(ภาพ: AP)

การแข่งขันหมากล้อมระหว่างเอไอ อัลฟาโกะ กับเซียนหมากล้อมระดับโลก อี เซดอล ชาวเกาหลีใต้ จบลงแล้วในวันอังคารที่ผ่านมา โดยนายอีพ่ายในเกมสุดท้าย สรุปอัลฟาโกะชนะ 4-1 เกม...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า การแข่งขัน โกะ หรือ หมากล้อม 5 เกมระหว่างปัญญาประดิษฐ์ 'อัลฟาโกะ' (AlphaGo) ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท ดีปมายลด์ ในเครือของกูเกิล กับนาย อี เซดอล เซียนหมากล้อมระดับ 9 ดั้งซึ่งเป็นระดับสูงสุดชาวเกาหลีใต้ โดยมีเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นรางวัล จบลงอย่างเป็นทางการแล้ว หลังนายอีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการแข่งขันเกมที่ 5 เมื่อวันอังคาร สรุปผล อัลฟาโกะ ชนะ 4 เกม ส่วนนายอีชนะเพียงเกมเดียวเท่านั้น

หลังจากจบเกมที่ 5 นายอี ผู้เป็นนักเล่นโกะระดับต้นๆ ของโลก ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวว่า เขารู้สึกเสียใจต่อผลการแข่งขันที่ออกมา แต่ไม่จำเป็นต้องคิดว่า อัลฟาโกะ อยู่เหนือกว่ามนุษยชาติ ตัวเขายังมีเรื่องที่ต้องศึกษาอีกมาก และยอมรับด้วยว่า การแข่งกับอัลฟาโกะ ท้าทายความคิดบางอย่างที่เขามีต่อเกมหมากล้อม

ด้านนายเดมิส ฮาสซาบิส ผู้ก่อตั้งบริษัท ดีปมายด์ ก่อนจะถูกบริษัทกูเกิลซื้อไปในปีพ.ศ. 2557 ระบุว่า การแข่งขันเกมที่ 5 นี้ เป็นเกมที่น่าตื่นเต้นและตึงเครียดที่สุดสำหรับทีมงานของเขา

...

ทั้งนี้ การแข่งขันหมากล้อมเกมระหว่างอัลฟาโกะกับอี เซดอล เกมแรกเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2559 ปัญญาประดิษฐ์เป็นฝ่ายชนะ แม้นายอีจะมีคะแนนนำมาตลอดการแข่งขัน แต่อัลฟาโกะสามารถพลิกกลับขึ้นนำได้ในช่วงปิดกระดาน ทำให้นายอีขอยอมแพ้ ส่วนเกมที่ 2 เกิดขึ้นในวันที่ 10 มี.ค. ซึ่งอัลฟาโกะก็เป็นฝ่ายชนะอีกครั้ง ทำให้นายอีถึงกับออกปากว่า เขาพูดไม่ออกเลย อัลฟาโกะเล่นเกมที่เกือบจะสมบูรณ์แบบ

การแข่งเกมที่ 3 เกิดขึ้นในวันที่ 12 มี.ค. และผลปรากฏว่า อี เซดอล เป็นฝ่ายพ่ายแพ้อีกครั้ง โดยผู้เชี่ยวชาญ 2 คน ซึ่งบรรยายเกมระบุว่า เกมนี้เป็นเกมที่ซับซ้อนยากที่จะติดตาม นายอีแสดงฝีมือในจุดสูงสุดของตัวเองออกมา แต่อัลฟาโกะสามารถเอาชนะไปด้วยวิธีการที่ยอดเยี่ยม ก่อนที่นายอีจะพลิกกลับมาเอาชนะได้เป็นครั้งแรกในเกมที่ 4 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 14 มี.ค. ซึ่งนายอีกล่าวว่า เขาไม่เคยดีใจที่ชนะได้ 1 เกมมากขนาดนี้มาก่อน

อนึ่ง ชัยชนะ 3 เกมรวดของอัลฟาโกะ หมายความว่าเงินรางวัล 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯตกเป็นของบริษัท ดีปมายด์ โดยบริษัทกูเกิลระบุว่า เงินดังกล่าวจะถูกนำไปบริจาคให้แก่ กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ), มูลนิธิสเตม (STEM: Science, Technology, Engineering and Mathematics) และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวกับหมากล้อม

นายฮาสซาบิสกล่าวว่า "เราโชคดีที่ได้เห็นวัฒนธรรมอันน่าเหลือเชื่อ และความตื่นเต้นในเกมหมากล้อม ซึ่งแม้จะเป็นหนึ่งในเกมที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ในสัปดาห์นี้เกมหมากล้อมสามารถดึงดูดความสนใจจากสาธารณชนทั่วทั้งเอเชียและทั่วโลก"