ผลลัพธ์จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ มักส่งผลกระทบไปยังหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะการมาของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2564 ซึ่งสร้างความปั่นป่วนไปทั่ว ด้วยความคาดเดาไม่ได้ของเขา

ตอนนี้ หลังจากเว้นไป 4 ปี โดนัลด์ ทรัมป์ กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง ทำให้นักวิเคราะห์พากันออกมาคาดการว่า การมารอบ 2 ของมหาเศรษฐีฝีปากกล้าคนนี้ จะมีความหมายอย่างไรกับภูมิภาคต่างๆ ในโลกใบนี้

รัสเซีย

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย เปลี่ยนไปจากตอนที่นายทรัมป์ดำรงตำแหน่งสมัยแรกมาก ตอนนั้น พวกเขาแค่เถียงกันเรื่องการแทรกแซงเลือกตั้ง ขณะที่นายทรัมป์คอยปฏิเสธข้อกล่าวหา และไม่ยอมวิพากษ์วิจารณ์มอสโก แต่ตอนนี้ สงครามในยูเครนที่ดำเนินมานานเกือบ 3 ปี ได้บดบังภาพดังกล่าวไปจนหมดแล้ว

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวว่า เขาอย่างให้ โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งมากกว่า เพราะคาดเดาได้ง่ายกว่าโดนัลด์ ทรัมป์

คำพูดของปูตินมีเกินจากความเป็นจริง เพราะถึงแม้ว่านายทรัมป์จะมีวาทกรรมที่รุนแรงต่อการช่วยเหลือยูเครนของสหรัฐฯ และว่าที่รองประธานาธิบดีอย่าง เจ.ดี. แวนซ์ ก็พูดอย่างเปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยที่สหรัฐฯ จะส่งความช่วยเหลือทางทหารให้ยูเครนมากกว่านี้ แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่า ทรัมป์จะทำ หรือสามารถตัดความช่วยเหลือที่มอบให้แก่ยูเครนได้หรือไม่

...

นายดีมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย โพสต์ข้อความผ่านเทเลแกรมในวันพุธว่า นายทรัมป์เป็นนักธุรกิจของแท้ เข้าไม่เห็นด้วยการกับใช้จ่ายเงินกับสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ และยูเครนคือหนึ่งในนั้น “ตอนนี้คำถามคือ พวกเขา (สภาคองเกรส) จะบีบให้ทรัมป์ใช้จ่ายในสงครามได้เท่าไร เขาดื้อรั้น แต่ระบบเข้มแข็งกว่า”

ด้านนาย ดีมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ก็แสดงความเห็นโดยไม่คาดเดาอะไรมากจนเกินไป โดยระบุว่า ทรัมป์แสดงความตั้งใจที่จะสร้างสันติในเวทีนานาชาติ และความปรารถนาที่จะยุตินโยบายขยายเวลาสงครามเก่าที่ยังคงดำเนินอยู่นี้ แต่ในแง่ของขั้นตอนต่อไป “เราจะได้เห็นกันหลังจากเดือนมกราคม” ตอนที่เขารับตำแหน่ง

ตะวันออกกลาง

นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล ออกมาแสดงความยินดีต่อโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่กี่นาทีหลังจากเขาประกาศชัยชนะเมื่อคืนวันอังคาร และเรียกผลการเลือกตั้งที่ออกมาว่า เป็นการคัมแบ็กที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ อันจะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของอเมริกา และการเป็นพันธมิตรระหว่างอิสราเอลกับสหรัฐฯ

ผลสำรวจความคิดเห็นก่อนหน้าการเลือกตั้งชี้ว่า อิสราเอลสนับสนุนนายทรัมป์อย่างท่วมท้น เพราะรัฐบาล โจ ไบเดน กับ คามาลา แฮร์ริส ไม่เห็นด้วยที่อิสราเอลมีปฏิบัติการทางทหารอย่างรุนแรงในฉนวนกาซา, เลบานอน กับอิหร่าน

แต่ในทางกลับกัน ทรัมป์เคยมีความเคลื่อนไหวสนับสนุนอิสราเอลหลายอย่างตอนดำรงตำแหน่งสมัยแรก เช่นย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ไปยังกรุงเยรูซาเลม ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาท ประกาศยอมรับอธิปไตยของอิสราเอลเหนือที่ราบสูงโกลัน ซึ่งอิสราเอลชิงไปจากซีเรีย การมารอบ 2 ของทรัมป์ จึงทำให้อิสราเอลมีความหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนมากขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม สำหรับที่อื่นๆ ในตะวันออกกลาง ชัยชนะของทรัมป์ทำให้เกิดความรู้สึกกังวล โฆษกรัฐบาลอิหร่านระบุว่า การที่นายทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีก็ไม่มีอะไรแตกต่างออกไปสำหรับพวกเขา แต่ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับอิสราเอลในตอนนี้ ความเป็นไปได้ใดๆ ที่สหรัฐฯ จะสนับสนุนรัฐบาลยิวมากขึ้น น่าจะเป็นเรื่องน่ากังวลมากสำหรับอิหร่าน

ด้านกลุ่มฮามาส ในฉนวนกาซา ออกมาเรียกร้องทันทีให้ยุติสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า การสนับสนุนอย่างมืดบอดของอเมริกาที่มีต่ออิสราเอลและรัฐบาลฟาสซิสต์

...

ยุโรป

การปกครองสมัยแรกของ โดนัลด์ ทรัมป์ สร้างรอยร้าวระหว่างสหรัฐฯ กับชาติพันธมิตรในยุโรปเอาไว้ เพราะเขาเคยขู่จะพาสหรัฐฯ ออกจากนาโต หากชาติสมาชิกไม่เพิ่มการจ่ายเงินสมทบทุนเข้านาโตให้มากขึ้น แม้ผู้นำชาติตะวันตกหลายประเทศจะออกมาแสดงความยินดีกับชัยชนะรอบ 2 ของเขา แต่ก็เป็นคำยินดีที่แฝงไว้ด้วยความกังวล เพราะ โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สนว่าพันธมิตรของเขาจะคิดอย่างไร

ตลอดเส้นทางการหาเสียง ทรัมป์พูดตลอดว่าจะยุติสงครามยูเครนใน 24 ชั่วโมง ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ชาติสมาชิกนาโต ว่า ทรัมป์จะมอบรางวัลให้กับการรุกรานอย่างผิดกฎหมายของปูติน และจะทำให้ผู้นำรัสเซียกระหายอยากใช้กำลังทหารยึดดินแดนอื่นๆ ภายในเขตแดนของชาติสมาชิกนาโต

คาดกันว่า ความพยายามของชาติยุโรปในการขัดขวางทรัมป์ไม่ให้ทอดทิ้งยูเครนจะเป็นไปอย่างดุเดือด และไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะต้องมีผู้ย้ำเตือนนายทรัมป์แน่นอนว่า เงิน 1.9 แสนล้านดอลลาร์ที่สหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักร มอบให้ยูเครนนั้น มี 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ใช้ไปเพื่อซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ เพื่อมอบให้ยูเครน กล่าวคือ สหรัฐฯ ก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน

เลขาธิการนาโตคนใหม่อย่าง มาร์ก รุทเทอ พยายามใช้วิธีเดียวกับ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก รุ่นพี่ของเขาเพื่อรับมือนายทรัมป์ ด้วยการเล่นการเล่นกับอีโก้ของเขา โดยส่งข้อความยินดีทันที ยกย่องนายทรัมป์ว่าเป็นหุ้นส่วนที่ทรงพลังที่สุดของนาโต และว่า ความเป็นผู้นำของเขาจะเป็นกุญแจสำคัญการทำให้นาโตเข้มแข็งขึ้น

การอ้อนวอนอย่างระมัดระวังอาจทำให้นาโตรอดจากการล่มสลายได้ แต่โอกาสที่เซเลนสกีจะทวงคืนดินแดนที่ถูกรัสเซียชิงไปกลับน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกรณีที่นายทรัมป์อยากเร่งทำข้อตกลงกับปูตินเพื่อยุติสงคราม

...

จีน

ตลอดช่วงการหาเสียง สื่อทางการของจีนพากันประโคมข่าว โดยใช้ถ้อยคำว่า สหรัฐฯ มีความเห็นชอบร่วมกันที่จะกดจีนไม่ให้ผงาดขึ้นมา หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ สำหรับจีน ไม่ว่า ไบเดน แฮร์ริส หรือ ทรัมป์ จะได้เป็นประธานาธิบดี ก็แย่ไม่ต่างกัน

ในทางหนึ่ง แนวคิด “อเมริกาต้องมาก่อน” ของโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประโยชน์ต่อจีนในเชิงยุทธศาสตร์ของปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ไต้หวันไปจนถึงข้อพิพาทในทะเลจีนได้ ต่างจากนโยบาย “แนวหน้าร่วมกัน” ของโจ ไบเดน กับคามาลา แฮร์ริส ที่สหรัฐฯ กับชาติพันธมิตรรวมกันกดดันจีน

แต่ความคาดเดาไม่ได้ของโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นสิ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่จีนจำนวนมากกังวลจนนอนไม่หลับ หลายคนกลัวว่า การเจรจาระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่เพิ่มกลับมาเดินหน้าต่อ จะต้องหยุดชะงักอีก

ขณะที่วาทกรรมเรื่องการตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน และแนวคิดต่อต้านผู้อพยพ ก็สร้างความกังวลให้แก่ผู้ส่งออกและบรรดานักศึกษา นักข่าวจีนในต่างประเทศก็เคยมีประสบการณ์ถูกโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งขับไล่ออกจากสหรัฐฯ จนทำให้เกิดการไล่นักข่าวสหรัฐฯ ตอบโต้กันมาแล้ว

...

ไต้หวัน

ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งในเอเชีย มองชัยชนะของนายทรัมป์ว่า เป็นแหล่งกำเนิดความไม่แน่นอนอย่างมีนัยสำคัญ และอาจกลายเป็นดาบสองคมสำหรับไต้หวัน

ภายใต้กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน สหรัฐฯ ถูกผูกมัดด้วยกฎหมายให้ต้องช่วยเหลือไต้หวันให้ปกป้องตนเองจากการรุกรานของจีนได้ และพวกเขาก็ส่งอาวุธเพื่อการป้องกันมาให้ดินแดนแห่งนี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

แต่ทรัมป์เคยพูดว่า ไต้หวันควรจ่ายเงินให้สหรัฐฯ มากขึ้นเพื่อแลกกับการสนับสนุนทางทหารจากสหรัฐฯ ซึ่งนี่อาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเป็นหุ้นส่วนระหว่างทั้งสองฝ่าย และเพิ่มแรงกดดันให้ดินแดนที่มีประชาชน 23 ล้านคนแห่งนี้มากขึ้นไปอีก

นอกจากเรื่องความมั่นคง เรื่องเศรษฐกิจก็น่ากังวลไม่แพ้กัน นายทรัมป์กล่าวหามาตลอดว่า ไต้หวันขโมยธุรกิจชิปคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ ไป และขู่จะตั้งกำแพงภาษีนำเข้าชิปของไต้หวัน ซึ่งสำคัญมากต่อการผลิตเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตั้งแต่สมาร์ทโฟน ไปจนถึงดาวเทียม

แต่ในความเป็นจริง ไต้หวันไม่ได้ขโมย แต่พัฒนาอุตสาหกรรมชิปเซมิคอนดักเตอร์ของตัวเองขึ้นมาจนเป็นที่หนึ่งของโลก โดยใช้วิสัยทัศน์, การทำงานหนัก และการลงทุน

ตอนนี้ ไต้หวันต้องรับมือความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่างโอกาสกับความไม่แน่นอน ซึ่งจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับสหรัฐฯ อย่างไรนั้น ต้องติดตามกันต่อไป ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศให้โดนัลด์ ทรัมป์

คาบสมุทรเกาหลี

การมารอบสองของนายทรัมป์สร้างความกังวลให้เกาหลีใต้อย่างมาก เพราะเขาพูดมาตลอดว่า จะลดจำนวนทหารอเมริกันที่ประจำการในคาบสมุทรเกาหลีที่ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 28,500 นาย และขอให้รัฐบาลเกาหลีจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อแลกกับการคุ้มครองจากสหรัฐฯ

ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อเดือนก่อน ทรัมป์บอกว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง เกาหลีใต้จะต้องจ่ายเงินให้แก่ทหารอเมริกันที่ประจำการในเกาหลีเพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันที่จ่ายอยู่ปีละ 1.13 พันล้านดอลลาร์ และรัฐบาลแดนโสมเพิ่งลงนามข้อตกลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ว่าจะเพิ่มเงินดังกล่าวเป็น 1.26 พันล้านดอลลาร์ในปี 2569

“หากตอนนี้ผมอยู่ในทำเนียบขาว พวกเขา (เกาหลีใต้) จะต้องจ่ายเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีไปแล้ว และคุณรู้อะไรมั้ย? พวกเขาจะยินดีจ่าย” นายทรัมป์กล่าว “เกาหลีใต้เป็นเครื่องจักรผลิตเงิน”

เกาหลีใต้เป็นที่ตั้งของค่ายทหารสหรัฐฯ ในต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และทหารเหล่านี้คงอยู่เพื่อคานอำนาจกับกองทัพเกาหลีเหนือและจีน ซึ่งสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้จัดการซ้อมรบร่วมกันเป็นประจำเพื่อแสดงแสนยานุภาพ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่า นายทรัมป์จะลดจำนวนหรือขนาดของการฝึกซ้อมลงเพื่อประหยัดงบประมาณหรือไม่

อีกเรื่องที่ถูกตั้งคำถามคือ ทรัมป์จะหาทางจัดการประชุมสุดยอดกับ คิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนืออีกครั้งหรือเปล่า แต่โอกาสในตอนนี้เป็นไปได้ยากแล้ว เพราะเปียงยางประกาศละทิ้งเป้าหมายการรวมชาติกับเกาหลีใต้ และหันไปผูกมิตรกับรัสเซีย จนมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้นายคิม ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องเจรจากับสหรัฐฯ อีก

แอฟริกา

ทรัมป์มีผู้สนับสนุนมากมายในแอฟริกา แม้อิทธิพลของสหรัฐฯ ในทวีปนี้จะลดลงเรื่อยๆ ท่ามกลางกระแสต่อต้านชาติตะวันตกที่รุนแรงขึ้น แต่ประชากรแอฟริกาเต็มไปด้วยชาวคริสต์หรืออิสลาม ที่เห็นด้วยกับจุดยืนเรื่องค่านิยมครอบครัวของนายทรัมป์ ที่ทั้งต่อต้านการทำแท้ง และไม่สนับสนุนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQ

ตำนานเรื่องความเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของนายทรัมป์ก็ยังคงรุนแรงในแอฟริกา บางส่วนเป็นเพราะรายการ The Apprentice ที่ถูกฉายเป็นวงกว้าง และเชื่อว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเข้มแข็งกว่าในมือของนายทรัมป์ ด้วยความคาดหวังว่า หากเศรษฐกิจโลกดีขึ้น การค้าของแอฟริกาจะดีขึ้นตามไปด้วย

ชาวแอฟริกาที่ต้องการให้สหรัฐฯ ยุติการ “ยุ่งไม่เข้าเรื่อง” ของพวกเขา ก็สนับสนุนนายทรัมป์ โดยหวังว่านโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” จะทำให้เขาไม่มายุ่งกับแอฟริกา ขณะที่นักวิเคราะห์มากมายกล่าวว่า แอฟริกาประสบความสำเร็จมากกว่า หากสหรัฐฯ อยู่ภายใต้รัฐบาลรีพับลิกัน และมองชัยชนะของทรัมป์ในแง่บวก แต่ระมัดระวัง

ความพยายามของรัฐบาลไบเดน-แฮร์ริส ในการตอบโต้อิทธิพลของจีนในแอฟริกา อาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากชัยชนะของนายทรัมป์ และยังไม่แน่ชัดว่า ไบเดนจะยังเดินทางเยือนแองโกลาในเดือนหน้า เพื่อเน้นย้ำเรื่องโครงการทางรถไฟ Lobito Corridor หรือไม่

ลาตินอเมริกา

ชัยชนะของนายทรัมป์ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อทวีปลาตินอเมริกา ผู้นำฝ่ายอนุรักษ์นิยมเช่น ประธานาธิบดี ฮาเบียร์ มีเล แห่งอาร์เจนตินา, นายิบ บูเคเล แห่งเอลซัลวาดอร์ และ ชาอีร์ โบลโซนาโร อดีตผู้นำบราซิล เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ตบเท้าออกมาแสดงความยินดีกับโดนัลด์ ทรัมป์

แต่ประเทศที่มีผู้นำฝ่ายก้าวหน้าอย่าง กุสตาโว เปโตร แห่งโคลอมเบีย และ คลอเดีย เชนบาม แห่งเม็กซิโก ก็ต้องเตรียมตัวรับมือกับความสัมพันธ์แบบลุ่มๆ ดอนๆ กับรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ

เม็กซิโกอาจได้รับผลกระทบเต็มๆ เพราะการส่งออกของพวกเขาอาจต้องเผชิญกับกำแพงภาษีที่นายทรัมป์รับปากกับประชาชนเอาไว้ และความกังวลในเรื่องนี้ก็ทำให้ค่าเงินเปโซร่วงจนอ่อนค่าที่สุดในรอบ 2 ปี ในเช้าวันพุธ ก่อนจะค่อยๆ ฟื้นตัวคืนมา น.ส.เชนบามยืนยันว่า ไม่มีเหตุผลใดให้ต้องกังวล และสหรัฐฯ กับเม็กซิโกก็ไม่ได้แข่งขันทางการค้าระหว่างกัน

แต่รัฐบาลของเธอต้องหาทางผูกมิตรกับโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเร็ว และลงนามข้อตกลงใดๆ ก่อนที่นโยบายเศรษฐกิจฉบับใหม่ของสหรัฐฯ จะถูกร่าง โดยเฉพาะเรื่องผู้อพยพที่นายทรัมป์ต้องการให้เม็กซิโกมีมาตรการป้องกันเชิงรุกมากกว่านี้ และจำกัดไม่ให้ผู้อพยพไปถึงชายแดนสหรัฐฯ

นายทรัมป์ประกาศกร้าวว่า พวกเขาจะบังคับเนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมายหลายล้านคน ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง มันจะสร้างความปั่นป่วนไปทั่วภูมิภาค เพราะหลายประเทศกำลังพึ่งพาเงินที่ถูกส่งกลับไปจากสหรัฐฯ ในการส่งเสริมเศรษฐกิจของตัวเอง

แต่การจำกัดไม่ให้ผู้อพยพมายังสหรัฐฯ นั้นจะไปเป็นความท้าทายที่ยากมากไปตลอด 4 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะหากแผนกระตุ้นการผลิตในประเทศของนายทรัมป์ ต้องแลกมาด้วยเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ที่เหลือในทวีปอเมริกา

สุดท้าย รัฐบาลเผด็จการอย่างของเวเนซุเอลา และนิการากัว อาจมองว่าการมาของนายทรัมป์ทำให้พวกเขาเผชิญกับนโยบายต่างประเทศยอมรับสถานะปัจจุบันของพวกเขามากขึ้น เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่น่าจะยอมมองข้ามการละเมิดประชาธิปไตยของพวกเขา ตราบใดที่สามารถสกัดผู้อพยพเอาไว้ได้

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ติดตามการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 ได้ที่ ไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/uselection2024

ที่มา : cnn