เอ่ยชื่อ อุทัย เจียรศิริ หรือ “ครูแดง” คนทั่วไปคงไม่มีใครรู้จัก
แต่ถ้าในแวดวงครูช่างหัตถศิลป์ชั้นสูงแล้ว ชื่อนี้ไม่เพียงเป็นที่รู้จักกันดี ยังรู้กันทั่วด้วยว่า ผลงานแต่ละชิ้นของเขา...ไม่ธรรมดา มีทั้งถูกนำไปใช้เป็นของกำนัลให้แก่แขกบ้านแขกเมืองคนสำคัญ หรือเป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับบนเรือนร่างของดาราภาพยนตร์ หรือเหล่าคนดังระดับแถวหน้าของประเทศ
สิ่งที่ทำให้ผลงานแต่ละชิ้นของ “ครูแดง” เป็นหน้าเป็นตาทั้งแก่ตัวเขา และประเทศชาติ คือ งานศิลปะที่เรียกว่า การคร่ำทอง และ ถมทอง จากค่าย “เครื่องถมครูอุทัย” ซึ่งงานหัตถศิลป์ทั้ง 2 แบบนี้ มีความต่างกัน
งานถม คือ การทำลวดลายลงบนผิวของภาชนะ ซึ่งเป็นเงิน หรือทอง ให้มีความเด่นขึ้นมา ด้วยการถมโลหะสีดำลงในช่องว่างให้เต็ม
การทำเครื่องถมของไทยได้รับอิทธิพลมาจากที่ใด ยังหาข้อยุติแน่ชัดไม่ได้ มีแต่หลักฐานว่า ไทยเรามีเครื่องถมใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แผ่นดิน สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ.1991-2031
เครื่องถมของไทยมีลักษณะคล้ายเครื่องถมของเปอร์เซีย และอินเดีย จึงมีผู้สันนิษฐานว่า อาจมาจากแหล่งความรู้เดียวกัน แต่ได้มีการดัดแปลงให้แปลกออกไป โดยอิงขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละชาติ เช่น มีการนำเอาทศชาติชาดกมาใช้ผูกลวดลาย เพื่อเล่าเรื่องราว เป็นต้น
อีกอย่าง มีข้อสังเกต การทำเครื่องถมทำได้เฉพาะกับโลหะเงิน หรือทองคำเท่านั้น โลหะอื่น เช่น ทองแดง ทำไม่ได้ เพราะถมไม่ติด นอกจากจะนำไปชุบทอง หรือชุบเงินเสียก่อน แต่ถ้าใช้ไปนานๆทองคำ หรือเงินที่ชุบไว้ก็จะหลุดออกมาหมด จึงไม่เป็นที่นิยม
ส่วน งานคร่ำ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Inlay ครูแดงบอกว่า หมายถึง การใช้ทองคำ หรือเงิน ฝังเป็นลวดลายลงไปในโลหะ
...
เช่น ถ้าใช้ทองคำฝังลงไปในเหล็ก เรียกว่า “การคร่ำทอง” (Inlay with gold) ถ้าฝังด้วยเส้นเงินเรียกว่า “การคร่ำเงิน” (Inlay with silver) เป็นต้น
โดยช่างหัตถศิลป์จะนำเงิน หรือทองคำ ที่รีดเป็นเส้นลวด หรือแถบบางๆ ฝังลงไปในร่องที่สับเหล็กให้เป็นตาข่ายอย่างละเอียด จากนั้นจะใช้สิ่วหน้าเล็กตอกย้ำฝังเส้นลวดทอง หรือลวดเงิน ลงไปในเนื้อเหล็ก
ส่วนใหญ่การคร่ำมักทำบนด้ามอาวุธ หรือเครื่องใช้ต่างๆ เช่น หอก ดาบ ทวน ขอช้าง ลำกล้อง ปืน มีด ตะบันหมาก กรรไกร กรรบิด ผอบ เป็นต้น
สันนิษฐานกันว่า การทำเครื่องคร่ำเป็นวิธีที่ทำกันมาแต่โบราณ โดยช่างทองกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย ริเริ่มทำขึ้นก่อน ซึ่งยังคงเป็นวิธีการของช่างโลหะในแถบตะวันออกกลางที่สืบต่อมาถึงปัจจุบัน
ส่วนการทำเครื่องคร่ำของไทย บางกระแสสันนิษฐานว่า ได้รับการสืบทอดวิชามาจากชาวอาหรับ ซึ่งเดินเรือจากตะวันออกกลาง เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทย สมัยกรุงศรีอยุธยา
บางกระแสก็คาดคะเนกันว่า การทำคร่ำถือกำเนิดที่ประเทศแถบเปอร์เซีย แล้วค่อยแพร่หลายไปสู่ประเทศจีน เขมร ลาว และภาคใต้ของไทย เช่น เมืองปัตตานี แต่ก็ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มทำมาตั้งแต่สมัยใด
กระทั่งถึงรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ขุนสารพัดช่าง ข้าราชการกรมวังนอก ได้ร่ำเรียนศิลปะนี้มาจากครูช่างชาวเขมรที่เข้ามาสอนในไทย
ต่อมา นายสมาน ไชยสุกุมาร บุตรชายของขุนสารพัดช่าง ได้สืบทอดศิลปะนี้ แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายของคนทั่วไปนัก
ศิลปะแขนงนี้จึงเกือบจะสูญหาย แต่เพราะ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเห็นคุณค่าของงานหัตถศิลป์โบราณแขนงนี้ จึงโปรดเกล้าฯให้นายสมาน (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) เป็นผู้สอนวิชาการทำคร่ำให้แก่นักเรียนศิลปาชีพ ในสวนจิตรลดา
ปัจจุบันงานคร่ำ มิได้มีอยู่แต่เฉพาะในศาสตราวุธเท่านั้น ยังได้รับการประยุกต์ดัดแปลงทำเป็นสิ่งของสวยงามต่างๆตามสมัยนิยม
เช่น เครื่องประดับ จำพวกแหวน กำไลข้อมือ ต่างหู ทับทรวง สายสะพาย ล็อกเกต หรือเครื่องดนตรี อย่างเช่น ด้ามซอ เป็นต้น โดยมี อุทัย เจียรศิริ หรือ ครูแดง หนึ่งในศิษย์เอกของครูสมาน เป็นผู้ออกแบบ และริเริ่มทำจำหน่ายในเชิงพาณิชย์เป็นคนแรก
“งานคร่ำเป็นงานที่แทบจะสูญหายไปจากเมืองไทยนานแล้ว เพราะข้าวของเครื่องใช้ที่มีการคร่ำทอง โดยมากเป็นของใช้ส่วนพระองค์ หรือใช้เฉพาะในราชสำนัก โชคดีที่ราวๆปี 2522 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯให้สืบทอดงานช่างแขนงนี้ไว้ที่โครงการศิลปาชีพ สวนจิตรลดา แต่ช่วงที่อาจารย์สมานท่านสอนผม ท่านก็มีอายุมากแล้ว จึงสอนอยู่ได้ไม่นาน”
ครูแดงบอกว่า ถ้าเป็นงานคร่ำข้างนอกวัง ปัจจุบันมีเขาเพียงผู้เดียว ที่ยังคงสืบทอดหัตถศิลป์ชั้นสูงแขนงนี้ไว้ ตัวเขาเองนอกจากสืบทอดและเผยแพร่วิชานี้ต่อ ด้วยการได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์สอนตามสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา เขายังได้รวมตัวเป็นกลุ่มสหกรณ์ เพื่อทำเครื่องประดับงานคร่ำร่วมสมัยขายอีกด้วย
“ปัญหาของการประยุกต์ดัดแปลงจากงานคร่ำ ที่เคยใช้ในศาสตราวุธ หรือเครื่องใช้ มาเป็นเครื่องประดับบนร่างกาย อยู่ที่การทำงานกับเหล็ก จะมีเรื่องของน้ำหนักเข้ามาเกี่ยว ถ้าเป็นอาวุธ ยังพอมีน้ำหนักได้ แต่ถ้าเป็นเครื่องประดับ น้ำหนักมากไปคงไม่เหมาะ”
ครูแดงว่า ฉะนั้น นอกจากอยู่ที่การดีไซน์ หรือออกแบบชิ้นงานให้เหมาะสม ยังต้องมีการนำเครื่องมือหรือเทคโนโลยีร่วมสมัยมาประยุกต์ใช้ด้วย เช่น ใช้เครื่องเจียร เพื่อให้เนื้อเหล็กบางลง เป็นต้น
“ความจริงสเตนเลส ซึ่งเบากว่าเหล็ก ก็ใช้ทำแทนเหล็กได้ แต่มันไม่ขึ้นหรือเข้ากับสีของทองคำ การคร่ำส่วนใหญ่จึงยังคงเลือกใช้เหล็กเป็นหลัก โดยการเลี้ยงสนิมเหล็กให้ขึ้นเงา ด้วยการทาน้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันมะกอก สีของเหล็กที่ออกน้ำตาลจะตัดกับสีของทองคำ ช่วยขับให้ชิ้นงานแลดูสวยงาม”
...
ในแง่ของการทำตลาด ครูแดงบอกว่า ทุกวันนี้งานคร่ำทองยังจำกัดอยู่ในวงแคบ หรือเพิ่งเปิดตลาดได้ไม่นาน ส่วนใหญ่ผู้ซื้อสินค้า ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มคนที่รู้จัก เห็นคุณค่า และมีกำลังทรัพย์ ทั้งนี้ เพราะงานคร่ำทองทำยาก และใช้เวลานาน แถมยังเป็นศิลปะโบราณที่ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาด จึงมีราคาสูงกว่างานถมทองประมาณ 3-4 เท่าตัว
เขายกตัวอย่างกรอบรูปเหล็กคร่ำทอง สูง 24 นิ้ว กว้าง 16 นิ้ว ต้องใช้เวลาทำนานร่วมปี หรือผอบสำหรับใส่เครื่องหอม คร่ำด้วยทองคำ (ขนาดพอๆกับผอบเบญจรงค์) ราคาใบละ 250,000 บาท ต้องใช้เวลาทำใบละไม่ต่ำกว่า 2 เดือนขึ้นไป เป็นต้น
“งานคร่ำ นอกจากต้องมีอารมณ์ร่วม คือพร้อมที่จะทำแล้ว เมื่อทำไปได้สักชั่วโมง ต้องหยุดพักสายตา เพราะเส้นทองที่ฝังลงบนเนื้อเหล็ก เล็กเท่าเส้นผม”
“อีกอย่าง คนรุ่นหลังที่จะสานต่อศิลปะแขนงนี้มีน้อยมาก ผมเคยฝึกเด็ก 30 คน สุดท้ายใช้งานจริงได้แค่ 2 คน เด็กที่เพิ่งเป็นงานจะจ่ายค่าแรงสูงก็ไม่ได้ เราจึงทดแทนให้เขาในรูปของการกินอยู่พร้อม และปลายปีมีเงินให้อีกก้อน แต่กว่าจะฝึกจนเก่ง เด็กบางคนทนได้ บางคนไม่อดทนพอ หันไปเป็นลูกจ้างตามโรงงาน นี่คืออีกปัญหาที่ไม่รู้ว่าในอนาคตงานหัตถศิลป์แขนงนี้จะอยู่รอดได้นานแค่ไหน”
“วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้งานศิลป์แขนงนี้อยู่รอด ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยขยายตลาดให้ อย่างเช่นที่กรมการพัฒนาชุมชนทำอยู่เวลานี้ คือ ให้มาออกบูธโชว์ พบปะลูกค้า และขายตามงาน เพื่อเป็นทุนรอน ต่อลมหายใจ แต่ถ้าให้ศิลปินอย่างเราไปออกหน้าทำการตลาดเอง ไปไม่รอดแน่” ครูแดงทิ้งท้าย.