22 มี.ค.วันน้ำโลก รายงานของสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรน้ำประจำปี 2560 ระบุเรียกร้องถึงประชาคมโลกให้ตระหนักถึงน้ำเสียจากครัวเรือน โรงงานอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรไม่ใช่ปัญหา แต่คือทรัพยากรน้ำที่สามารถบำบัดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางความต้องการใช้น้ำมากขึ้นของพลเมืองโลก
ทั้งนี้ ทรัพยากรน้ำเสียจากแหล่งต่างๆมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำลำคลองโดยไม่มีการบำบัด ซึ่งส่วนใหญ่น้ำเสียก่อผลกระทบทั้งต่อสุขภาพผู้คนใช้น้ำและกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำในพื้นที่แถบละตินอเมริกา เอเชียและแอฟริกา ทำให้ผู้คนใช้น้ำหลายล้านชีวิตเสี่ยงต่อสุขอนามัย
ริชาร์ด คอนเนอร์ ผู้เขียนรายงานฉบับนี้ ระบุถึงน้ำเสียจำนวนหนึ่งยังหลงเหลือคุณค่า อาทิ แร่ธาตุฟอสฟอรัสและไนเตรท สามารถถูกแปรสภาพเป็นปุ๋ยเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร หรือนำไปผลิตไบโอแก๊สผันน้ำออกจำหน่ายให้กับภาคอุตสาหกรรม
ข้อมูลจากรายงานฉบับนี้ระบุอีกว่า ภายในปี 2593 คาดหมายว่าพลเมืองโลกจะเพิ่มถึงกว่า 9,000 ล้านคน ชาวโลกจำเป็นต้องใช้น้ำดื่มน้ำใช้เพิ่มขึ้นกว่า 55 เปอร์เซ็นต์ ใช้พลังงานเพิ่มขึ้นกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ การบริโภคอาหารจะเพิ่มขึ้นราว 70 เปอร์เซ็นต์ สถานการณ์ความ ต้องการใช้น้ำจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะต้องแย่งใช้น้ำจากภาคการเกษตร ทำให้ปัญหาจัดสรรน้ำกลายเป็นความท้าทายของประชาคมโลก
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลหลายประเทศมักหยุดการลงทุนสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย เพราะต้องใช้ต้นทุนสูง ขณะที่มนุษย์อวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติต้องใช้ทรัพยากรน้ำแบบหมุนเวียนมาตลอดช่วงเวลา 17 ปี แม้แต่การดื่มกาแฟบนห้วงอวกาศยังใช้น้ำหมุนเวียนจากปัสสาวะหรือใช้น้ำปัสสาวะของใครบางคนมาล้างโกนหนวดในวันรุ่งขึ้น ส่วนผู้คนบนโลกถึง 2 ใน 3 ต้องเผชิญสภาพขาดแคลนน้ำอย่างน้อย 1 เดือนใน 1 ปี โดยเฉพาะผู้คนในจีนและอินเดีย.
...