ประเด็นเกาะ “กรีนแลนด์” ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก ยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องจากสื่อต่างประเทศ หลังสถานการณ์กำลังมุ่งไปสู่การเผชิญหน้าระหว่าง 2 มหาอำนาจ

โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงเจตจำนงว่ากรีนแลนด์ เขตปกครองตนเองของเดนมาร์ก มีความจำเป็นต่อ “ความมั่นคงของสหรัฐฯ” ถึงขั้นไม่กล้าที่จะรับปากว่า จะไม่ใช้กำลังทางทหารเข้ายึดครอง หรือใช้แผนการกดดันทางเศรษฐกิจเข้าเล่นงาน หากรูปการณ์ไม่เป็นไปดั่งใจนึก

ขณะที่รัฐบาลรัสเซียก็เริ่มออกมาตั้งคำถามว่า สหรัฐฯพยายามคุกคามภูมิภาคอาร์กติก หนึ่งในพื้นที่อิทธิพลของรัสเซียหรือไม่ เพราะมีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐฯต้องการอัปเกรดโครงสร้างทางการทหารในกรีนแลนด์

ทั้งนี้ กรีนแลนด์เป็นดินแดนของเดนมาร์ก แต่หลังจากตกอยู่ภายใต้การปกครองของนาซีเยอรมนี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทำให้ถูกสหรัฐฯเข้าควบคุมเรื่อยมา จนกระทั่งปี 2522 กรีนแลนด์จึงได้รับสิทธิในการ “ปกครองตนเอง” ตามด้วยปี 2552 อำนาจในการ “จัดทำประชามติ” หากวันหนึ่งต้องการเป็นเอกราช

ด้วยเหตุนี้เลยเป็นที่มาของความพยายามแก้ไขสถานการณ์ โดย “มิวต์ เอกีด” นายกรัฐมนตรีกรีนแลนด์ ได้ประกาศว่ากรีนแลนด์มุ่งมั่นที่จะได้รับ “เอกราช” คนกรีนแลนด์เหมือนกับคนทั่วโลก คือไม่อยากอยู่ใต้การปกครองของเดนมาร์กหรือวอชิงตันแต่อย่างใด

“ในอนาคตเราจะมีการจัดทำประชามติแยกตัวเป็นเอกราช” ซึ่งประโยคนี้ถือเป็นการดักคออย่างชาญฉลาด เพราะหากกรีนแลนด์รับเอกราช ย่อมหมายถึงการเจรจารื้อข้อตกลงต่างๆกันใหม่ทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นการเปิดทางให้ติดต่อหารือกับ “ประเทศอื่นๆ” ได้เช่นกัน ไม่ต้องพ่วงไปกับสายใยความสัมพันธ์ของเดนมาร์ก

...

โยนบอลให้ทรัมป์ตัดสินใจว่า มาคุยกันในตอนนี้ที่ยังพอตกลงอะไรกันง่ายๆจะดีกว่าหรือไม่ ภายใต้กรอบที่ว่ากรีนแลนด์ไม่ใช่ ของซื้อของขาย และไม่มีวันที่จะขายให้ใคร.

ตุ๊ ปากเกร็ด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม