(ภาพ: AFP)

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเกาะติดสถานการณ์ในประเทศอังกฤษ กรณีการเตรียมจัดทำประชามติว่าสหราชอาณาจักรควรจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือไม่ใน 23 มิ.ย.นี้ โดยเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. หรือ 3 วันก่อนจะมีการลงคะแนนชี้ชะตานั้น ทั้งนักการเมืองและกลุ่มธุรกิจ ต่างออกมาแสดงจุดยืนกันอย่างเข้มข้น

นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งสนับสนุนให้ “อยู่” กับสหภาพยุโรป ได้ออกแถลงการณ์โจมตีนายไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรคอิสรภาพ พรรคอิสระ หลังทำโปสเตอร์รณรงค์ให้สหราชอาณาจักรออกจากอียู เป็นภาพคลื่นผู้อพยพหนีภัยสงครามจากภูมิภาคตะวันออกกลาง พร้อมคำบรรยายว่า “ถึงจุดแตกหัก” และข้อความตำหนิอียูว่าทำให้อังกฤษผิดหวัง โดยนายคาเมรอนระบุว่า เป็นการสร้างความแตกแยก ประชาชนควรคิดให้ดีว่าจะเลือกอะไรระหว่างการเป็นประเทศที่มีความอดทนและเสรีนิยม หรือเป็นประเทศที่เอาแต่โทษคนอื่น

เช่นเดียวกับนายจอร์จ ออสบอร์น รมว.คลังอังกฤษ ที่กล่าวว่าเป็นภาพที่เลวทราม เหมือนโฆษณาชวนเชื่อของนาซีเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือแม้แต่นายไมเคิล โกฟ รมว.ยุติธรรมอังกฤษ ซึ่งสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรออกจากอียู ก็กล่าวว่าเห็นแล้วขนลุกไม่ควรทำขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมานายฟาราจกล่าวในทำนองว่า จะไม่ขอโทษเรื่องโปสเตอร์ที่มีภาพยั่วยุดังกล่าว แต่ยอมรับว่ากรณีการสังหารนางโจ คอกซ์ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านแรงงาน ที่ตนมองเป็นการก่อการร้ายนั้น ได้ทำให้การรณรงค์หาเสียงสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรออกจากอียู ถูกบั่นทอนความได้เปรียบไปพอสมควร ส่วนนายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานสภายุโรป กล่าวเรียกร้องให้ชาวอังกฤษโหวตประชามติอยู่กับอียูต่อ

วันเดียวกัน กลุ่มธุรกิจในอังกฤษออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน เจ้าของเครือธุรกิจยักษ์ใหญ่เวอร์จิ้น ระบุว่าสหราชอาณาจักรควรจะอยู่กับอียูต่อ โดยอ้างถึงความลำบากในการทำธุรกิจก่อนที่สหราชอาณาจักรจะเข้าร่วมกับอียู

...

ขณะที่นายริชาร์ สกูดามอร์ ผู้บริหารพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ระบุว่าการแยกตัวจากอียูไม่สอดคล้องกับนโยบายเปิดกว้างของพรีเมียร์ลีก อีกทั้ง 20 สโมสรฟุตบอลก็สนับสนุนให้อยู่ต่อ นอกจากนี้ ผู้บริหารบริษัทรถยนต์ทั้งโตโยต้าอังกฤษ, จากัวร์, แลนด์ โรเวอร์ และบีเอ็มดับเบิลยู ต่างก็สนับสนุนให้อยู่ต่อ ระบุง่ายต่อการขนย้ายสินค้าและการบริการ

กระนั้น ในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ก็มีส่วนที่มองต่างกัน อย่างธุรกิจรถยนต์ที่ระบุว่า รถของอังกฤษส่งออกไปได้ทั่วโลกไม่จำเป็นต้องพึ่งอียู หรือด้านฟุตบอลที่ระบุว่าอยู่กับอียูส่งผลเสียต่อการพัฒนานักเตะในประเทศ และทำให้ไม่สามารถเข้าถึงนักเตะต่างชาติได้เท่าที่ควร