เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% สู่ระดับเป้าหมายที่ 4.50-4.75% จากเดิม 4.75-5% ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งที่ 2 ของปีนี้ตามคาด แต่อาจจะผิดคาดไปบ้างที่เฟดลดความแรงของการปรับลดดอกเบี้ยลงจากครั้งแรกที่ลดรวดเดียว 0.5%

ทั้งนี้ ตลาดยังคงคาดการณ์แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯว่าน่าจะเป็นขาลงต่อเนื่องไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ซึ่งการลดดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดก็จะมีผลต่อทิศทางดอกเบี้ยโลกให้ปรับตัวลดลงตามด้วย

อย่างไรก็ตาม เฟดยังคงยืนยันที่จะปรับดอกเบี้ยนโยบาย ตามข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ปรับเปลี่ยนไปในแต่ละครั้ง โดยมีเป้าหมายที่จะดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเหมาะสมที่ 2% เพราะเป็นค่าที่ทำให้ผู้บริโภคไม่เดือดร้อนเกินไป และผู้ประกอบการอยู่ได้ โดยไม่หวั่นกับแรงกดดันทางการเมืองที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังจากนี้

ทั้งมีรายงานข่าวจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า ในช่วงการแถลงข่าวและตอบคำถามนักข่าวของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้บอกด้วยว่า “เขาพร้อมที่จะปกป้องธนาคารกลางสหรัฐฯจากแรงกดดันทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง หลังนายทรัมป์ชนะเลือกตั้งกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง”

และเมื่อถูกถามว่าเขาจะลาออกหรือไม่หากทรัมป์ขอให้ลาออก พาวเวลล์ตอบว่า “เขาจะไม่ลาออก และยืนยันว่าประธานาธิบดีคนใหม่ไม่มีอำนาจที่จะไล่เขาหรือผู้นำระดับสูงของเฟดคนอื่นๆออกได้”

เพราะหากจำกันได้ช่วงที่นายทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก ก็ได้ออกมาตำหนิเฟดอย่างต่อเนื่อง และมีข่าวปลดประธานเฟดมาตลอด แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ปลด เพราะจริงๆ นายทรัมป์ก็รู้ดีว่า การปลดประธานเฟด หรือการแทรกแซงนโยบายการเงินที่มากเกินไป จะส่งผลร้ายแรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกที่มีต่อตลาดเงิน ตลาดทุนสหรัฐฯ

...

เพราะในโลกตลาดเสรี แม้แรงกดดันทางการเมืองถือเป็นเรื่องปกติ รัฐบาลทุกประเทศมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ มีสิทธิที่จะเสนอความเห็นเพื่อให้ประชาชนรับรู้และตัดสินใจ เป็นเรื่องปกติเพราะเป้าหมายหลักของการทำงานที่แตกต่างกัน รัฐบาลต้องกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต ขณะที่ธนาคารกลางต้องการเสถียรภาพ หรือลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด จึงเป็นหน้าที่ที่ทั้งสองฝ่ายต้องหา “สมดุล” ระหว่างกัน

แต่ “แรงกดดัน” แตกต่างจากการตั้งใจเข้าไป “แทรกแซง” จากภาคการเมือง ซึ่งอาจจะกลายเป็นผลด้านลบ

มองสหรัฐฯแล้วกลับมามองความขัดแย้งของรัฐบาลและแบงก์ชาติไทยในขณะนี้ ซึ่ง “มิสเตอร์พี” ไม่รู้ว่าจะนิยามอย่างไร เพราะมันเกินเลยการหารือกันระหว่าง “คลังและแบงก์ชาติ” ซึ่งควรจะเป็นคู่คิดคู่ทำนโยบายการเงิน–การคลังไปแล้ว แต่กลายเป็นแรงกดดัน การแทรกแซง เลยไปจนถึงการเอาชนะคะคานระหว่างกัน กลายเป็นสงครามของความคิดต่าง ซึ่งคนที่มองอยู่ข้างๆ “เริ่มวิตกกังวล”.

มิสเตอร์พี

คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม