เฟชบุ๊คเพจ iLaw โพสต์ หนังโป๊ / ไฟล์ผิดกฎหมาย ใครโหลดเก็บไว้ในเครื่องตัวเอง แม้จะไม่ได้โพสต์ด้วย แต่ก็ต้องระวัง! ติดตามฟังคำสั่งศาลให้ดี ถ้าศาลสั่งให้ลบเมื่อไรแล้วไม่ลบ อาจผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16/2

ด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16/2 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับที่แก้ไขใหม่เมื่อเดือนธันวาคม 2559 มีมาตรา 16/1 และ 16/2 เพิ่มขึ้นมาใหม่ เกี่ยวกับการลบข้อมูล และความผิดฐานเก็บข้อมูลที่ผิดกฎหมายเอาไว้ ซึ่งกฎหมายเขียนดังนี้
"มาตรา 16/1 ในคดีความผิดตามมาตรา 14 หรือมาตรา 16 ซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลอาจสั่ง

(1) ให้ทำลายข้อมูลตามมาตราดังกล่าว

(2) ให้โฆษณาหรือเผยแพร่คำพิพากษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ตามที่ศาลเห็นสมควร โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา หรือเผยแพร่

(3) ให้ดำเนินการอื่นตามที่ศาลเห็นสมควรเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดนั้น
มาตรา 16/2 ผู้ใดรู้ว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ในความครอบครองของตนเป็นข้อมูลที่ศาลสั่งให้ทำลายตามมาตรา 16/1 ผู้นั้นต้องทำลายข้อมูลดังกล่าว หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 หรือมาตรา 16 แล้วแต่กรณี"

อธิบายเพิ่มเติม:
ก่อนการแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในปี 2559 ไม่มีกฎหมายที่กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งทำลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ได้ และไม่มีกฎหมายกำหนดให้การครอบครองข้อมูลใดเป็นความผิด แม้ว่า ศาลจะพิพากษาให้การโพสต์ข้อมูลใดเป็นความผิดก็ตาม

การเพิ่มมาตรา 16/1 ขึ้นมา ก็เป็นไปเพื่อรักษาเกียรติยศชื่อเสียง หรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่ถูกละเมิด หากศาลสั่งว่า ข้อมูลใดขัดต่อมาตรา 14 และมาตรา 16 แล้ว ศาลก็อาจสั่งให้ทำลายข้อมูลเหล่านั้นได้ด้วย หรืออาจสั่งให้ดำเนินการอย่างอื่นเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นออกไปก็ได้

...

ซึ่งข้อมูลตามมาตรา 14 ที่ศาลอาจสั่งทำลายได้แก่
(1) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม หรือข้อมูลอันเป็นเท็จ
(2) ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จที่อาจเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ฯลฯ
(3) ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะอันลามก

ส่วนข้อมูลตามมาตรา 16 ที่ศาลอาจสั่งทำลาย ได้แก่ ภาพของผู้อื่น ที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง

และเมื่อข้อมูลใดถูกศาลสั่งให้ทำลายแล้ว หากใครที่รู้ว่า ศาลมีคำสั่งให้ทำลายก็ต้องทำลาย หากยังฝ่าฝืนคำสั่งศาลเก็บรักษาข้อมูลไว้ ไม่ว่าจะเป็นใครเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเอง หรือเก็บไว้ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเปิดเผยต่อสาธารณะหรือตั้งค่าให้เข้าดูได้แต่เฉพาะตัวเองก็ถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล อันเป็นความผิดตามมาตรา 16/2

แน่นอนว่า การ "ไม่ลบ" ที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 16/2 ผู้ที่ไม่ยอมลบจะต้อง "รู้" ด้วยว่า ศาลได้มีคำสั่งให้ทำลายข้อมูลนั้นๆ แล้ว หากไม่รู้คำสั่งศาลจึงไม่ได้ปฏิบัติตามก็ย่อมไม่มีความผิด และคำสั่งของศาลก็อาจจะเป็นการออกคำสั่งในคดีใดคดีหนึ่ง จึงเป็นเรื่องยากมากสำหรับผู้ใช้เน็ตทั่วๆ ไป ที่จะติดตามรับรู้คำสั่งศาลในทุกๆ คดีได้ แต่การจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์กันว่า รู้หรือไม่รู้คำสั่งศาลนั้นๆ ก็ต้องเป็นขั้นตอนการต่อสู้คดีในชั้นศาล ซึ่งหากผู้ถูกกล่าวหา ไม่มีความรู้กฎหมาย ไม่มีทนายความคอยช่วยเหลือ หรือไม่มีเงินสำหรับประกันตัว ก็จะเป็นเรื่องลำบากมากในการต่อสู้คดี

ดังนั้น ใครที่มีข้อมูลที่เป็นเท็จ ที่กระทบความมั่นคง ที่เข้าข่ายลามก หรือภาพตัดต่อ ที่เสี่ยงต่อการจะผิดมาตรา 14 และ 16 เก็บอยู่ในความครอบครองของตัวเอง ไม่ว่าจะเก็บไว้ที่ใด หากอยากจะระมัดระวังตัวไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการข้อกล่าวหา คดีความ การเข้าคุกเข้าตะราง ก็อาจต้องหมั่นติดตามข่าวสารเกี่ยวกับคำสั่งศาลในคดีความต่างๆ ให้ไม่พลาด หากศาลสั่งให้ทำลายข้อมูลใดแล้ว ต้องรีบตามไปลบของตัวเองให้ทันการด้วย

มาตรา 16/2 กำหนดให้ผู้ที่ไม่ยอมทำลายข้อมูล ต้องรับผิดครึ่งหนึ่งของผู้ที่เผยแพร่
ผู้ที่ไม่ลบข้อมูลเท็จ ข้อมูลกระทบความมั่นคง หรือข้อมูลลามก ตามมาตรา 14 อาจต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท

ผูู้ที่ไม่ลบข้อมูลที่เป็นภาพตัดต่อของผู้อื่น ตามมาตรา 16 อาจต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท