ประเทศต่างๆ ที่ร่วมเจรจาสนธิสัญญาโลกเพื่อควบคุมมลภาวะจากพลาสติก ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ โดยมีประเทศต่างๆ มากกว่า 100 ประเทศที่ต้องการจำกัดการผลิต ในขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันเพียงไม่กี่รายเตรียมที่จะกำหนดเป้าหมายเฉพาะขยะพลาสติกเท่านั้น
การประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 5 (INC-5) ในเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อบรรลุสนธิสัญญาโลกที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ถือเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆ ยังคงมีความแตกต่างกันอย่างมากในขอบเขตพื้นฐานของสนธิสัญญา และสามารถตกลงกันได้เพียงแค่เลื่อนการตัดสินใจที่สำคัญและกลับมาเจรจากันใหม่ ซึ่งเรียกว่า INC 5.2 ในภายหลัง
อิงเกอร์ แอนเดอร์เซน ผู้อำนวยการบริหารโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า มีความชัดเจนว่ายังคงมีความขัดแย้งกันอยู่ ขณะที่ปัญหาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งมากที่สุด ได้แก่ การจำกัดการผลิตพลาสติก การจัดการผลิตภัณฑ์พลาสติกและสารเคมีที่น่ากังวล และการจัดหาเงินทุนเพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถดำเนินการตามสนธิสัญญาได้
โดยตัวเลือกที่ปานามาเสนอ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกว่า 100 ประเทศ จะสร้างเส้นทางสู่เป้าหมายการลดการผลิตพลาสติกทั่วโลก ในขณะที่ข้อเสนออีกข้อหนึ่งไม่ได้รวมถึงขีดจำกัดการผลิต ข้อบกพร่องดังกล่าวปรากฏชัดในเอกสารแก้ไขที่เผยแพร่ประธานการประชุม ซึ่งอาจเป็นพื้นฐานของสนธิสัญญา แต่ยังคงเต็มไปด้วยตัวเลือกในประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่สุด
ประเทศผู้ผลิตปิโตรเคมีจำนวนหนึ่ง เช่น ซาอุดีอาระเบีย คัดค้านความพยายามในการลดการผลิตพลาสติกอย่างแข็งกร้าว และพยายามใช้กลวิธีตามขั้นตอนเพื่อชะลอการเจรจา โดยอินเดีย ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และคูเวต คัดค้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าความเห็นพ้องต้องกันเป็นสิ่งสำคัญต่อสนธิสัญญาที่ครอบคลุมและมีประสิทธิผล ขณะที่จีน สหรัฐฯ อินเดีย เกาหลีใต้ และซาอุดีอาระเบีย ถือเป็น 5 ประเทศผู้ผลิตพอลิเมอร์รายใหญ่ที่สุดในปี 2023
...
หากสามารถเอาชนะการแบ่งแยกดังกล่าวได้ สนธิสัญญาดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในข้อตกลงที่สำคัญที่สุดที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมนับตั้งแต่ข้อตกลงปารีสในปี 2015
การเลื่อนการตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากการประชุมสุดยอด COP29 ที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน สิ้นสุดลง ประเทศต่างๆ ได้กำหนดเป้าหมายระดับโลกใหม่ในการระดมเงินทุนเพื่อสภาพอากาศมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งถือเป็นข้อตกลงที่ประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กและประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศเห็นว่าไม่เพียงพอ
ทุกปี โลกผลิตพลาสติกใหม่มากกว่า 400 ล้านตัน และการผลิตพลาสติกอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 70% ภายในปี 2040 หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย และการผลิตพลาสติกมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าภายในปี 2050 และพบไมโครพลาสติกในอากาศ ผลิตภัณฑ์อาหารสด และแม้แต่ในน้ำนมแม่ รายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติประจำปี 2023 ระบุว่าสารเคมีที่พบว่าก่อให้เกิดความกังวลในพลาสติกมีมากกว่า 3,200 ชนิด ซึ่งระบุว่าผู้หญิงและเด็กมีความเสี่ยงต่อพิษของพลาสติกเป็นพิเศษ.
ที่มา Reuters
อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign