นับตั้งแต่เริ่มรณรงค์หาเสียง เพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นต้นมา ผลการสำรวจคะแนนนิยมระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกัน กับนางคามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต สูสีกันมาโดยตลอด เซียนการเมืองทั้งหลายฟันธงตรงกัน ชนะหรือแพ้สูสีแน่ แต่ผลปรากฏว่าทรัมป์ชนะขาดลอย
กลายเป็นอดีตประธานาธิบดีคนที่ 45 กลับมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 หลังจากที่เว้นวรรคไปหนึ่งเทอม ผลการเลือกตั้งทำให้นางแฮร์ริสไม่สามารถสร้างประวัติศาสตร์ เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรก มองในแง่นี้อาจอ้างได้ว่าการเมืองไทยก้าวหน้ากว่า เพราะมีนายกรัฐมนตรีหญิงมาถึง 2 คนที่เข้าสู่อำนาจ “โดยการสืบสันดาน”
ทำไมคามาลา แฮร์ริส จึงแพ้ขาด มีคำตอบจากอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศของไทยท่านหนึ่ง เพราะ 4 ปี ภายใต้การบริหารของโจ ไบเดน และ แฮร์ริส คนอเมริกันไม่พอใจปัญหาค่าครองชีพ ที่อยู่อาศัย ปัญหาผู้อพยพต่างชาติแห่เข้ามาแย่งงาน แต่บางคนอาจตอบว่าเพราะแฮร์ริสเป็นคนเชื้อสายอินเดียไม่ใช่อเมริกันผิวขาวแท้
ถ้าความเห็นข้างต้นเป็นจริง แสดงว่าประชาธิปไตยอเมริกันล้าหลังกว่าอังกฤษหรือไม่ เพราะเมื่อเร็วๆนี้คนอังกฤษจากพรรคอนุรักษ์นิยมเลือกคนเชื้อสายอินเดียชื่อ “ซูแน็ก” เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนผลกระทบจากการเลือกตั้ง นักวิชาการบางคนฟันธงว่าโลกต้องรอดูการเปลี่ยนแปลง เพราะทรัมป์คือการเปลี่ยนแปลง
คำขวัญหาเสียงสมัยแรก ทรัมป์ สัญญาว่า “จะทำอเมริกาให้กลับมายิ่งใหญ่อีก” อเมริกาต้องมาก่อน คราวนี้ก็ประกาศนโยบายขึ้นภาษีนำเข้า 10% ถึง 20% ซึ่งถ้าเป็นจริงต้องกระทบรุนแรงต่อบรรดาประเทศที่ส่งสินค้าเข้าสหรัฐฯ แต่ผู้เชี่ยวชาญไทยมองว่าเป็นโอกาสดีของไทย ที่จะเปิดให้จีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
บรรดาประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรปและเอเชีย แสดงความกังวลต่อนโยบายชาตินิยม แบบที่ว่า “อเมริกาต้องมาก่อน” และห่วงด้วยว่าขณะที่เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก ทรัมป์แสดงท่าทีจู๋จี๋บรรดาผู้นำประเทศต่างๆที่ปกครองประเทศแบบอำนาจนิยม ทรัมป์เคยถูกวิพากษ์ว่าเป็นผู้ทำลายประชาธิปไตยอเมริกัน
...
ประชาคมโลกเคยยอมรับว่าสหรัฐฯเป็นอภิมหาอำนาจ เป็นผู้นำโลกประชาธิปไตย ขณะนี้ก็ยังหวังอยู่ หวังว่าโลกจะมีสันติสุข มีผู้นำโลกและผู้นำประเทศทั่วโลกที่รักสันติสุข ไม่ใช่หาช่องทางทำสงครามไม่หยุดหย่อน ทุกประเทศไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยแบบเดียวกันหมด แต่เป็นการปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วมและยอมรับ.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม