ยุคสมัยนี้เต็มไปด้วยคอนเทนต์แชร์เทคนิคทำคลิปยังไงให้ปัง เพราะใครๆก็อยากเป็นดาว TikTok และอินฟลูเอนเซอร์ในโลกโซเชียล จะได้เด่นดังโกยรายได้เข้ากระเป๋า ไม่ว่าคุณจะเป็นนักโฆษณาที่อยากขายสินค้า, อินฟลูเอนเซอร์ที่อยากเพิ่มยอดวิว, ครูที่อยากได้ใจลูกศิษย์ หรือผู้บริหารที่อยากสร้างแรงจูงใจให้พนักงานทำตาม กุญแจแห่งความสำเร็จอยู่ที่การสื่อสารให้คนสนใจและจดจำได้แบบติดหนึบไม่มีวันลืม

แล้วสื่อสารแบบไหนถึงจะทำให้คนติดหนึบชนิดลืมไม่ลง!! มีคำตอบอยู่ในหนังสือเบสต์เซลเลอร์อย่าง “MADE TO STICK” เขียนโดย “ชิพ ฮีธ” ศาสตราจารย์ประจำโรงเรียนธุรกิจของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ “แดน ฮีธ” นักวิชาการอาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ก

กุญแจไขสู่ความติดหนึบติดแน่นไม่มีวันลืม ประกอบด้วย 6 หลักการสำคัญ ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้ ท่ามกลางความเยอะของผู้คนยุคปัจจุบัน “ความเรียบง่าย” กลับเป็นอาวุธทรงพลังที่สุดในการสื่อสารให้ติดหนึบ โดยสูตรลับอยู่ที่ “เรียบง่าย = แก่นความคิด+กระชับ” หาแก่นให้เจอ แล้วซัดหมัดเดียวจอด เน้นการสื่อสารแบบกระชับสั้นๆประโยคเดียว ไม่ต้องร่ายยาว

“เหนือความคาดหมาย” พยายามสั่นคลอนสิ่งที่ผู้คนคาดคิด และนำเสนอสิ่งที่ขัดแย้งกับสัญชาตญาณ โดยใช้ความประหลาดใจมาเรียกแขก พร้อมกระตุ้นให้เกิดความกระหายใคร่รู้เพิ่ม โดยเปิดช่องว่างในความใคร่รู้ของพวกเขาอย่างเป็นระบบ แล้วจึงค่อยเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว ตัวอย่างเช่น การพูดถึงข้าวโพดคั่วถุงเดียวที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพพอๆกับการกินอาหารอุดมด้วยไขมันตลอดทั้งวัน ทำให้เกิดการถกเถียงและเป็นกระแสไวรัลได้ไม่ยาก

...

“จับต้องได้” แนวคิดที่ติดหนึบโดยธรรมชาติจะเต็มไปด้วยภาพที่ชัดเจนจับต้องได้ เพราะสมองมนุษย์ถูกสร้างให้จดจำข้อมูลที่จับต้องได้ง่ายมากกว่าอะไรที่เป็นนามธรรม อธิบายให้เห็นภาพด้วย “ทฤษฎีความทรงจำแบบตีนตุ๊กแก” ความทรงจำของเราไม่เหมือนกับตู้เก็บเอกสาร แต่เหมือนแถบตีนตุ๊กแก ด้านหนึ่งปกคลุมด้วยตะขอเล็กๆหลายพันอัน ส่วนอีกด้านปกคลุมด้วยห่วงเล็กๆหลายพันห่วง เมื่อนำทั้งสองด้านประกบเข้ากัน ตะขอจำนวนมากจะเกี่ยวห่วงเอาไว้ แถบตีนตุ๊กแกจึงเชื่อมติดกันได้ สมองของเรามีห่วงแบบนี้อยู่เพียบ ยิ่งแต่ละแนวคิดมีตะขอปกคลุมอยู่มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งติดหนึบในความทรงจำมากเท่านั้น เช่น เมื่อนึกถึงโมนาลิซา กระตุ้นให้เราเห็นภาพรอยยิ้มลึกลับทันที

“น่าเชื่อถือ” ทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่ยอมรับแนวคิดเราโดยไม่รู้สึกเคลือบแคลงสงสัย แนวคิดติดหนึบต้องมีความน่าเชื่อถือในตัวมันเอง ต้องเปิดโอกาสให้ผู้คนทดสอบแนวคิดเราได้ คล้ายกลยุทธ์ทดลองก่อนซื้อ การใช้ตัวเลขสถิติเพื่อสร้างความน่าเชื่อถืออาจน่าเบื่อเกินไป เมื่อเทียบกับการใช้วิธีตั้งคำถามง่ายๆให้ผู้คนได้ลองไตร่ตรองด้วยตัวเอง

“เร้าอารมณ์” ธรรมชาติสร้างมนุษย์ให้เกิดอารมณ์ร่วมกับบุคคล และไม่ค่อยรู้สึกรู้สากับอะไรที่เป็นนามธรรม จึงมีแนวโน้มจะบริจาคสิ่งของให้คนในละแวกบ้านที่มีฐานะยากจน มากกว่าบริจาคให้ประเทศที่ยากไร้ซึ่งอยู่ห่างไกลคนละทวีป การปลุกเร้าอารมณ์ให้รู้สึกเชื่อมโยง, ชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ส่วนตัว และการพุ่งเป้าไปที่ตัวตน เป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจและยอมรับฟังแนวคิดของเรา

“เป็นเรื่องเล่า” ไม่มีอะไรจะสะกดผู้คนให้หยุดฟังได้ดีไปกว่าเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริง เราไม่จำเป็นต้องสร้างแนวคิดติดหนึบขึ้นมาจากศูนย์ แต่สามารถสังเกตและรวบรวมเรื่องเล่าดีๆเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ฟัง โครงเรื่องพื้นฐานที่ดีตามทัศนะของ “อริสโตเติล” มีอยู่ 4 แบบคือ โศกแบบเรียบง่าย, สุขสมหวังแบบเรียบง่าย, โศกแบบซับซ้อน และสุขสมหวังแบบซับซ้อน...ยุคนี้ใครสื่อสารไม่เป็นก็มีแต่แพ้ลูกเดียว!!

มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม