ผู้บริหารบริษัทที่อยู่เบื้องหลังเครือร้านแฟชั่นระดับโลกอย่าง "ยูนิโคล่" (Uniqlo) เปิดเผยว่าบริษัทไม่ได้ใช้ฝ้ายจากเขตซินเจียงของจีนในผลิตภัณฑ์ของตน
ผู้บริหารบริษัทที่อยู่เบื้องหลังเครือร้านแฟชั่นระดับโลกอย่าง "ยูนิโคล่" (Uniqlo) เปิดเผยว่าบริษัทไม่ได้ใช้ฝ้ายจากเขตซินเจียงของจีนในผลิตภัณฑ์ของตน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่นายทาดาชิ ยานาอิ ซีอีโอของบริษัทฟาสต์ รีเทลลิ่ง ออกมาพูดถึงประเด็นที่ถกเถียงกันนี้โดยตรง
ทั้งนี้ จีนเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับยูนิโคล่ ไม่เพียงแต่สำหรับลูกค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญอีกด้วย ขณะที่ผ้าฝ้ายจากเขตซินเจียงเคยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผ้าที่ดีที่สุดชนิดหนึ่งของโลก แต่ปัจจุบันผ้าชนิดนี้ไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป หลังจากมีการเปิดเผยว่าผ้าชนิดนี้ผลิตขึ้นโดยการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม
ในปี 2022 ทางการสหรัฐฯ บังคับใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากเขตซินเจียง ขณะที่แบรนด์ระดับโลกหลายแบรนด์นำผลิตภัณฑ์ที่ใช้ผ้าฝ้ายจากเขตซินเจียงออกจากชั้นวางสินค้า ซึ่งส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในจีน แบรนด์ต่างๆ เช่น H&M, Nike, Burberry, Esprit และ Adidas ถูกบอยคอตต์ โดยแบรนด์ H&M ของสวีเดนถูกถอดสินค้าออกจากร้านค้าอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในจีน
ในเวลานั้น นายยานาอิ ปฏิเสธที่จะยืนยันหรือปฏิเสธว่าผ้าฝ้ายจากซินเจียงถูกนำมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าของยูนิโคล่หรือไม่ โดยกล่าวว่าเขาต้องการ "เป็นกลางระหว่างสหรัฐฯ และจีน" การตัดสินใจไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของเขาทำให้ยูนิโคล่ยังคงได้รับความนิยมในตลาดค้าปลีกขนาดใหญ่ของจีน
อย่างไรก็ตาม เขาได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีในกรุงโตเกียว เกี่ยวกับมาตรการของบริษัทที่จะเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสมากขึ้นเกี่ยวกับแหล่งที่มาของวัสดุในการผลิตเสื้อผ้าและวิธีการผลิต โดยเขากล่าวว่า "เราไม่ได้ใช้ (ผ้าฝ้ายจากซินเจียง)"
...
เขากล่าวว่า "การกล่าวถึงผ้าฝ้ายที่เราใช้..." ก่อนจะหยุดชั่วคราวและจบคำตอบด้วยว่า "จริงๆ แล้ว มันดูเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากเกินไป หากผมพูดต่อไป ดังนั้นขอหยุดตรงนี้ก่อน"
ไอแซก สโตน ฟิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Strategy Risks บริษัทด้านข่าวกรองทางธุรกิจที่มุ่งเน้นที่จีน เน้นย้ำถึงแรงกดดันที่มีต่อบริษัทต่างๆ ทั้งจากจีนและสหรัฐฯ เขากล่าวว่า "ไม่มีบริษัทขนาดใหญ่แห่งใดที่สามารถเป็นกลางทางการเมืองได้อีกต่อไป" "ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างต้องการให้บริษัทต่างๆ เลือกข้าง และญี่ปุ่นจะยังคงเอนเอียงไปทางสหรัฐฯ มากขึ้นในเรื่องนี้"
แม้ว่ายูนิโคล่จะขยายกิจการอย่างต่อเนื่องในยุโรปและสหรัฐฯ แต่จากคำพูดของนายยานาอิเอง "เราไม่ใช่แบรนด์ที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก" และเอเชียยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท
บริษัทมีร้านค้าในจีนมากกว่าในญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิด และนายยานาอิกล่าวว่าเขาไม่มีแผนจะเปลี่ยนกลยุทธ์ดังกล่าว แม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทายในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกก็ตาม เขากล่าวว่า "จีนมีประชากร 1,400 ล้านคน แต่เรามีเพียง 900 ถึง 1,000 ร้านเท่านั้น ผมคิดว่าเราสามารถเพิ่มเป็น 3,000 ร้านได้"
ในขณะเดียวกัน จีนเป็นศูนย์กลางการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของยูนิโคล่ นอกจากนั้น บริษัทยังผลิตเสื้อผ้าในประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และอินเดียอีกด้วย
โดยเมื่อปี 2009 ซึ่งผลิตภัณฑ์ 80% ของบริษัทผลิตในจีน นายยานาอิกล่าวว่าการผลิตในจีนเริ่มมีราคาสูงเกินไป และบริษัทกำลังย้ายการผลิตไปยังกัมพูชาที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า เพื่อรักษาระดับราคาให้ต่ำ"
ขณะนี้ เขากล่าวว่าการทำซ้ำความสำเร็จของจีนในฐานะผู้ผลิตระดับโลกในประเทศอื่นๆ ถือเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากการถ่ายทอดประสบการณ์หลายปีนั้นพิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องยาก.
ที่มา BBC
อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign