ผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ ยื่นฟ้องร้อง เฟซบุ๊ก โดยกล่าวหาว่า บริษัทสแกนและเก็บข้อมูลในข้อความส่วนตัวของพวกเขา และนำข้อมูลที่ได้ไปหากำไร...
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานเมื่อวันที่ 5 ม.ค. ว่า 'เฟซบุ๊ก อิงค์' บริษัทผู้ให้บริการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ชื่อดังของโลก ถูกยื่นฟ้องร้องในข้อหา สอดแนมข้อความส่วนตัวของผู้ใช้งานเว็บไซต์เฟซบุ๊กอย่างเป็นระบบ และหากำไรด้วยการแชร์ข้อมูลที่ได้มาให้แก่บริษัทโฆษณาและนักการตลาด
ในเอกสารคำร้องซึ่งถูกยื่นโดยผู้ใช้งานเฟซบุ๊กสองคน ที่ศาลในเมือง ซาน โฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อ 30 ธ.ค. ระบุว่า เมื่อผู้ใช้งานส่งข้อความพร้อมลิงค์ของเว็บไซต์ภายนอก เฟซบุ๊กจะสแกนเนื้อหาในข้อความ ตามด้วยลิงค์และสืบค้นข้อมูล เพื่อจัดทำข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของผู้ส่งข้อความ ซึ่งเป็นการละเมิดรัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นส่วนตัวของการสื่อสารอิเล็กทรอนิก (Electronic Communications Privacy Act) และกฎหมายว่าด้วยความเป็นส่วนตัวและการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมของรัฐแคลิฟอร์เนีย
ทั้งนี้ ผู้ฟ้องร้องต้องการให้ศาลรับรองว่า เป็นการฟ้องร้องแบบกลุ่มในนามของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กทุกคน ที่ส่งหรือได้รับข้อความส่วนตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พวกเขายังขอให้ศาลสั่งห้ามเฟซบุ๊กไม่ให้มีการสอดแนมข้อความอีก และเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินสูงสุด 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 330,000 บาท) แก่ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กแต่ละคน
อีกด้านหนึ่ง นางแจ็คกี รูนีย์ โฆษกหญิงของเฟซบุ๊ก ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาดังกล่าว ว่าเป็นการกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานพิสูจน์