ใครบอกว่า “สามก๊ก” เป็นเรื่องไกลตัว มีแต่กลยุทธ์การทหารและการยกทัพจับศึก ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์อะไรได้ในชีวิตประจำวัน แท้จริงแล้วกลับมีขุมทรัพย์ทางปัญญาซ่อนอยู่มากมายใน “สามก๊ก” ที่เปิดประตูสู่การใช้ชีวิตอย่างฉลาด และทันเกมทันคน

“เปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป” ผู้เชี่ยวชาญการปรับประยุกต์ใช้ “สามก๊ก” จนช่ำชอง เผยเคล็ดลับการใช้ชีวิตให้รอดในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยดราม่า โดยรวบรวม 120 บทเรียนไว้ในหนังสือ “อยู่อย่างฉลาด อยู่อย่างสามก๊ก ฉบับสมบูรณ์” พร้อมเปลี่ยนคุณเป็นคนใหม่ที่เลิศล้ำแบบไม่ล้ำเส้น

ไม่ว่ายุคไหนๆมนุษย์ก็มีรักโลภโกรธหลง อยากรวยอยากมีอำนาจและยศถาบรรดาศักดิ์ไม่เคยเปลี่ยนจากเมื่อ 1,800 กว่าปีก่อน แถมนับวันจะยิ่งทวีความอยากขึ้นเรื่อยๆ เคล็ดวิชาจาก “สามก๊ก” จึงไม่เคยตกยุค และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างทันยุคทันเหตุการณ์เสมอ ทั้งเพื่อการหาโอกาสสร้างความสำเร็จในชีวิต ขณะเดียวกันก็ใช้เป็นคาถาป้องกันตัวไม่ให้ถูกหลอกลวงจากพวกเหลี่ยมจัด

“ระวังภัยจากคนใกล้ตัว” คนเก่งมักตายน้ำตื้น ผู้ยิ่งใหญ่มักเสียท่าคนใกล้ตัว ถอดบทเรียนจากตอน “โจโฉ” ขอสวามิภักดิ์ “ตั๋งโต๊ะ” จนเชื่อใจกลายเป็นคนสนิท หลายคนนึกว่า “โจโฉ” อยากเลื่อนขั้นถึงขนาดยอมก้มหน้ารับใช้ทรราช แต่ลึกๆแล้วเขามีแผนตีสนิทเพื่อจะฆ่า “ตั๋งโต๊ะ” แม้การลอบสังหารจะล้มเหลว แต่ใช่ว่าเจ้านายทุกคนจะโชคดีเหมือน “ตั๋งโต๊ะ” บทเรียนนี้สอนว่าอย่าไว้ใจคนใกล้ตัว เพราะเมื่อเราอยู่ใกล้คนที่วางใจ การป้องกันตัวจะลดลง และเผยจุดอ่อนออกมา

“ทำงานต้องมีแผนสำรอง” มีคนสองประเภทที่มองข้ามแผนสำรอง พวกแรกคือคนที่มั่นใจตนเองมาก เชื่อว่างานแค่นี้ไม่ต้องเผื่อแผนสำรอง และอีกพวกคือคนไม่รอบคอบโดยกำเนิด ถอดบทเรียนจากตอน “โจโฉ” ต้องหนีสุดชีวิต หลังแผนการสังหาร “ตั๋งโต๊ะ” ล้มเหลว กลายเป็นนักโทษที่มีค่าหัวสูงสุดในแผ่นดิน สถานการณ์ดังกล่าวเกิดจากความกล้าหาญที่ไม่รอบคอบของ “โจโฉ” เนื่องจากเชื่อมั่นในตนเองสูงเกินไป ทำให้ไม่คิดแผนสำรองไว้ เมื่อจวนตัวต้องหนี สุดท้ายบ่าวไพร่และคนในบ้านถูกฆ่าตายเรียบ หลายคนเก่งกาจแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากความเก่งกล้าเกินไปทำให้บดบังสติ ลืมไปว่างานทุกอย่างมีโอกาสผิดพลาดได้ เพราะเราไม่สามารถควบคุมทุกปัจจัย ไม่ว่าทำอะไรจึงควรมีแผนสำรองเสมอ

...

“เมื่ออคติบดบัง...การตัดสินใจย่อมผิดพลาด” ปัญหาของการสื่อสารคือ ความเชื่อและอคติ ที่ตีกรอบความคิดไว้จนความจริงไม่มีที่ยืน นำไปสู่การตีความผิดๆ และการตัดสินใจที่พลาด ถอดบทเรียนจากตอน “โจโฉ” หนีความผิดมาขอพักที่บ้าน “แปะเฉีย” เพื่อนของพ่อ พลันได้ยินเสียงลับมีดและคำพูดลอยมาจากครัวว่าจะมัดก่อน หรือฆ่าเสียทีเดียว ด้วยความวิตกกลัวถูกฆ่า จึงชักกระบี่ล้างครอบครัว “แปะเฉีย” ก่อนจะพบว่าที่ได้ยินหมายถึงสุกรในครัว เมื่อหนีออกมาเจอ “แปะเฉีย” ก็ฆ่าทิ้งอีกคนเพื่อปิดปาก สร้างโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าจากอคติผิดๆ ทางที่ดีก่อนตัดสินใจทำสิ่งใด ขอให้ทบทวนก่อนว่ามันอยู่บนพื้นฐานของความจริงหรือไม่ อย่าปล่อยให้อคติในหัวทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดซ้ำๆ และเสียโอกาสดีๆในชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย

“ไม่ได้ร่วมทางย่อมไม่รู้นิสัย” คนจำนวนมากตัดสินคนอื่นด้วยข่าวลือ ขณะที่คนจำนวนไม่น้อยตัดสินคนอื่นจากภายนอก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแค่เปลือกนอกที่สร้างได้ ถอดบทเรียนจากตอน “นายอำเภอตันก๋ง” ช่วยแหกคุกให้ “นักโทษโจโฉ” และยอมสละทุกอย่างเพื่อติดตาม “โจโฉ” แต่พอเห็นความโหดของ “โจโฉ” ที่ฆ่าล้างครอบครัว “แปะเฉีย” ด้วยความเข้าใจผิด แถมยังฆ่า “แปะเฉีย” ปิดปาก ทำให้ได้สติคิดว่าคนเราเมื่อผิดแล้วก็ควรสำนึก ไม่ใช่ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ภายหลัง “ตันก๋ง” จึงชิงชัง “โจโฉ” และขอแยกทางใครทางมัน คนเราจะรู้นิสัยใจคอต้องทำงานร่วมกัน ทำให้เห็นสันดานธาตุแท้ บางคนเก่งแต่ปาก แต่พอร่วมงานด้วยก็ชอบเอาเปรียบกินแรงเพื่อนร่วมงาน ไม่มีความรับผิดชอบ เจอแบบนี้ต้องหนีให้ไกล

“อย่าประเมินคุณค่าคนอื่นต่ำเกินไป” ความผิดพลาดอย่างหนึ่งที่เรามักพบคือการประเมินคุณค่าของผู้อื่นต่ำเกินจริง ทำให้อาจมองข้ามคนมีฝีมือไปอย่างน่าเสียดาย ถอดบทเรียนจากตอน “กวนอู” อาสาออกศึกสู้กับ “ฮัวหยง” ในศึก 18 หัวเมืองโค่นทรราช ตั๋งโต๊ะ แรกๆโดนดูแคลนว่าเป็นแค่พลทหาร แต่ “โจโฉ” เห็นแวว “กวนอู” จึงหยิบยื่นโอกาสให้ออกรบ ปรากฏว่า “กวนอู” ตัดหัว “ฮัวหยง” มาได้จริงๆ ถ้าประยุกต์มาใช้ให้ทันสมัย ก็ต้องบอกว่าลองเฟ้นหา “กวนอู” ในองค์กรดู อาจจะเจอเพชรในตมที่ทั้งห้าวหาญและซื่อสัตย์กตัญญูรู้คุณคนแบบกวนอู!!

มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม