ในการเยือนนครฉงชิ่ง ประเทศจีนเมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา มีอีกสิ่งที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก นั่นคือวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของจีน
สิ่งที่ทำให้มึนงงในตอนแรก คือการที่แทบทุกร้านอาหารจะให้ตะเกียบมาคนละ 2 ชุด และคนละสี ด้วยความไม่รู้เลยกำลังจะตกลงกับคณะที่เดินทางไปด้วยกันว่าเราจะใช้สีไหนกันดี จนสุดท้ายก็ได้รับความกระจ่างจากคุณเริงศักดิ์ ไกด์ชาวไทยที่เป็นผู้นำทางและนำการกินในครั้งนี้มาช่วยอธิบายว่า ตะเกียบชุดหนึ่งเอาไว้สำหรับรับประทานอาหาร ในจานของตัวเอง ส่วนอีกชุดหนึ่งเรียกว่า “กงไคว่” หรือ “ตะเกียบกลาง” มีไว้ใช้สำหรับคีบอาหารร่วมกับผู้อื่น อารมณ์เหมือน “ช้อนกลาง” ของบ้านเรานั่นเอง
แน่นอนว่าเมื่อมาถึงฉงชิ่งแล้วก็ต้องได้ลิ้มรสอาหารขึ้นชื่ออย่าง “ฉงชิ่งเสี่ยวเมี่ยน” หรือ “บะหมี่ฉงชิ่ง” ที่มีรสของหมาล่า หรือรสชาติเผ็ดและชาจากพริกเสฉวน โรยหน้าด้วยต้นหอมซอยและได้กลิ่นหอมจากน้ำมันพริกและงาขาว แต่สำหรับใครที่ไม่โปรดปรานความมันจากน้ำมันก็อาจจะรู้สึกเลี่ยนอยู่บ้าง แต่ถ้าได้รับประทาน คู่กับผักดอง เช่น แตงกวาหรือหัวไชเท้า ก็จะช่วยเพิ่มอรรถรสในการกินมากยิ่งขึ้น
ส่วนอีกเมนูที่อย่างไรก็ต้องลองให้ได้นั่นคือชาบูหมาล่า “ฉงชิ่งหั่วกัว” หรือ “หม้อไฟฉงชิ่ง” ที่ร้านฉงชิ่งเสี่ยวเทียนเอ๋อหั่วกัว ในชั้นที่ 4 ของหงหยาต้ง แหล่งท่องเที่ยวเมืองโบราณสำคัญอีกแห่งของฉงชิ่ง โดยรสชาติ น้ำซุปหมาล่าของที่นี่จะมีความเข้มข้นของรสชาติน้อยกว่า มีความอ่อนเค็มไม่เหมือนกับของไทยที่อาจถูกปรับให้มีรสชาติถูกปากคนไทยมากกว่า ส่วนความเผ็ดและความชาคิดว่าไม่ค่อย ต่างกับชาบูหมาล่าที่ไทยมากนัก ขณะที่น้ำจิ้มก็สามารถเลือกปรุงได้เองตามใจชอบ มีทั้งน้ำจิ้มงา น้ำมันงาและซีอิ๊ว
...
เรียกได้ว่าการเยือนฉงชิ่งครั้งนี้ยังทำให้ได้ทราบว่าอาหารที่ฉงชิ่งก็มีความเผ็ดไม่แพ้อาหารไทย เพียงแต่เผ็ดคนละแบบ เนื่องจากความเผ็ดสไตล์ฉงชิ่งจะค่อยๆ รู้สึกเผ็ดและชาที่ปลายลิ้น ส่วนของไทยจะได้ความเผ็ดและแสบร้อนจากพริกราวกับมีไฟลุกอยู่ในปาก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการกินอาหารรสเผ็ดจัดจ้านของแต่ละคนด้วย.
ญาทิตา เอราวรรณ
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม