อุณหภูมิความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ “การแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ และจีน” ยังมีแนวโน้มขยายสมรภูมิออกไปในหลายประเทศ จับสัญญาณได้จาก “โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ” ประกาศจะยึดครองกรีนแลนด์ และคลองปานามา กลายเป็น ปัจจัยเสี่ยงความขัดแย้งใหม่ในปี 2568

เนื่องจาก “ทรัมป์” เคยแสดงความสนใจระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งว่า “จะซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์กมาเป็นดินแดนปกครองของตนเอง” เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการทหาร และเส้นทางการค้าสำคัญ หากเรื่องนี้ทำจริงๆ “เดนมาร์กคงไม่ยอม” ย่อมนำไปสู่ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศรุนแรงขึ้นก็ได้

เรื่องนี้นักวิเคราะห์หลายคนก็เชื่อว่า “ไม่บานปลายเป็นสงคราม” เพราะเดนมาร์กยังเป็นประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ “แต่ทรัมป์ไม่หยุดเท่านั้นยังเรียกร้องให้รัฐบาลปานามาคืนคลองปานามา” ที่สร้างขึ้นโดยสหรัฐฯ เปิดใช้งานปี 1914 อยู่ภายใต้การควบคุมมาจนในปี 1999 ก่อนปานามาจะสามารถควบคุมได้อย่างเต็มที่

...

เพราะด้วยคลองแห่งนี้ “ตัดผ่านประเทศในอเมริกากลาง” เป็นเส้นทางเชื่อมสำคัญระหว่าง “มหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก” เมื่อเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 “จีน” เข้ามามีบทบาทช่วยเหลือทำการค้ากับรัฐบาลปานามา “ทรัมป์” จึงต้องเข้ามาสกัดอิทธิพลจีน นำมาสู่การขอคืนคลองปานามามาดูแลเอง

แล้วเชื่อว่า “รัฐบาลปานามาคงไม่ยอมแน่” จึงจะทำให้เกิดกระแสต่อต้านสหรัฐฯในละตินของกลุ่มขบวนการฝ่ายซ้ายกลายเป็นชนวนใหม่ความขัดแย้งที่น่าจับตาอย่างใกล้ชิด รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย บอกว่า

สำหรับกรณีกรีนแลนด์ และคลองปานามาเป็นสถานการณ์ใหม่ “อันมีความเสี่ยงนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ” จะส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก และมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ส่วนสถานการณ์ “ตะวันออกกลางแม้ยังตึงเครียด” แต่สงครามกลางเมืองในซีเรียที่ยืดเยื้อมานานก็มีแนวโน้มดีขึ้น

นับแต่ฝ่ายต่อต้านโค่นล้ม “ระบอบอัล–อัสซาด” จากนี้ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่จะควบคุมแก้ปัญหาการเมืองแบบใด โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มมีส่วนร่วมบริหารประเทศ เพื่อไม่ให้มีความขัดแย้งใหม่ขึ้น

ประเด็นว่า “สถานการณ์ซีเรียยังมีผลต่ออิหร่านอ่อนกำลังลง” ด้วยอิหร่านใช้ซีเรียเป็นฐานสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารของฮิซบอลเลาะห์ “สร้างปัญหาต่ออิสราเอล” ขณะที่อิสราเอลก็ฉวยโอกาสช่วงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนี้ “ทำลายโครงการพื้นฐานของซีเรีย” ส่งผลให้กลุ่มปฏิปักษ์ต่ออิสราเอลอ่อนกำลังลงเช่นกัน

ในส่วน “สมรภูมิรัสเซีย–ยูเครน” ก็มีแนวโน้มดีขึ้นสามารถสังเกตจาก 2 ฝ่ายเริ่มหยุดยิง มีโอกาสนำไปสู่การเจรจาหลังโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ หากรัสเซียครอบครองพื้นที่ที่เป็นดินแดนคนเชื้อสายรัสเซียแล้วยูเครนยอมรับข้อตกลง “สงคราม ก็ยุติ” แต่อย่างไรก็ดี 2 สมรภูมินั้นเป็นเพียงปัจจัยเก่าที่เกิดขึ้น

ต่อมาคือ “สงครามการค้าจีน–สหรัฐฯ” เป็นอีกปัจจัยจะกระทบต่อระบบการค้าโลก “อันจะส่งผลต่อไทยในครึ่งปีหลัง 2568” เพราะไทยเป็นประเทศเกินดุลการค้าของสหรัฐฯ ติด 1 ใน 10 จึงมีโอกาสถูกขึ้นกำแพงภาษีเช่นกัน เพราะรัฐบาลทรัมป์ 2.0 มีเป้าหมายในการขึ้นภาษีทุกประเทศที่ได้ดุลการค้าสูงๆ

...

ไม่เท่านั้นทรัมป์ยังประกาศขึ้นภาษีการนำเข้าจากเม็กซิโก และแคนาดา เพราะจีนได้เข้าไปทำการค้าในประเทศเหล่านี้อันเป็นประเทศเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ “NAFTA” ที่สหรัฐฯ เม็กซิโก แคนาดาตกลงต่อกันไว้

หากมาดูแนวโน้มการลงทุนปี 2568 “ไทย” น่าจะปรับตัวดีทั้งการลงทุนภาครัฐ และภาคเอกชน คาดว่าอัตราการขยายตัวของภาคการลงทุนจะอยู่ที่ 3.5-4% โดยอัตราการขยายตัวการลงทุนภาครัฐ 6-7% และอัตราการขยายตัวของภาคเอกชน 2.8-3.2% แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่อาจก้าวข้ามพ้นการฟื้นตัวแบบรูปตัวเค K-Shape

ยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นอีก “ไทยเป็นประเทศ” มีระดับการเลื่อนชั้นทางสังคม และเศรษฐกิจต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย เพราะมีถึง 3 ระบบ และสภาวะที่แตกต่างกันจากปัญหาเชิงโครงสร้าง 1. เศรษฐกิจนอกระบบ 2.เศรษฐกิจของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และยากจน

ข้อ 3.เศรษฐกิจของกลุ่มชนชั้นนำที่มีอำนาจผูกขาด “โอกาสคนยากจน–ครัวเรือนรายได้น้อย” จะสามารถเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมได้ไม่ถึง 40% ทำให้คนเหล่านี้อยู่ในกับดักความเป็นหนี้ และความยากจนข้ามรุ่น หากไม่อาจทำให้จีดีพีขยายตัวเต็มศักยภาพ และกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมายังคนส่วนใหญ่

...

สิ่งนี้ย่อมไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนึ่งประเทศหลายระบบได้ ทั้งประเทศไทยยังมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายหลายมาตรฐาน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงความยุติธรรม และโอกาสทางเศรษฐกิจอีกด้วย

ประเด็นคือ “การประเมินปัญญาประดิษฐ์ใช้การเรียนรู้เชิงลึก” ในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ สามารถเพิ่ม GDP ไทยได้ไม่ต่ำกว่า 5% ใน 4-5 ปีข้างหน้า “หากมีการลงทุนอย่างจริงจัง” ในการเพิ่มผลิตภาพทุนและแรงงานอาจกระทบต่อตลาดแรงงานบางส่วนที่ Gen AI เข้าไปแทนที่การทำงานได้เกือบทั้งหมด

ส่วนภาพรวม “ตลาดแรงงานระยะยาวกระทบเพียงเล็กน้อย” เพราะผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจโดยรวมที่สูงขึ้น “จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก” การจ้างงานโดยรวมเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจมีตลาดแรงงานตึงตัว อย่างไรก็ตามจากการประเมินการเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงานจะไม่มากเท่าตำแหน่งงานที่หายไป

เพราะการขยายตัวเพิ่มขึ้นของจีดีพี และผลิตภาพ “ไม่ได้สัดส่วนกับการเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน” ขณะที่แรงงานมนุษย์จะมีอำนาจต่อรองน้อยลง “ในระบบเศรษฐกิจ” คงเป็นหน้าที่ของรัฐ และสหภาพแรงงานในการทำให้มูลค่าส่วนเพิ่มทางเศรษฐกิจถูกแบ่งปันอย่างเป็นธรรม

...

ดังนั้นหากไทยไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีแผน ไม่มีแนวทางชัดเจนการลงทุนเกี่ยวกับ AI ก็เป็นเพียงประเทศซื้อใช้เทคโนโลยีไปเรื่อยๆ “ไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตพัฒนาต่อยอดสร้างเทคโนโลยีด้วยตัวเอง” แต่หากพัฒนาเทคโนโลยีได้เอง “มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น” จะเพิ่มอย่างมากเช่นเดียวกับ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นที่ทำสำเร็จมาแล้ว

นี่เป็นทิศทาง “เศรษฐกิจโลก” ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ปี 2568 ที่ยังมีสงครามเก่า และกำลังจะก่อเกิดความขัดแย้งใหม่ในหลายพื้นที่ของโลก อันจะมีความเสี่ยงขยายวง ยืดเยื้อ หรือทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลทำให้การค้าโลกปั่นป่วนแน่ๆ “ประเทศไทย” จึงจำเป็นต้องติดตามเรียนรู้เพื่อปรับตัว.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม