ร้อนระอุขึ้นอีกระลอกกับ “สงครามระหว่างรัสเซีย–ยูเครน” นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เนื่องจากเคยหาเสียงไว้หาก “ขึ้นเป็นผู้นำ” จะยุติสงครามความขัดแย้งนี้ลงใน 1 วัน ทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างรัสเซีย–ยูเครนต่างงัดยุทธวิธีทางทหารมาตอบโต้แย่งชิงความได้เปรียบกัน

ในส่วน “รัสเซีย” ก็พยายามรวบรวมกองกำลังพลหลายหมื่นนายรุกคืบยึดพื้นที่สำคัญๆ โดยเฉพาะแคว้นคูสค์ของรัสเซียที่ถูกยึดครองไปก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับ “ยูเครน” ที่ได้รับไฟเขียวจากโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ใช้ขีปนาวุธพิสัยไกล ATACMS โจมตีเป้าหมายทางการทหารลึกเข้าไป “แผ่นดินรัสเซีย” เมื่อไม่นานนี้

ทั้งยังส่งกองกำลังทหารเข้าปฏิบัติการโจมตีใน “แคว้นเบรียนส์ แคว้นเบลโกรอดชายแดนของรัสเซีย” จนถูกมองเป็นสถานการณ์ทิ้งทวนก่อนรัฐบาลทรัมป์จะมาระงับสนับสนุนยูเครนหรือไม่ ผศ.ดร.กฤษฎา พรหมเวค อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง มองว่า

...

ตอนนี้การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนค่อนข้างหนักหน่วง “ในแคว้นเบรียนส์ เบลโกรอด คูสค์อันชายแดนของรัสเซีย” อย่างล่าสุดยูเครนได้ใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลเลือกโจมตี “แคว้นเบรียนส์” เพื่อหวังยึดครองตัดเส้นทางลำเลียงพล ยุทโธปกรณ์ เพราะจุดนี้รัสเซียไม่ค่อยระวังตัวมัวแต่ทวงคืนแคว้นคูสค์ที่ถูกยึดครองไปนั้น

ทว่าหากมองสมรภูมิตรงนี้ “ยูเครนก็ยังไม่ได้เปรียบอะไรมาก” เพราะด้วยขีปนาวุธพิสัยไกล ATACMS ได้รับจากสหรัฐฯ “มีจำกัดไม่น่าเกิน 3 โหล (36 ลูก)” แถมถูกใช้ไปเกือบหมดแล้ว ขณะที่ “รัสเซีย” กลับมีระบบต่อต้านขีปนาวุธที่ดีที่สุดในโลก ทำให้ขีปนาวุธพิสัยไกล ATACMS ไม่เพียงพอที่จะทำอะไรต่อรัสเซียได้มาก

แล้วอย่าลืมว่า “ขีปนาวุธ ATACMS ราคา 8 แสน–1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ” หากการโจมตีรัสเซียครั้งนี้ไม่สำเร็จก็เท่ากับว่า “สหรัฐฯ” ใช้เงินมหาศาลไปโดยสูญเปล่า “เสมือนนำเงินมาถมทะเลให้ยูเครน” เช่นนี้ถ้าทรัมป์ขึ้นมาเป็นผู้นำก็เชื่อว่าจะต้องหยุดสนับสนุนยูเครนแน่ๆ ทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดอาจคลี่คลายดีขึ้นก็ได้

ย้ำต่อด้วย “ทรัมป์เป็นพ่อค้า” สิ่งไหนทำไปแล้วรู้สึกว่า “ไม่คุ้มค่า เสียเปรียบ” มักจะไม่สนับสนุนแล้วหันกลับมาดูแลผลประโยชน์ของชาติอย่าง “อเมริกาต้องมาก่อน (America First)” ที่เป็นนโยบายต่างประเทศปกป้องผลประโยชน์ของคนอเมริกัน ดังนั้นใน 4 ปีข้างหน้าสหรัฐฯอาจจะมุ่งเล่นงานทางด้านจีนแทนมากกว่า

เพราะสมรภูมินี้โอกาส “ยูเครนชนะสงครามเป็นไปได้ยาก” แล้วที่ผ่านมาสหรัฐฯก็สนับสนุนอาวุธ ยุทโธปกรณ์ และเงินมหาศาลกลับทำลายรัสเซียไม่ได้ ดังนั้นสหรัฐฯอาจไปสนับสนุนสมรภูมิอื่น
ที่ทำประโยชน์ให้ดีกว่า

ประเด็นมีต่ออีกว่า “วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย” ได้ลงนามในพระราชกฤษฎีกาในหลักนิยมทำนิวเคลียร์ใหม่ “การโจมตีใดๆโดยรัฐไม่มีอาวุธนิวเคลียร์แต่ได้รับสนับสนุนรัฐมีอาวุธนิวเคลียร์” ถือเป็นการโจมตีร่วมกัน และการโจมตีโดยสมาชิกของกลุ่มพันธมิตรทางทหารใดๆ จะถือเป็นการโจมตีโดยพันธมิตรทั้งหมด

คำประกาศนี้เสมือนป้องปรามแจ้งให้ทั่วโลกรู้ว่า “รัสเซียพร้อมใช้นิวเคลียร์” หากมีเหตุตามหลักดังกล่าวแล้วเมื่อ “ยูเครน” ใช้ขีปนาวุธยิงเข้าไปดินแดน “รัสเซีย” ก็เริ่มใช้ขีปนาวุธข้ามทวีปตอบโต้ได้อย่างชอบธรรม

แต่ถ้ามาดูสาเหตุทำให้ “สงครามรัสเซีย–ยูเครนร้อนระอุ” ส่วนหนึ่งมาจากเกมการเมืองสหรัฐฯ “ไบเดนวางยาทรัมป์” เพราะหากว่าทรัมป์เข้ารับตำแหน่งเป็นทางการโอกาสระงับหยุดการช่วยเหลือยูเครนมีสูง ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่า “ไบเดน” จึงชิงประกาศอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลของสหรัฐฯโจมตีแผ่นดินรัสเซีย

...

เพื่อเป็นการขัดขวางไม่ให้ “ทรัมป์” สามารถยุติสงครามลงได้ภายใน 1 วัน “เสมือนดิสเครดิต” ทำให้หลายฝ่ายมองว่า “ไบเดนทำไม่ถูก” เพราะกำลังจะหมดวาระลงแล้วควรรอทรัมป์เข้ามาดำเนินการ แล้วสิ่งที่ทำไปอาจกลายเป็นการทิ้งทวนตอกย้ำให้ “สงครามรัสเซีย–ยูเครน” ลุกลามบานปลายนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ก็ได้

สุดท้ายแล้ว “ความผิดทั้งหมดก็จะมาตกอยู่กับทรัมป์” แต่เรื่องนี้ ก็เชื่อว่า “ปูติน” คงไม่ยกระดับก่อสงครามใหญ่ เพราะยังไม่พร้อมจากการสูญเสียในการทำสงครามครั้งนี้มานานเพียงแต่ “ปูติน” ที่ประกาศจะตอบโต้ชาติสนับสนุนขีปนาวุธวิสัยกลางให้ยูเครนไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ก็เป็นเพียงคำขู่เท่านั้น

เรื่องนี้รัสเซียมีวิธีตอบโต้ประเทศเหล่านี้หลายวิธี เช่น โจมตีฐานทัพสหรัฐฯในตะวันออกกลางก็ได้ แล้วไม่นานมานี้ “รัสเซียก็ยังลงนามในสนธิสัญญาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับเกาหลีเหนือ” ทำให้เกาหลีเหนือมีความชอบธรรมที่จะส่งทหารไปยังรัสเซียเพื่อช่วยเหลือในสงครามกับยูเครนและพันธมิตรอื่นได้ด้วย

นอกจากนี้ “รัสเซีย” ยังพยายามระดมกลุ่มพันธมิตรอีกหลายประเทศอย่าง “อิหร่าน” ที่กำลังจะมีการเจรจาเพื่อทำสนธิสัญญาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แล้ว “ปูติน” มีแผนในการเดินทางไปอิหร่านในเดือนพ.ย.2567

เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางสนธิสัญญาฯ ถ้าหากทำสำเร็จอิหร่านก็จะส่งทหารเข้ามาช่วยเหลือรัสเซียในสงครามยูเครนนี้ด้วยเช่นกัน สิ่งนี้สะท้อนถึงหากไม่ยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครนสถานการณ์อาจเลวร้ายกว่าเดิม

ถ้าย้อนมามองอนาคตหาก “ทรัมป์ขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ” โอกาสทำให้สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะจบลงได้ด้วยการเจรจาโดยทรัมป์อาจจะเข้าหารือกับ “ปูติน” เพื่อเปิดเกมเสนอข้อตกลงในการหย่าศึกครั้งนี้บวกกับเลิกสนับสนุนแก่ยูเครนอันจะทำให้พันธมิตรอื่นๆหยุดสนับสนุนตามส่งผลให้สงครามไม่อาจเดินต่อไปได้

...

อันมีปัจจัยจากหาก “รัสเซียยึดครองยูเครนทั้งหมด” สหรัฐฯอาจไม่ได้อะไรจากการสนับสนุนที่จะเป็นความสูญเปล่า “แต่ถ้ายุติสงครามตอนนี้ยังพอเหลือดินแดนยูเครนที่ทำประโยชน์ได้” ด้วยจัดเลือกตั้งใหม่เพราะทรัมป์เคยพูดถึง “ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน” ไม่มีความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่ง

เนื่องจากหมดวาระลงแล้ว “แต่ไม่ยอมลงอ้างอยู่ในภาวะสงคราม” เช่นนี้เชื่อว่าทรัมป์น่าจะจัดเลือกตั้งใหม่ “นำคนที่ไว้ใจมาเป็นประธานาธิบดียูเครน” เพื่อเดินหน้าเจรจากับรัสเซียให้สงครามจบโดยเร็วแล้วก็มิใช่ว่า “สหรัฐฯจะพ่ายแพ้จนเสียหน้า” แต่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านผู้นำทำให้นโยบายระหว่างประเทศต้องเปลี่ยนไปด้วย

นี่คือนโยบายหลักของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่หาเสียงไว้ในการยุติสงครามรัสเซีย–ยูเครนได้ใน 1 วัน กลายเป็นโจทย์ใหญ่สำคัญต้องผลักดันทำให้สำเร็จ มิเช่นนั้นอาจมีผลถึงการเลือกตั้งสมัยหน้าแน่.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม

...