ในขณะที่ “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” เดินหน้าเต็มสูบ เปิดโครงการ “Stargate” ร่วมลงทุนกับ 3 บริษัทด้าน AI เพื่อพัฒนาโครงสร้าง AI ในสหรัฐอเมริกา ความหวาดกลัวของมนุษย์ว่า AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จะมาแย่งงานทำยังคงคุกรุ่นไปทั่วโลก นับตั้งแต่นักเขียนบทและนักแสดงฮอลลีวูดหยุดงานประท้วง AI เมื่อปีที่แล้ว หลังถูกนายทุนเอาเปรียบใช้ AI เป็นเครื่องมือลดต้นทุน

ในหนังสือขึ้นหิ้งอย่าง “21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21” ของ “ยูวัล โนอาห์ แฮรารี” บอกข่าวดีเกี่ยวกับ AI ว่าอย่างน้อยในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า เราไม่จำเป็นต้องเผชิญกับฝันร้ายที่ AI เกิดจะมี “จิตสำนึก” ลุกขึ้นมาปฏิวัติมนุษย์เพื่อปลดแอกตัวเองจากการเป็นทาส และเข้ายึดครองโลกแทนมนุษย์ กระนั้น ภัยคุกคามจากการแย่งงานทำของ AI คงเป็นสิ่งที่มนุษย์ผู้อ่อนแอและเกียจคร้านยากจะหลีกเลี่ยงได้

ข่าวร้ายสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ผู้เป็นอนาคตของชาติคือ เมื่อเธอโตขึ้น เธออาจจะไม่มีงานทำ!! “ยูวัล” เขียนถึงบทเรียนเรื่องนี้ไว้ว่า การเรียนรู้ของเครื่องจักรและวิทยาการหุ่นยนต์ (robotics) จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตลาดแรงงานแทบจะทุกรูปแบบ ตั้งแต่การผลิตโยเกิร์ตไปจนถึงการสอนโยคะ บ้างก็เชื่อว่าภายในเวลาแค่หนึ่งหรือสองทศวรรษ คนนับพันล้านคนจะกลายเป็นส่วนเกินทางเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มคนโลกสวยเชื่อว่าระบบอัตโนมัติจะยังคงสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ และสร้างความมั่งคั่งเพิ่มเติมให้กับทุกคน ถ้ารู้จักใช้ประโยชน์จาก AI

ความกลัวว่าระบบอัตโนมัติจะมาแย่งงานมนุษย์ และทำให้เกิดการตกงานครั้งใหญ่ เคยเกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 19 เมื่อครั้งเริ่มต้นปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพราะทุกงานที่เสียไปให้กับเครื่องจักร จะมีงานอย่างน้อยอีกอย่างที่เกิดขึ้นใหม่มาแทนที่สำหรับมนุษย์

...

อย่างไรก็ดี กรณีของการปฏิวัติโลกด้วย AI แตกต่างจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างสิ้นเชิง เพราะในอดีตเครื่องจักรแข่งขันกับมนุษย์ในเรื่องความสามารถทางกายภาพ โดยมนุษย์ยังคงผูกขาดความได้เปรียบเหนือเครื่องจักรอย่างมากในเรื่องความนึกคิด แต่เมื่อ AI ถูกพัฒนาให้ฉลาดขึ้นและทำงานได้รวดเร็วขึ้น แถมวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ และทำนายการตัดสินใจของมนุษย์ได้แม่นยำขึ้นทุกที เอาล่ะสิคราวนี้งานที่ต้องอาศัยสัญชาตญาณหยั่งรู้ของมนุษย์ เช่น คนขับรถเก่งๆ, นักการธนาคารเก่งๆ และนักกฎหมายเก่งๆ ก็อาจจะถูกแทนที่ด้วย AI ที่พัฒนาตัวเองจนสามารถแข่งกับเครือข่ายเซลล์ประสาทในการคำนวณโอกาสและสังเกตรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำๆของมนุษย์

ถ้ามีหมอ AI คงจะให้การรักษาคนได้เป็นพันล้านคนด้วยประสิทธิภาพที่ดีกว่าและถูกกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงหมอเก่งๆ ทำนองเดียวกัน พาหนะที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติด้วย AI ก็จะช่วยลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ดีกว่าคนขับรถที่เป็นมนุษย์ เซฟชีวิตคนได้นับล้านคนทุกปี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องบ้าบอที่จะไปขัดขวางไม่ให้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยแบ่งเบางานในวงการขนส่งและการแพทย์ เพียงเพื่อจะปกป้องตำแหน่งงานของมนุษย์

สิ่งที่มนุษย์อย่างพวกเราควรทำคือ การมองหา “งานแบบใหม่” ในยุคปฏิวัติโลกด้วย AI จริงอยู่ที่ว่างานแบบดั้งเดิมในทุกวงการจะต้องสูญเสียให้กับ AI ตั้งแต่วงการศิลปะ ไปจนถึงการดูแลสุขภาพ แต่ AI ก็อาจช่วยสร้างงานใหม่ๆสำหรับมนุษย์ในแบบอื่นๆด้วย แทนที่มนุษย์จะมัวแข่งขันกับ AI พวกเขาควรปล่อยงานรูทีนให้ AI รับมือแทน แล้วพุ่งเป้าไปที่การทำงานบริการและการใช้ประโยชน์จาก AI สร้างทีมใหม่ที่มนุษย์บวกด้วย AI โชว์ความเหนือชั้นในการปฏิบัติงาน เช่น ทำวิจัยค้นพบสิ่งใหม่ๆ, พัฒนายาใหม่ๆ, หาวิธีการผ่าตัดใหม่ๆ ความฉลาดของ AI อาจจะช่วยฟูมฟักนักสืบ, นักการธนาคาร และทหารที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ก็ได้

ส่วนแรงงานไร้ทักษะที่ถนัดทำงานซ้ำซากจะถูกผลักให้เป็น “ชนชั้นไร้ประโยชน์” อยู่ดี บอกเลยว่าไม่มีงานใดที่มนุษย์ทำอยู่แล้วจะปลอดภัยจากการคุกคามของระบบอัตโนมัติในอนาคต เมื่อถึงปี 2050 อาจจะเกิด “ชนชั้นไร้ประโยชน์” เพิ่มขึ้นเต็มบ้านเต็มเมือง พวกเขาไม่ใช่แค่ไร้การศึกษา พัฒนาตัวเองไม่ได้ แต่ยังขาดความเข้มแข็งทางจิตใจ ทำให้ถูกทิ้งรั้งท้ายไม่ได้รับการเหลียวแลกลายเป็นภาระใหญ่ของสังคม อันตรายยิ่งกว่าวิกฤติผู้สูงอายุในปัจจุบันซะอีก.

มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม