รายละ100-230ล้านบ. พร้อมรับจดทะเบียน

“ปลัดยุติธรรม” พร้อมอธิบดีดีเอสไอ หอบข้อมูล 6 กลุ่มเงินกู้นอกระบบทั่วประเทศมอบให้ “ปลัดคลัง” สั่งการให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง หลัง ดีเอสไอตรวจสอบพบไม่เคยเสียภาษีเลย ทั้งที่มีเงินหมุนเวียนรวมกันกว่า 1.4 พัน ล้านบาท ยึดที่ดินทำกินเหยื่อไปแล้วกว่า 3,400 ไร่ เบื้องต้นต้องเรียกเก็บภาษีย้อนหลังทุกกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มละ 100-230 ล้านบาท และยินดีถ้ายอมจดทะเบียนเข้ามาอยู่ในระบบปล่อยเงินกู้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ที่กระทรวงการคลัง เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 15 ก.ย. นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ เลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) เดินทางเข้าพบนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เพื่อส่งมอบข้อมูลและประสานความร่วมมือการปราบปรามนายทุนเงินกู้โหดที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน ภายใต้ภารกิจแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานคณะกรรมการ

หลังการหารือนายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เผยว่า หลังดีเอสไอดำเนินการกับนายทุนเงินกู้รายใหญ่ ความผิดอาญาฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ทางการสืบสวนยังพบว่า มีเงินหมุนเวียนจากการปล่อยกู้จำนวนมาก จึงประสานข้อมูลให้กรมสรรพากรนำมาตรการทางภาษีมาบังคับใช้กับนายทุนกลุ่มนี้อย่างจริงจัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการถูกเอารัดเอาเปรียบของนายทุน ด้วยวิธีการอำพรางการให้กู้ยืมเงินเพื่อหวังดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ตอบแทนจำนวนเงินสูง ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรทำให้เสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย กรอบการหารือวันนี้ต้องการให้บูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูล หาวิธีประสานงานเพื่อให้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

...

“อธิบดีกรมดีเอสไอส่งมอบบัญชีรายชื่อนายทุนเงินกู้นอกระบบ 6 กลุ่มที่พบข้อมูลว่า มีเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 1,400 ล้านบาท ยึดที่ดินชาวบ้านรวมกันกว่า 3,400 ไร่ และฟ้องร้องบังคับคดีลูกหนี้กว่า 1,800 ราย ให้อธิบดีกรมสรรพากรเพื่อดำเนินมาตรการทางภาษี การบูรณาการและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันอย่างใกล้ชิดตามนโยบายรัฐบาล เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ในมิติของการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ” ปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าว

ส่วนนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเล็งเห็นความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องการเงินใช้จ่ายยามฉุกเฉิน จึงเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อระบบพิโกไฟแนนซ์ หรือ PICO Finance ดึงนายทุนนอกระบบมาเข้าระบบปล่อยสินเชื่ออย่างถูกต้อง ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง เป็นสินเชื่อรายย่อยภายในจังหวัด ให้กู้ยืมรายละไม่เกิน 50,000 บาท เปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์ประกอบกิจการให้กู้ยืมเงินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ต้องมีคุณสมบัติเป็นนิติบุคคล มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท สามารถยื่นคำขออนุญาตเป็นผู้ประกอบการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์กับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้โดยตรง หรือยื่นเอกสารผ่านธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรทุกสาขาทั่วประเทศ ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.1359.go.th หรือโทรศัพท์สายด่วน 1359 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ต่อมาเวลา 17.40 น. พ.ต.อ.ไพสิฐ เผยว่า จากการตรวจสอบพบว่า ขณะนี้มีนายทุนเงินกู้ขนาดใหญ่ 7 กลุ่ม รวมกลุ่มของนายวิชัย ปั้นงาม นายทุนเงินกู้นอกระบบในจังหวัดปทุมธานีที่เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด ถูกเจ้าหน้าที่ดีเอสไอจับกุมไปแล้ว แต่นายวิชัยยังหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ เจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลออกหมายจับหัวหน้าที่รองจากนายวิชัยอยู่ ส่วนนายทุนเงินกู้ 6 กลุ่มประกอบด้วย จ.เพชรบูรณ์ 2 กลุ่ม จ.เชียงราย 1 กลุ่ม จ.ชัยภูมิ 1 กลุ่ม จ.ขอนแก่น 1 กลุ่ม และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 1 กลุ่ม ที่นำข้อมูลไปส่งมอบให้ปลัดกระทรวงการคลังวันนี้ เพื่อให้กรมสรรพากรประเมินภาษีย้อนหลัง เนื่องจากไม่เคยเสียภาษีเลย อาจต้องเสียภาษีกว่า 100 ล้านบาทหากยังไม่ยอมร่วมมือกับรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มนายทุน จ.ชัยภูมิ หลังประเมินภาษีแล้วอาจโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังถึง 230 ล้านบาท ขณะนี้พยายามดึงนายทุนพวกนี้เข้ามาอยู่ในระบบของรัฐ เพื่อปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนอย่างถูกต้อง ดีเอสไอจะยังไม่ดำเนินคดีอาญา แต่จะใช้มาตรการทางกฎหมายก่อน