‘โกโต้ง’ ตัวการสำคัญโดน75ปี อดีตนายกปาดังฯกับพวก 78 ปี ศาลอ่านคำพิพากษากว่า 13 ชม.

ศาลอ่านพิพากษาคดี “พล.ท.มนัส-โกโต้ง” พร้อมพลเรือน 103 ราย ร่วมกระทำผิดค้ามนุษย์โรฮีนจา โดยกระทำเป็นขบวนการ จัดส่งผู้เสียหายชาวบังกลาเทศและพม่าไปประเทศที่ 3 ราชทัณฑ์ได้เบิกตัวจำเลยทั้งหมดมาฟังคำพิพากษา และเปิดโอกาสให้ญาติเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วยจนแน่นศาล ศาลตัดสินจำคุก “พล.ท.มนัส” มีความผิดมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเป็นข้าราชการต้องรับโทษสองเท่า รวมจำคุกทุกกระทง รวม 27 ปี ส่วน “โกโต้ง” ถูกพิพากษาจำคุกรวม 75 ปี “บิ๊กตู่” ฉุนสื่อจับตาแต่คดีทหารค้ามนุษย์ ปรี๊ดแตกแค่กระพี้ “ไอ้มนัส” คนเดียว

ศาลพิพากษาคดีโรฮีนจา เปิดเผยขึ้นที่ศาล อาญา เมื่อเวลา 06.30 น. วันที่ 19 ก.ค. รถเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 2 คัน คุมตัวจำเลยคดีค้ามนุษย์ โรฮีนจา 103 คน จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครไปฟังคำพิพากษาท่ามกลางการรักษาความปลอดภัย ของตำรวจ บก.ป. ขณะที่ญาติของจำเลยประมาณ 300 คน เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ศาลต้องแยกให้ญาติไปฟังการพิจารณาคดีผ่านการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ที่ห้องพิจารณาคดี 701 และห้องโถงชั้น 2 พร้อมสั่งห้ามบันทึกภาพและเสียงเด็ดขาด

จากนั้นเวลา 08.30 น. เจ้าหน้าที่คุมตัวจำเลยทั้งหมดไปที่ห้องพิจารณาคดี 704 โดยองค์คณะผู้พิพากษาแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการคดีค้ามนุษย์ 1 เป็นโจทก์ ฟ้องนายบรรจง หรือจง ปองพล อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ จ.สงขลา จำเลยที่ 1 นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง หรือเสี่ยโต้ง อดีตนายก อบจ.สตูล จำเลยที่ 29 พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จำเลยที่ 54 กับพวกซึ่งเป็นข้าราชการและพลเรือน เป็นจำเลย 1-103 รวม 11 สำนวน ในความผิด 16 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ พ.ศ.2551 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กร อาชญากรรมข้ามชาติ ฯ พ.ศ.2546 ร่วมกันหรือนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ระหว่างการพิจารณาคดี นายสุรียา หรือโกชัย อาฮะหมัด จำเลยที่ 26 เสียชีวิต ศาลจึงจำหน่ายคดีออกจากสารบบ

...

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายบรรจงจำเลยที่ 1 นายอ่าสัน หรือบังสัน อินทธนู อดีต ส.ท.เมือง ปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 2 และนายประสิทธิ์ หรือบังเบส เหล็มเหล๊ะ อดีตรองนายกเทศมนตรี ต.ปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 6 ฟังได้ว่า จำเลยเป็นขบวนจัดหาแรงงานในพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ การกระทำนั้นเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ ต่อบุคคลที่อายุเกิน 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี และเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

ส่วนนายปัจจุบัน หรือโกโต้ง จำเลยที่ 29 โจทก์มีชาวโรฮีนจาเบิกความในฐานะผู้เสียหายว่า กลุ่มจำเลยมักเรียกจำเลย 29 ว่า “บิ๊กบอส” โดยจำเลยที่ 29 ทำหน้าที่รับแรงงานชาวโรฮีนจาจากทะเลมาขึ้นฝั่งที่ จ.สตูล ก่อนนำแรงงานทั้งหมดไปพักไว้แคมป์คนงานรอเวลาส่งตัวไปประเทศมาเลเซีย ถ้าแรงงานเสียชีวิต จำเลยที่ 29 จะเป็นคนนำผ้ามาให้ห่อศพ แล้วนำไปฝังดิน ขณะที่พยานเบิกความระบุว่า หากติดขัดปัญหาขนส่งต้องเจรจา “บิ๊กบอส” ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถขนส่งแรงงานได้ ในชั้นสอบสวนพยานชี้ตัวยืนยันจำเลยที่ 29 จากคำเบิกความของพยานสอดคล้องกันว่า ทุกครั้งที่เกิดปัญหาจะมีจำเลยที่ 29 เกี่ยวข้องด้วยทุกครั้ง พยานหลักฐานโจทก์สอดคล้องกันยากต่อการปั้นแต่ง ที่จำเลยที่ 29 ต่อสู้เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 29 ขนชาวโรฮีนจาผ่านจังหวัดสตูลขึ้นเทือกเขาแก้วก่อนส่งไปยังประเทศปลายทาง การกระทำของจำเลยที่ 29 มีความผิดฐานเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ร่วมกันค้ามนุษย์เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ร่วมกันค้ามนุษย์เด็กอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ร่วมกันค้ามนุษย์อายุเกินกว่า 18 ปี ร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำผิดค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษเป็น 2 เท่า สมคบกัน 2 คนขึ้นไปเพื่อค้ามนุษย์ ร่วมกันนำพาชาวต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร และให้ที่พักพิงชาวต่างด้าว

ขณะที่ ด.ต.อัศณีย์รัญ นวลรอด จำเลยที่ 7 เห็นว่า พยานเบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ 7 โทรศัพท์ติดต่อกับกลุ่มจำเลยหลายคน แต่ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยที่ 7 ร่วมกระทำผิดฐานค้ามนุษย์ แต่ปรากฏหลักฐานสมุดบัญชีเงินฝากมียอดเงินเดือนเข้าบัญชี เดือนละ 3,000 บาท ไม่สามารถระบุที่มาได้ หน้าที่ของจำเลยที่ 7 ต้องประจำอยู่ที่ด่านตรวจในพื้นที่กลุ่มจำเลยต้องสัญจรผ่าน จำเลยรับเงินค่าผ่านทางขนส่งชาวโรฮีนจา มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ส่วนนายอาบู หรือ ส.จ.บู ฮะอูรา จำเลยที่14 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนว่า ทำหน้าที่รับตัวชาวโรฮีนจาจากที่บ้านวังประจัน จ.สตูล ไปส่งประเทศมาเลเซีย พร้อมระบุการกระทำความผิดของจำเลยอย่างชัดเจน แม้ว่าในชั้นพิจารณาคดีจำเลยที่ 14 จะให้การปฏิเสธเบิกความกลับไปมา ขาดเหตุผลสนับสนุน เชื่อว่าคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนมีความน่าเชื่อถือมากกว่า อีกทั้งมีพิรุธเงินในบัญชี 4.2 ล้านบาท ที่จำเลยที่ 14 อ้างว่า ได้รับโอนมาจากภรรยาจากการค้าขายอาหารทะเล กับจำเลยที่ 67 แต่จำเลยที่ 67 ประกอบอาชีพเกษตรกรไม่มีเหตุผลที่จะซื้ออาหารทะเล ฟังได้ว่าจำเลยที่ 14 มีความผิดฐานเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำผิดค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษเป็น 2 เท่า สมคบกัน 2 คนขึ้นไปเพื่อค้ามนุษย์

ส่วนความผิดของ พล.ท.มนัส คงแป้น จำเลยที่ 54 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนแยกที่ 1 ระนอง ศาลเห็นว่าในช่วงที่มีการพบแรงงานเมียนมาและบังกลาเทศ เป็นชาวโรฮีนจา ทางการมีนโยบายผลักดันกลุ่มแรงงานเหล่านี้ออกจากนอกประเทศ ระหว่างที่ พล.ท.มนัส จำเลย 54 ดำรงตำแหน่ง ผอ.กอ.รมน. ตำรวจสามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวได้ 200 กว่าคน ต้องผลักดันส่งลงเรือลอยลำน่านน้ำสากล เพราะประเทศเมียนมาและบังกลาเทศ ไม่ยอมรับว่าบุคคลดังกล่าวเป็นพลเมือง แต่โจทก์มีแรงงานโรฮีนจา ผู้เสียหายที่ถูกจับกุมช่วงดังกล่าวให้การว่า เคยถูกจับกุมแต่ได้รับการช่วยเหลือกลับมาเข้าแคมป์เทือกเขาแก้ว โดยความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ จากรายงานประวัติรับราชการของจำเลยที่ 54 พบว่า เป็น ผอ.กอ.รมน. ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกชุมพร (ผบ.จทบ.ชุมพร) และผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 จ.สงขลา ช่วงระหว่าง ต.ค.53 ถึงธ.ค.57 แสดงให้เห็นว่าช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยมีความเชื่อมโยงกับการผลักดันแรงงานโรฮีนจาออกนอกประเทศ

...

ขณะที่การตรวจค้นบ้านพักนางอรปภา จันทร์–พ่วง จำเลยที่ 65 และ น.ส.ศิริพร หรือแมว อุดมฤกษ์ จำเลยที่ 82 พบสลิปการโอนเงินเข้าบัญชี พล.ท.มนัส จำเลยที่ 54 ถึง 65 ครั้ง รวม 14,850,000 บาท เป็นการโอนช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.55 ถึง 61 ครั้ง เป็นเงิน 13,800,000 บาทเศษ และในช่วง เดือน ส.ค.56 อีก 2 ครั้ง เป็นเงิน 1 ล้านบาทเศษ เชื่อว่าเงินที่ได้รับโอนบัญชีของจำเลยที่ 54 เป็นผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับขบวนการค้ามนุษย์ อาศัยอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลผู้กระทำความผิดในการค้ามนุษย์ไม่ให้ถูกจับกุม เป็นความผิดฐานร่วมกันสมคบกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ฯ และมีส่วนร่วมเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จำเลยที่ 54 เป็นเจ้าพนักงานต้องระวางโทษ 2 เท่าของความผิด

มีรายงานว่า ศาลได้ใช้เวลาอ่านคำพิพากษาคดีตั้งแต่เวลา 08.30 น.จนถึงเวลา 21.30 น. เป็นเวลา 13 ชั่วโมงแล้วยังไม่เสร็จสิ้น คาดว่าต้องใช้เวลาอ่านคำตัดสินอีกหลายชั่วโมง ทั้งนี้ในส่วนของคำพิพากษา พล.ท.มนัส จำเลยที่ 54 ถูกพิพากษาว่ามีความผิดมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเป็นข้าราชการต้องรับโทษสองเท่าให้จำคุก 8 ปี ฐานค้ามนุษย์อายุเกิน 18 ปี ค้ามนุษย์ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป เป็นเจ้าพนักงานกระทำผิดการค้ามนุษย์ให้รับโทษสองเท่า จำคุก 12 ปี ฐานสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อการค้ามนุษย์อายุเกิน 18 ปี ให้จำคุก 6 ปี ให้ที่พักพิงต่างด้าวจำคุก 1 ปี รวมจำคุกพล.ท.มนัส 27 ปี ขณะที่นายปัจจุบัน หรือโกโต้ง จำเลยที่ 29 ศาลพิพากษาจำคุก 75 ปี ส่วนจำเลยสำคัญรายอื่น เช่น นายบรรจง จำเลยที่ 1 นายอ่าสัน จำเลยที่ 2 นายประสิทธิ์ จำเลยที่ 6 ศาลพิพากษาจำคุกคนละ 78 ปี

สำหรับการอ่านคำพิพากษาวันนี้ ศาลมีคำพิพากษาลงโทษ จำเลย 62 คน โดยได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 94 ปี แต่เมื่อรวมโทษของจำเลยที่มีโทษเกินกว่า 50 ปี ศาลสั่งให้ลงโทษจำคุกจำเลยนั้นมีกำหนด 50 ปี และยกฟ้องจำเลยทั้งสิ้น 40 คน แต่ให้ขังจำเลยไว้ในระหว่างอุทธรณ์ 28 คน โดยให้จำเลยที่วินิจฉัยว่ามีความผิดฐานค้ามนุษย์ ร่วมกันชดใช้สินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายชาวโรฮีนจา
58 คน จำนวนทั้งสิ้น 4,400,250 บาท

...

สายวันเดียวกันที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ให้สัมภาษณ์ถึงคดีนี้ว่า ไม่รู้ว่าการตัดสินของศาลจะมีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศในเรื่องการค้ามนุษย์อย่างไร ถ้าศาลตัดสินอย่างไรก็ตามนั้น กรณีของ พล.ท.มนัสคงเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น มีคนอยู่ในกระบวนการจำนวนมาก “ผมไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องกระพี้แบบนี้คนเดียว หรือแค่ 2-3 คน ต้องไปดูว่าทั้งระบบเป็นอย่างไร การทุจริต การเรียกรับผลประโยชน์ การค้ามนุษย์มีกี่พวก แล้วเดี๋ยวคุณก็คอยแต่จะตีว่าผู้กระทำความผิดเป็นทหาร อย่าลืมว่าทหารทั้งประเทศมีถึง 4-5 แสนคน ไอ้มนัสเพียงคนเดียว มันจะทำให้กองทัพเจ๊งทั้งระบบหรืออย่างไร” ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ออกอาการฉุนเฉียว เมื่อตอบคำถามเสร็จก็รีบเดินเลี่ยงออกจากโพเดียมไปทันที