เอไอเอส นำสื่อมวลชนติดตามผล “แอปฯ อสม.ออนไลน์” เตรียมหนุนให้เป็น สมาร์ท อสม. ขานรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 พร้อมจับมือ สธ.-ดีอี จัดประกวดการใช้งาน “แอปฯ อสม.ออนไลน์” ทั่วประเทศ เงินรางวัลรวมกว่า 7 ล้านบาท เข้าชมรม อสม.

วันที่ 26 ก.ค.60 นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาบริการสื่อสารโทรคมนาคม และการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสังคมไทย ภายใต้แนวคิด “Digital For Thais” เอไอเอส จึงได้นำเทคโนโลยีดิจิทัล “แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์” เข้าไปส่งเสริมการทำงานด้านสาธารณสุขชุมชนเพื่อร่วมสนับสนุนนโยบายของภาครัฐให้ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่ม สำหรับหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการสื่อสารข้อมูลระหว่างสมาชิกในกลุ่ม ทำให้สมาชิกในเครือข่ายสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณสุขและภัยสุขภาพภายในชุมชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทำให้สามารถควบคุมและป้องกันโรคระบาดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมทั้งให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านในชุมชน

ทั้งนี้เอไอเอสได้มีเปิดบริการ “แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์” มาตั้งแต่ปลายปี 2558 โดยใช้ได้กับทุกเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเมื่อใช้งานบนเครือข่ายเอไอเอสจะไม่เสียค่าบริการอินเทอร์เน็ต ทำให้แอปพลิเคชันนี้ถูกนำไปบูรณาการในการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. ประกอบกับเอไอเอสเองได้มีทีมงานและพนักงานจิตอาสาลงพื้นที่สอนการใช้งาน ติดตามผลรับทราบความต้องการและพัฒนาแอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง

จากกระบวนการทำงานที่ชัดเจน ทำให้แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ได้รับการคัดเลือกจากทั่วโลกให้ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ส่งเสริมกระบวนการทำงาน การเรียนรู้และสุขภาพ ประจำปี 2017 (WSIS 2017 Prizes Winner) จากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) และองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถือเป็นต้นแบบของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในงานด้านสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรม

...

“ปัจจุบันมีหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิและ รพ.สต. ได้นำแอปฯ อสม.ออนไลน์ไปใช้งานแล้วจำนวน 450 แห่งทั่วประเทศ สำหรับในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รพ.สต.บ้านแก้ง อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ เป็นอีกหนึ่ง รพ.สต.ที่ได้นำแอปพลิเคชันนี้มาใช้ในการบริหารจัดการงานด้านสาธารณสุขชุมชนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 และพบว่าได้เห็นผลเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อทั้ง รพ.สต. อสม. และประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนมีแผนการนำแอปพลิเคชันนี้มาใช้ร่วมกันกับ อสม.อย่างเป็นกระบวนการ ทั้งนี้ เอไอเอสมุ่งหวังว่า แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ จะเป็นนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสังคมที่จะก่อให้เกิดคุณค่าต่อสังคมในบริบทชุมชนต่างๆ อย่างแท้จริง โดยเอไอเอสจะทำงานร่วมกันกับ รพ.สต. อสม. และกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาแอปพลิเคชันนี้ให้เกิดประโยชน์ต่องานด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องต่อไป”

ด้านนายสมชาย นาคราช ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการด้านเทคนิค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เอไอเอส กล่าวว่า การจะใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือโทรศัพท์มือถือให้เต็มประสิทธิภาพนั้น ต้องมีเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่ต้องครอบคลุมและมีคุณภาพ เพื่อรองรับการพัฒนาจากการสื่อสารระบบเสียงเป็นการสื่อสารด้วยข้อมูลจำนวนมากโดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสุขภาพ จำเป็นต้องมีผู้ที่มีความรู้ด้านนั้นๆ ช่วยกรองข่าวสารเพื่อให้ข้อมูลน่าเชื่อถือและครบถ้วน ซึ่งแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพที่เชื่อถือได้

"สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารโทรคมนาคมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เอไอเอสได้มีการมีขยายเครือข่าย 3G บนคลื่น 2100 MHz และ 4G บนคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ครอบคลุมทั้ง 20 จังหวัด ด้วยสถานีฐานกว่า 10,000 จุด และแผนขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ใช้งานบนเครือข่ายเอไอเอสสามารถติดต่อสื่อสารและเข้าถึงการใช้งานทั้งแบบเสียงและข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกพื้นที่ครอบคลุมแล้วกว่า 98.72% ของพื้นที่มีประชากรอาศัยอยู่ รวมถึงการใช้งานบนแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ด้วยเช่นเดียวกัน"

นายวิพล โชคบัณฑิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านแก้ง อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า ปัจจุบัน รพ.สต.บ้านแก้ง มีประชากรที่ต้องดูแลรับผิดชอบ 5,663 คน จาก 1,266 ครัวเรือน ในพื้นที่รวม 63 ตารางกิโลเมตร โดยเจ้าหน้าที่ รพ.สต. 5 คน และ อสม. จำนวน 120 คน ทั้งนี้มีโรคระบาดประจำถิ่นที่ต้องเฝ้าระวังคือโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนเป็นประจำทุกปี ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่าง รพ.สต. และเครือข่าย อสม.ต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อนหน้านี้เครื่องมือในการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วที่สุดคือการใช้โทรศัพท์ติดต่อกับประธาน อสม.ตำบล หรือในแต่ละหมู่บ้าน หากไม่เร่งด่วนก็ใช้เอกสารจดหมาย หรือรอการประชุมร่วมกันที่จัดขึ้นเดือนละครั้ง ในบางกรณี รพ.สต.ต้องการข้อมูลด่วนจาก อสม. ก็ต้องให้ประธาน อสม.หมู่นั้นๆ ติดตามจาก อสม.ในพื้นที่ แล้วนำมาส่งเข้ามือถืออีกทอดหนึ่ง หรือหากเป็นการติดตามการลงพื้นที่ทำงานของ อสม. โดยเฉพาะการเฝ้าระวังโรคระบาด หรือการเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง หรือกลุ่มที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ซึ่งต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ทาง รพ.สต.ก็จะได้รับรายงานจาก อสม.ในวันประชุม ซึ่งพบว่าในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในการทำงานร่วมกับเครือข่าอยู่บ้าง แต่เมื่อทราบว่ามีแอปพลิเคชั่นดังกล่าวก็ตอบโจทย์การทำงานได้จริงๆ

นางวรณี รุญสำโภ ประธาน อสม.ตำบลบ้านแก้ง กล่าวว่า ในฐานะประธาน อสม.ของตำบล สิ่งที่ตนเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือ การติดต่อสื่อสารจาก รพ.สต.นั้น ทำได้โดยผ่านแอปฯ อสม.ออนไลน์ ให้ อสม.ทุกคนรู้ได้ทันทีพร้อมๆ กัน ไม่ต้องผ่านตนซึ่งเป็นคนกลางสื่อสารไปยังคนอื่นๆ และยังได้ข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำ เพราะมาจาก รพ.สต.โดยตรง และยังสามารถรับส่งข้อมูลกับทาง รพ.สต. หรือสอบถามผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ได้ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเฝ้าระวังโรคระบาดในพื้นที่ เมื่อ อสม.รู้ข่าวสารพร้อมกัน ก็จะรีบนัดหมายกันเพื่อลงพื้นที่ติดตามและป้องกันโรคได้อย่างทันท่วงที การประสานงานกันก็เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งใบงานประจำเดือนก็สามารถทำได้โดยผ่านแอปฯ นี้ตรงให้ รพ.สต.ได้เลย ทำให้ตนในฐานะประธาน อสม.ไม่ต้องมีภาระในการติดตามรายงานจาก อสม.คนอื่นๆ อีกทั้งช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ต้องการเข้าไปส่งเอกสารที่ รพ.สต.ด้วย 

...

นางสาวิตรี เวียงคำ อสม.หมู่ 5 รพ.สต.บ้านแก้ง กล่าวว่า ตั้งแต่ได้นำแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ มาใช้งานลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วยของ อสม. สามารถถ่ายภาพอาการผู้ป่วยส่งให้กับเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ได้ทันทีตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงบั้นปลายชีวิตผู้ป่วย รวมถึงภาพการลงพื้นที่ และภาพการทำกิจกรรมต่างๆ ของ อสม. ทำให้ รพ.สต.ได้รับข้อมูลที่รวดเร็วและครบถ้วน นอกจากนี้ช่วยให้ อสม.มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องสาธารณสุขเพื่อไปบอกต่อกับคนในหมู่บ้านในชุมชนที่ดูแลได้ตลอดเวลา ถึงแม้ อสม.จะออกไปทำนาก็ตาม ช่วยให้ อสม.ไม่ต้องเข้าไป รพ.สต.เดือนละหลายครั้งเพื่อรับทราบข่าวสารเท่านั้น ส่งผลให้ อสม.ประหยัดเวลาและค่าน้ำมันในการเดินทาง.