เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ผู้เขียนและคณะผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร “มองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้” ครั้งที่ 6 จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่นคร ฉงชิ่ง ประเทศจีน อีกสถานที่ที่น่าสนใจไม่แพ้กรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตที่หลายคนอยากมาเยือนด้วยตัวเองสักครั้ง
ด้วยความที่เวลาของเที่ยวบินจากกรุงเทพฯไปนครฉงชิ่งไม่ลงตัว ทำให้ต้องมาเริ่มต้นวันที่สนามบินนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่ มณฑลเสฉวน เมื่อเท้าแตะผืนแผ่นดินจีนหลังจากที่นั่งๆ นอนๆ บนเครื่องบินมากว่า 3 ชั่วโมง สิ่งแรกที่ต้องรีบไปใช้งานในสนามบินคือห้องน้ำ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนคงได้ยินชื่อเสียงกันบ้างว่า ห้องน้ำที่จีนจะมีความพิเศษกว่าใครเพื่อน
โดยความพิเศษที่ว่าก็คือ ที่นี่ยังใช้ “โถสุขภัณฑ์แบบนั่งยอง” เป็นส่วนใหญ่ ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพกันชัดๆ คือ เปิดประตูห้องน้ำไป 10 ห้อง ก็จะเจอโถส้วมนั่งยองไปแล้ว 8 ห้อง ส่วนที่เหลือเป็นแบบ ชักโครกนั่งราบ โดยมีความแตกต่างคือ โถส้วมนี้จะฝังลงไปในพื้น ไม่ได้ยกสูงขึ้นจากพื้นเหมือนที่ส่วนใหญ่ในไทยมี
สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมจีนยังนิยมใช้โถสุขภัณฑ์ประเภทนี้กันอยู่ เพราะผู้เขียนไม่ได้เจอโถส้วมนั่งยองแค่ที่สนามบินเท่านั้น แต่ยังเจอในห้องน้ำตามสถานที่อื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่ในห้างสรรพสินค้า ต่างจากในตอนที่ผู้เขียนไปเยือนนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งแทบไม่ค่อยเจอโถส้วมลักษณะนี้เลยแม้แต่ในสนามบินนานาชาติผู่ตงก็ตาม อีกทั้งเมื่อย้อนกลับมามองที่ไทย เราก็ยังคงเห็นการใช้โถส้วมแบบนั่งยองอยู่บ้างทั้งในเมืองและนอกเมือง แต่ก็ไม่มากเท่าในอดีตแล้ว
งานนี้ก็ได้คุณเริงศักดิ์ ไกด์หนุ่มชาวไทย และคุณไพลิน ไกด์สาวชาวจีนที่สามารถพูดไทยได้อย่างคล่องแคล่วมาช่วยไขความสงสัยว่า เพราะความเชื่อของชาวจีนในอดีตที่มองว่าการนั่งยองดีต่อสุขภาพ และช่วยให้สามารถขับถ่ายได้ดีกว่าการนั่งราบบนชักโครก ดังนั้นจีนจึงยังคงนิยมใช้โถสุขภัณฑ์เช่นนี้จนถึงปัจจุบัน แถมบอกด้วยว่า อันที่จริงคนจีนก็เชื่อด้วยว่าการนั่งยองจะดีต่อข้อเข่า และคนชราในจีนก็ยังสามารถนั่งยองกันได้อย่างสบายๆเลย
...
ความพิเศษของนครฉงชิ่งยังมีอีกมากมาย ผู้เขียนขอเก็บไว้เล่าในตอนต่อไป.
ญาทิตา เอราวรรณ
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม