รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ (KNIT) ให้ความเห็นถึงโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ในงานประชุม วิชาการและนวัตกรรมประจำปี 2560 ขับเคลื่อนธุรกิจ SMEs ยุค 4.0 โดยศูนย์วิจัยและพัฒนา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่า ไม่มีความชัดเจน ไม่มีการส่งเสริมให้เกิดมูลค่า มุ่งลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต การรวมตัวจะให้ใครเป็นผู้นำบริหารยังไม่ชัดเจน รัฐเน้นแต่การอุ้ม ผู้จัดการแปลงที่เข้ามาดูแลหลายแห่งเอา พนักงานส่งเสริมมาเป็นผู้จัดการแปลง บางรายไม่มีจิตสำนึกความเป็นเจ้าของแปลง จึงไม่รู้ลึกถึงปัญหาที่เกิดขึ้น การตัดสินใจแก้ปัญหาจึงไม่ค่อยได้ผล

“โครงการทำนาแปลงใหญ่ ควรเน้นไปที่การยกระดับคุณค่าและมูลค่าข้าว อย่างปลูกข้าวอินทรีย์ ปลูกข้าวพันธุ์เฉพาะแบ่งเป็นกลุ่มๆให้ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก เน้นสร้างผลผลิตมีคุณค่า มีมูลค่าสูงขึ้น วิธีแบบนี้ถึงจะช่วยให้เกษตรกรมีพลังเกิดความเข้มแข็งในการผลิต และต่อไปจะมีกลุ่มมืออาชีพเข้ามาต่อยอดนำนวัตกรรมมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อส่งออก ถ้าทำแบบนี้ได้ เราถึงจะเข้าสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างแท้จริง”

...

ดร.สมพร กล่าวอีกว่า การบริหารจัดการของภาครัฐยังคงเป็นไปแบบหลงทิศหลงทาง อย่างการลงทุนซื้อรถเกี่ยวราคาหลักล้านบาท เป็นการสิ้นเปลือง เพราะแนวโน้มที่ทำกัน มีแต่มุ่งให้นำไปใช้งาน ไม่มี เรื่องซ่อมบำรุงดูแลรักษา หากเครื่องจักรเสียขึ้นมา กว่าจะตั้งเรื่องซ่อม-เบิก ใช้เวลานาน สุดท้ายต้องปล่อยทิ้ง ไม่เหมือนว่าจ้างรถ มาช่วยรวดเดียว กลุ่มนี้เป็นมืออาชีพ เครื่องมือเสียส่วนใหญ่ซ่อมเองในราคาไม่แพงเกินเหตุ

“วิธีแก้ปัญหาเรื่องแบบนี้ทำได้ไม่ยาก แค่ให้ชาวนารวมตัว นัดวันปลูกข้าวให้พร้อมกัน ถึงเวลาเรียกรถมาเกี่ยวข้าวไปพร้อมกัน นอกจากชาวนาจะสามารถต่อรองราคารถเกี่ยวได้ รถเกี่ยวข้าวยังทำงานสะดวก มาหนเดียวเกี่ยวได้ทั้งหมู่บ้าน วิธีนี้ชาวนาในจังหวัดสุพรรณบุรีทำกันมานานแล้ว สุดท้ายเกิดการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ ให้กลุ่มหอการค้าเข้ามามีส่วนร่วม ผลกำไรจึงอยู่ที่ชาวนา ลดต้นทุน เพิ่มกำไรได้แท้จริง” ดร.สมพร กล่าว.