ธนาคารสัญชาติยุโรปและอเมริกันในนครลอนดอน เริ่มแสดงท่าที่ว่าจะโยกย้ายพนังงานไปประจำในประเทศอื่นๆ แล้ว หลังผลประชามติของสหราชอาณาจักรออกมาว่า พวกเขาต้องการออกจากสหภาพยุโรป...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ภายหลังผลการลงประชามติให้สหราชอาณาจักร (ยูเค) ออกจากสหภาพยุโรป (อียู) นักการธนาคารยุโรปและอเมริกันที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในนครลอนดอน หรือ 'เดอะ ซิตี' (The City) ซึ่งอยู่ในกรุงลอนดอน เตรียมเก็บกระเป๋าย้ายไปยังนครแฟรงค์เฟิร์ต กรุงปารีส หรือกรุงดับลิน โดยนักการเงินการธนาคารส่วนใหญ่เห็นว่า ยูเคควรคงอยู่ในอียู มีบางรายให้ทุนสนับสนุนการรณรงค์การลงประชามติให้ 'คงอยู่' อย่างเปิดเผย เพราะลอนดอนเป็นศูนย์กลางตลาดการเงินยุโรปที่จะต้องมีการโยกย้ายที่ตั้งเพื่อความสะดวกในการดำเนินงานหากยูเคออกจากอียู
ธนาคารเจพีมอร์แกนที่มีพนักงานประจำกว่า 16,000 คนในสหราชอาณาจักรก็ได้แสดงท่าทีที่จะต้องทำการย้ายสำนักงานออกไป "เรามีความจำเป็นที่จะต้องทำการแก้ไขสถานะทางกฎหมายของโครงสร้างระดับยุโรปและเคลื่อนย้ายเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งออกไปด้วย" ฝ่ายบริหารของธนาคารระบุในแถลงการณ์ นายเจมีย์ ดิมอน ประธานกรรมการบริหารกล่าวก่อนการลงประชามติว่า "เจ้าหน้าที่จำนวน 1,000-4,000 คนที่จะต้องโยกย้ายออกไป"
ทางด้านนายจอห์น ครายอัน ประธานดอยช์แบงค์กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า เบรกซิต ส่งผลลบในทุกมิติ โดยธนาคารของพวกเขาซึ่งมีพนักงานประจำในสหราชอาณาจักรจำนวน 9,000 คน ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาหน่วยงานที่จะต้องทำการโยกย้ายไปอยู่ในประเทศยูโรโซน เช่น เยอรมนี
ส่วนธนาคาร HSBC ของอังกฤษก็ประเมินว่าอาจจะต้องย้ายพนักงานจำนวนกว่า 1,000 คนไปยังกรุงปารีส โดยนายดักลาส ฟลินท์ ประธานธนาคารกล่าวเมื่อช่วงฤดูใบไม้ผลว่า "เรามีธุรกรรมด้านธนาคารที่สำคัญมากกับประเทศฝรั่งเศส จึงอาจจำเป็นที่จะต้องโยกย้ายเจ้าหน้าที่ในกรุงลอนดอนขณะนี้ไปยังกรุงปารีส"
...
ขณะที่สำนักงาน ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ หรือ 'PwC' ประเมินว่า โดยภาพรวมแล้วจะมีตำแหน่งงานด้านการธนาคารที่อาจจะต้องโยกย้ายออกไปจากสหราชอาณาจักรจำนวน 70,000 ถึง 100,000 ตำแหน่ง นับถึงปี 2020 ด้านนายทอร์สเตน เบค อาจารย์ประจำ Cass Business School กรุงลอนดอนกล่าวว่า "ผมคิดว่าคงไม่ใช่การลดลงเป็นจำนวนมากในทันทีทันใด แต่จะมีผลกระทบที่กัดเซาะตำแหน่งงานใน เดอะซิตี อย่างช้าๆ" และตอนนี้ก็อยู่ที่ว่าเมืองไหนจะได้รับประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายดังกล่าวไม่ว่าจะเป็น กรุงปารีส นครแฟรงก์เฟิร์ต กรุงดับลิน ประเทศลักเซมเบิร์ก หรือกรุงอัมสเตอร์ดัม
นายซาดิค คาน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนที่อยู่ในฝ่ายสนับสนุนให้คงอยู่ในอียูเรียกร้องให้บริษัทและธนาคารทั้งหลายอย่าตระหนกตกใจโดยยืนยันว่า "กรุงลอนดอนยังคงเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในโลกสำหรับการประกอบธุรกิจ"
ทั้งนี้ เมืองที่เป็นเป้าหมายต่างก็เริ่มปูพรมแดงต้อนรับแล้วเช่น กรุงปารีส เริ่มใช้คำขวัญว่า "Welcome to Paris region" และ "กรุงลอนดอนแห่งใหม่" นครแฟรงก์เฟิร์ตก็ได้เริ่มประชาสัมพันธ์ออนไลน์เปิดสายด่วนให้ข้อมูลพร้อมคำขวัญว่า "Welcome to Frankfurt - What can we do for you?" โดยประเมินว่า พนักงาน 1.5-2% ที่ทำงานในภาคการเงินอยู่กรุงลอนดอนจะย้ายมานครแฟรงก์เฟิร์ตจำนวน 10,000-15,000 คนภายในระยะเวลาห้าปีข้างหน้า