า “แค่สำเนาบัตรประชาชนใบเดียว ไม่ได้เซ็นรับรองสำเนา จะเอาไปทำอะไรได้” แต่ท่านกำลังเข้าใจผิดนะครับ สมัยนี้อย่าได้ไว้ใจ “คน” โดยเฉพาะญาติสนิท มิตรสหาย คนใกล้ชิด เรื่องที่ผมจะเล่าให้ท่านฟังต่อไปจากนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งผู้ที่กระทำความผิดเป็นคนที่ผู้เสียหายให้ความเคารพในฐานะพี่สาว ใครจะคาดคิดว่า เพียงแค่สำเนาบัตรประชาชนใบเดียว จะสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับคนบางคน

เรื่องมีอยู่ว่า ผู้เสียหายเป็นหญิงมีสามี อยู่กินกันฉันสามีภรรยา จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย มีบุตรด้วยกันสองคน ต่อมาเกิดอาการป่วย โดยประเมินจากสายตาแล้ว ไม่น่าจะมีชีวิตอยู่ได้นาน พี่สาวของสามี ซึ่งเป็นตัวแทนขายประกันชีวิต จึงแนะนำให้ผู้เสียหายทำประกันชีวิตไว้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของลูกหลานในอนาคต ผู้เสียหายจึงได้มอบสำเนาบัตรประชาชน 1 ใบให้กับพี่สาวของสามีไป เพื่อทำประกันชีวิตตามคำแนะนำดังกล่าว โดยหวังว่าเมื่อตนเองเสียชีวิตแล้วจะมีเงินจัดการงานศพของตนเอง โดยไม่เป็นภาระของลูกหลาน

ต่อมาประมาณ เดือน บริษัทประกันชีวิตได้นำส่งใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตทางไปรษณีย์ จำนวน 4 ฉบับ สร้างความประหลาดใจให้กับผู้เสียหายเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้เสียหายได้มอบสำเนาบัตรประชาชนให้แก่พี่สาวของสามีไปนานแล้ว จนแทบจำไม่ได้ อีกทั้งไม่เคยชำระค่าเบี้ยประกันชีวิต แต่กลับมีใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตส่งมาถึงผู้เสียหายถึง 4 ฉบับ ได้อย่างไร

เมื่อบุตรสาวของผู้เสียหายทราบเรื่อง จึงได้ปรึกษาทนายความ และตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทุกคนที่ใกล้ชิดกับผู้เสียหาย เนื่องจากสำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้านถือเป็นเอกสารสำคัญอย่างหนึ่ง ดังนั้น น่าจะเป็นคนใกล้ตัวเท่านั้น ที่จะสามารถนำเอกสารดังกล่าวออกจากบ้านของผู้เสียหายไปได้ ผู้เสียหายจึงนึกขึ้นได้ว่าเคยได้มอบสำเนาบัตรประชาชนไปให้กับพี่สาวของสามีไปนานแล้ว

...

บุตรสาวของผู้เสียหายจึงได้สอบถามไปยังพี่สาวของผู้เสียหายจนทราบว่า พี่สาวของผู้เสียหายได้นำสำเนาบัตรประชาชนดังกล่าวไปถ่ายสำเนาเพิ่มอีก 3 ฉบับ รวมเป็นทั้งหมด 4 ฉบับ และได้นำเอกสารดังกล่าวไปลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องปลอม รวมถึงลงลายมือชื่อปลอมในคำขอทำประกันชีวิตทั้ง 4 ฉบับ แม้ในคำขอทำประกันชีวิตได้ระบุผู้รับผลประโยชน์เป็นสามีของผู้เสียหายและเงินประกันชีวิต บริษัทประกันจะสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์เป็นสามีของผู้เสียหายก็ตาม แต่ผู้เสียหายรวมถึงสามีรับรู้เพียงแค่ว่านำไปทำประกันชีวิตเพียง 1 ฉบับเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายเสียชีวิตลง สามีของผู้เสียหายก็จะได้รับเงินประกันชีวิตเพียง 1 ฉบับ ส่วนอีก 3 ฉบับ พี่สาวของสามีอาจจะหลอกให้สามีของผู้เสียหายลงลายมือชื่อในหนังสือมอบนาจ เพื่อหลอกเอาเงินประกันอีก 3 ฉบับดังกล่าว

วิธีการดังกล่าวนี้พี่สาวของสามีเคยทำพฤติกรรมแบบนี้กับผู้อื่นมาแล้ว โดยอาศัยความไว้ใจ ไม่อ่านเอกสารให้รอบคอบ ไม่กำหนดขอบอำนาจในการมอบอำนาจแต่ละครั้งให้ชัดเจน และอาศัยช่วงที่จัดการงานศพ ผู้รับผลประโยชน์มักจะวุ่นวายอยู่กับการจัดงานศพ การต้อนรับแขก รวมถึงอยู่ในภาวะที่เศร้าโศกเสียใจจึงไม่มีกำลังใจที่จะไปดำเนินการติดต่อบริษัทประกันด้วยตนเอง จึงเป็นช่องว่างให้ผู้ที่มีประสบการณ์และความชำนาญด้านการประกันชีวิต แสวงหาผลประโยชน์ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหากินอยู่กับความไว้วางใจของคน

ในกรณีนี้ การปลอมลายมือชื่อในสำเนาบัตรประชาชนและคำขอทำประกันชีวิตดังกล่าวนั้น ถือเป็นเอกสารสิทธิ คือ เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอนสงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ ผู้กระทำความผิดจะมีความผิดในข้อหาปลอมเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 มาตรา 265 ประกอบมาตรา 268

ตามประมวลกฎหมายอาญา เอกสารสิทธิ มาตรา 1(9) หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอนสงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

มาตรา 268 ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ

บุตรสาวของผู้เสียหายแก้ปัญหาด้วยการนำผู้เสียหายไปที่บริษัทประกันสำนักงานใหญ่ เพื่อขอยกเลิกการทำประกันชีวิตทั้ง 4 กรมธรรม์ดังกล่าว เนื่องจากมีการปลอมลายมือชื่อ และใช้เอกสารสิทธิปลอม ส่วนของการปลอมลายมือชื่อนั้นผู้เสียหายไม่ติดใจ เนื่องจากเป็นญาติสนิทกัน และในส่วนของการดำเนินการระหว่างบริษัทประกันภัยกับพี่สาวของสามีผู้เสียหาย ซึ่งเป็นตัวแทนขายประกันชีวิตนั้น เป็นเรื่องภายใน ซึ่งอาจจะมีการเพิกถอนใบตัวแทนขายประกันชีวิตต่อไป

สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านระมัดระวังเกี่ยวกับเอกสารส่วนบุคคล เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบขับขี่ ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับเลขที่บัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด วันหมดอายุ วันทำบัตร ฯลฯ สามารถใช้ในการทำนิติกรรมได้หลายอย่าง และอาจจะนำปัญหามาให้แก่ท่านในอนาคต ดังนั้นการขีดคร่อมสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบขับขี่ โดยกำหนดวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้อย่างชัดเจน จะเป็นวิธีการป้องกันปัญหาเบื้องต้นได้ครับ

...

สำหรับใครที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ