คำสั่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ระงับงบประมาณสนับสนุนต่างชาติเป็นเวลา 90 วัน ที่กล่าวถึงในตอนที่แล้ว ถือเป็นประเด็นที่จะส่งผลกระทบไปทั่วโลกไม่ช้าก็เร็ว
เพราะนั่นหมายถึง องค์การหรือหน่วยงานในประเทศต่างๆที่หวังพึ่งงบประมาณจากสหรัฐฯ จะต้องหาทางเอาตัวรอดให้ได้ เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน (กว่าท่อน้ำเลี้ยงจะไหลมาใหม่) หรือไม่ก็ต้องเร่งประเมินความเสี่ยงให้ได้ว่า จะทำเช่นไรหากงบประมาณจะถูกตัดไปอย่างถาวร
สำหรับปี 2567 ประเทศที่รับงบประมาณสนับสนุนจากสหรัฐฯมากเป็นอันดับ 1 คือยูเครน คิดเป็นเงินทั้งหมด 16,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 565,080 ล้านบาท ตามด้วยอันดับ 2 อิสราเอล 3,310 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 112,540 ล้านบาท อันดับ 3 เอธิโอเปีย 1,770 ล้านดอลลาร์ หรือราว 60,180 ล้านบาท
ต่อมาอันดับ 4 คือจอร์แดน 1,720 ล้าน ดอลลาร์ หรือกว่า 58,480 ล้านบาท อันดับ 5 อียิปต์ 1,450 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 49,300 ล้านบาท อันดับ 6 อัฟกานิสถาน ได้รับ งบช่วยเหลือ 1,270 ล้านดอลลาร์ หรือราว 43,180 ล้านบาท อันดับ 7 โซมาเลีย 1,010 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 34,340 ล้านบาท
ยังรวมถึงประเทศที่ติดโผอันดับต้นๆ เช่น ซีเรีย ได้รับงบสนับสนุน 900 ล้านดอลลาร์ หรือราว 30,600 ล้านบาท บังกลาเทศ 550 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 18,700 ล้านบาท หรือกลุ่มชาติอาเซียน “ประเทศไทย” ที่ได้รับการสนับสนุน 105 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3,570 ล้านบาท โดยมี “ฟิลิปปินส์” รับงบสนับสนุนมากที่สุด 260 ล้านดอลลาร์ หรือราว 8,840 ล้านบาท น้อยสุดคือ “สิงคโปร์” 304,600 ดอลลาร์ หรือกว่า 10.3 ล้านบาท
เงินสนับสนุนเหล่านี้แบ่งเป็นก้อนการทหารกับก้อนเศรษฐกิจ ซึ่งทรัมป์ให้สิทธิพิเศษไม่ปิดท่อน้ำเลี้ยงด้านการทหารของอิสราเอลและอียิปต์ แต่การช่วยเหลือประเทศต่างๆในด้านอื่นๆนั้นเรียกได้ว่าไม่เหลือหลอ ทั้งรวมไปถึงโครงการดีๆด้านสาธารณสุขรักษาโรคร้ายแรงด้วยเช่นกัน.
...
ตุ๊ ปากเกร็ด
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม