หนึ่งในคำสั่งฝ่ายบริหารที่ ประธานาธิบดีทรัมป์ ลงนามในวันแรกที่รับตำแหน่งคือ ให้ชะลอการบังคับใช้คำสั่งห้ามให้บริการแอปพลิเคชันติ๊กต่อก (TikTok) ในสหรัฐฯ ตามคำพิพากษาของศาลสูงสหรัฐฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 19 ม.ค. โดยทรัมป์ให้ขยาย เวลาออกไปอีก 75 วัน แต่ไม่มีรายละเอียด แต่มีข่าวว่า อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Tesla และ Space x หนึ่งในทีมงานของรัฐบาลทรัมป์สนใจที่จะซื้อบริษัทติ๊กต่อก และ ประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ให้สัมภาษณ์ว่า เขายินดีที่อีลอน มัสก์ หรือ แลร์รี เอลลิสัน ประธานออราเคิล จะเข้าซื้อกิจการติ๊กต่อกผ่านการร่วมทุนกับรัฐบาลสหรัฐฯ
การให้สัมภาษณ์ของ ประธานาธิบดีทรัมป์ แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่า คำสั่งเลื่อนการแบนติ๊กต่อกออกไปอีก 75 วัน ก็เพื่อเปิดโอกาสให้มหาเศรษฐีในกลุ่มทรัมป์เข้าซื้อกิจการติ๊กต่อกนั่นเอง
ประธานาธิบดีทรัมป์ ให้สัมภาษณ์ระหว่างเปิดตัว “โครงการ Stargate” ที่ทำเนียบขาว ซึ่งเป็นโครงการลงทุน “โครงสร้างพื้นฐาน ปัญญาประดิษฐ์” ครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 500,000 ล้านดอลลาร์ 17 ล้านล้านบาท โดย 3 บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ Softbank OpenAI และ Oracle ร่วมลงทุน ทรัมป์พูดถึงอนาคตของ TikTok อย่างไม่อ้อมค้อมว่า “ผมมีสิทธิ์ทำข้อตกลงนี้ สิ่งที่ผมกำลังจะบอกก็คือ ซื้อเลย แล้วแบ่งครึ่งหนึ่งให้สหรัฐอเมริกา แล้วเราจะให้ใบอนุญาตคุณคุณก็จะมีพันธมิตรที่ยอดเยี่ยม ทรัพย์สินคุณจะไม่มีมูลค่าเลย หรือมีมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์ ขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐฯจะอนุญาตให้ดำเนินกิจการหรือไม่”
เหมือน การปล้นกลางแดด เลยละ
ประธานาธิบดีทรัมป์ เคยออกคำสั่งแบนติ๊กต่อกมาครั้งหนึ่งแล้วในปี 2563 สมัยเป็นประธานาธิบดีครั้งแรก โดยตั้งข้อหาความกังวลเรื่องการถ่ายโอนข้อมูลผู้ใช้ติ๊กต่อกไปยังรัฐบาลจีน และเรียกร้องให้ ByteDance บริษัทแม่ TikTok ขายหุ้นติ๊กต่อกในสหรัฐฯ เพื่อแยกออกจากกัน เมื่อ โจ ไบเดน ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีก็ได้สั่งเพิกถอนคำสั่งทรัมป์ แต่ติ๊กต่อกก็ยังไม่พ้นกรรม เพราะ FBI และ คณะกรรมการกำกับดูแลการสื่อสารของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ กล่าวหาว่า ไบท์แดนซ์อาจแบ่งปันข้อมูลผู้ใช้ติ๊กต่อกให้รัฐบาลจีน
...
ทำเนียบขาว ได้สั่งให้หน่วยงานรัฐบาลกลาง ลบทิ้งแอปติ๊กต่อก จากอุปกรณ์ของรัฐบาลกลางทั้งหมด กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็สั่งห้ามใช้แอปติ๊กต่อกในโทรศัพท์กองทัพทุกเครื่อง
เมษายน 2567 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามในกฎหมายฉบับใหม่ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรส กำหนดให้ ByteDance ต้องขายแอป TikTok ที่มีชาวอเมริกันใช้งานกว่า 170 ล้านคน ภายใน วันที่ 19 ม.ค.2568 มิฉะนั้นจะถูกแบนการใช้งานทั่วประเทศ ติ๊กต่อก และไบท์แดนซ์บริษัทแม่ในจีนก็สู้ด้วยการ ฟ้องศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ และ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดสหรัฐฯได้วินิจฉัยเห็นพ้องตามกฎหมายสหรัฐฯ ซึ่งระบุให้ ByteDance บริษัทแม่ในจีนขายกิจการ TikTok ในสหรัฐฯ ภายในวันที่ 19 ม.ค. มิฉะนั้นจะถูกสั่งแบนทั่วประเทศ
แอปพลิเคชัน TikTok ก่อตั้งโดย ByteDance บริษัทเอกชนจีน มีสำนักงานใหญ่อยู่กรุงปักกิ่ง เป็นแอปคลิปวิดีโอสั้นที่ได้รับความนิยมสูงทั่วโลก นักวิเคราะห์ประเมินว่า มูลค่าธุรกิจของ TikTok ในสหรัฐฯอยู่ที่ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ ประธานาธิบดี ทรัมป์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคารว่า TikTok อาจมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ถ้ามีใบอนุญาตในสหรัฐฯ
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ตอนนี้มีมหาเศรษฐีสหรัฐฯต่อคิวเข้าซื้อกิจการ TikTok กันมากมาย นอกจาก อีลอน มัสก์ และ แลร์รี เอลลิสัน จาก Oracle แล้ว ยังมี สตีเวน มนูชิน อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ แฟรงค์ แม็กคอร์ต มหาเศรษฐีเจ้าของทีมเบสบอลลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส เขาบอกว่า ได้รับเงิน 20,000 ล้านดอลลาร์จากข้อตกลงด้วยวาจาจากกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการซื้อกิจการติ๊กต่อก วันนี้จีนมี 2 ทางเลือก คือ ขายกิจการ TikTok ในสหรัฐฯ รับเงิน 50,000 ล้านดอลลาร์ หรือไม่ก็ ปิดกิจการ TikTok ในสหรัฐฯ เพื่อไม่ให้อเมริกาได้เป็นเจ้าของ แต่ก็ต้องเสียกิจการที่มีมูลค่ามหาศาล.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม