นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชื่อดังชาวอิหร่าน จบชีวิตตัวเอง เพื่อประท้วงที่รัฐบาลไม่ยอมปล่อยตัวนักโทษการเมือง ตามที่เขาเรียกร้อง
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายเคียนูช ซันจารี นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชื่อดังชาวอิหร่าน โพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ ว่าเขาจะจบชีวิตตัวเองหากนักโทษการเมือง 4 คน ไม่ได้รับการปล่อยตัวภายในเวลา 19.00 น. วันพุธที่ 1 พ.ย. 2567 ตามเวลาท้องถิ่น
“หากฟาตีมา เซเปฮารี, นัสรีน ชาครามี, โทมาจ ซาเลฮี และ อาร์ชาม เรซาอี ไม่ได้รับการปล่อยตัวจากคุกภายใน 19.00 น. วันนี้ (13 พ.ย.) ผมจะจบชีวิตตัวเองเพื่อประท้วงต่อจอมเผด็จการและพรรคพวกของเขา”
แต่เมื่อเส้นตายผ่านพ้นไป และทางการไม่ปล่อยตัวนักโทษการเมืองตามที่เขาเรียกร้อง นายซันจารีก็โพสต์ภาพที่ถ่ายจากที่สูง เห็นถนนที่มีการจราจรหนาแน่นในกรุงเตหะราน ผ่าน X ในเวลา 19.20 น.และระบุว่า “ชีวิตของผมจะจบลงหลังจากทวีตนี้” “ผมขอให้วันหนึ่ง ชาวอิหร่านจะตื่นขึ้นมา และก้าวข้ามความเป็นทาส”
“ไม่มีใครควรถูกจำคุกเพราะแสดงความคิดเห็นของตัวเอง” นายซันจารีระบุต่อ “การประท้วงเป็นสิทธิ์ของชาวอิหร่านทุกคน”
การเสียชีวิตของนายซันจารีได้รับการยืนยันโดยเพื่อนนักเคลื่อนไหวของเขาในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ นักโทษการเมืองทั้ง 4 คนที่นายซันจารีต้องการให้ปล่อยตัว ถูกจับกุมโทษฐานสนับสนุนและเกี่ยวข้องกับการประท้วงครั้งใหญ่ในอิหร่านอย่างไม่เคยมีมาก่อนเมื่อปี 2565 หลังการเสียชีวิตของ น.ส.มาห์ซา อามินี ระหว่างถูกตำรวจศีลธรรมควบคุมตัวในปีเดียวกัน
ตัวนายซันจารีก็เข้าออกคุกเพราะการทำกิจกรรมทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง ระหว่างปี 2542-2550 ก่อนที่เขาจะออกจากอิหร่านในปี 2550 และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในนอร์เวย์ ก่อนจะเข้าร่วมสถานีวิทยุโทรทัศน์ “วอยซ์ ออฟ อเมริกา” ภาษาเปอร์เซีย ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
...
นายซันจารีกลับอิหร่านอีกครั้งในปี 2559 เพื่ออยู่กับพ่อแม่ แต่ถูกจับกุมและถูกตัดสินลงโทษจำคุก 11 ปี ที่เรือนจำเอวิน ซึ่งเป็นที่คุมขังนักโทษการเมืองในอิหร่าน อย่างไรก็ตาม เขาประกันตัวเองมาในปี 2562 โดยอ้างเหตุผลทางการแพทย์ และถูกส่งตัวเขารับการรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวช
นักเคลื่อนไหวรายนี้บอกกับสื่อท้องถิ่นว่า เขาถูกช็อตด้วยไฟฟ้า, ถูกโซ่ล่ามติดกับเตียง และถูกฉีดสารบางอย่างเข้าสู่ร่างกาย
นายฮอสเซน โรนากี นักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการพูด โพสต์ข้อความแสดงความอาลัยต่อการจากไปของนายซันจารี ว่า “เคียนูช ซันจารี ไม่ใช่แค่ชื่อ แต่เป็นสัญลักษณ์ของหลายปีแห่งความเจ็บปวด การขัดขืน และการดิ้นรนเพื่อเสรีภาพ”
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : bbc