“โดนัลด์ ทรัมป์” สร้างประวัติศาสตร์ คัมแบ็กเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กลับมาเป็นนัมเบอร์วันแห่งทำเนียบขาวอีกครั้ง หลังชาวอเมริกันลงคะแนนเสียงจนเฉือนชนะ “คามาลา แฮร์ริส” คู่แข่งหญิงจากพรรคเดโมแครต ที่หวังเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกแต่ทำไม่สำเร็จ ท่ามกลางคนทั่วโลกลุ้นการนับคะแนน ภายหลังผลเลือกตั้งทยอยประกาศอย่างไม่เป็นทางการทรัมป์เชื่อลอยลำชนะแน่ เปิดสำนักงานใหญ่ปาร์ตี้เฉลิมฉลองชัยชนะทันที พร้อมกล่าวสุนทรพจน์ระบุเป็นชัยชนะอันงดงามของชาวอเมริกันประกาศจะฟื้นฟูประเทศ ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง พร้อมขอบคุณว่าที่สตรีหมายเลขหนึ่ง “เมลาเนีย ทรัมป์” ที่ทำงานหนักและทำหน้าที่อย่างดีเยี่ยมและยังขอบคุณ “อีลอน มัสก์” ยกย่องเป็นคนสำคัญในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้นำอังกฤษ-ฝรั่งเศส ร่วมยินดี ส่วนยูเครนหวังร่วมมือทรัมป์ ด้านสถานทูตสหรัฐฯในไทยเปิดบ้านเชิญนานา ทูตลุ้นผล ย้ำสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน นักธุรกิจไทยแสดงความเห็นเรื่องการค้าขาย สรท. แนะไทยปรับตัวรับมือ “ธนวรรธน์ พลวิชัย” เชื่อสงครามการค้าแรงขึ้นไทยกระทบหนัก
กลับมาผงาดทวงบังลังก์เก้าอี้ประธานาธิบดีแห่งทำเนียบขาวสหรัฐอเมริกาอย่างหมดจด สำหรับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ วัย 78 ปี ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน หลังผลการเลือกตั้ง 2024 ชี้ชัดว่า สามารถรวบรวมคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งในรัฐต่างๆได้ครบตามเกณฑ์ 270 เสียง จากทั้งหมด 538 เสียง กลายเป็นประธานาธิบดีลำดับที่ 47 ของสหรัฐฯ และเป็นการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ต่อจากสมัยแรกในช่วงปี 2560-2564 ดับฝันนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯวัย 60 ปี ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ที่หวังจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำหญิงคนแรกของสหรัฐฯ แต่ทว่าทำไม่สำเร็จ
...
เริ่มนับคะแนน–ลุ้นสวิงสเตท
ทั้งนี้ บรรยากาศการนับคะแนนการเลือกตั้งสหรัฐฯเป็นไปอย่างคึกคักตลอดคืนวันที่ 5 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ หรือตรงกับช่วงเช้าวันที่ 6 พ.ย. ตามเวลาประเทศไทย โดยทิศทางถือว่าเป็นไปตามการคาดคะเนของผลสำรวจความนิยมล่วงหน้า คือทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตต่างครอบครองคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งตามรัฐฐานที่มั่นของพรรค แบ่งเป็นพรรครีพับลิกัน 219 เสียง พรรคเดโมแครต 226 เสียง เท่ากับว่ารีพับลิกันยังขาดอยู่ 51 เสียง เดโมแครตขาดอยู่ 44 เสียง ทำให้ต้องไปตัดสินชัยชนะกันในรัฐ “สวิงสเตท” หรือรัฐตัวแปรที่ไม่สนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างชัดเจน จำนวน 7 รัฐ ประกอบด้วย เนวาดา อริโซนา จอร์เจีย นอร์ทแคโรไลนา วิสคอนซิน มิชิแกนและเพนซิลเวเนีย ซึ่งทั้ง 7 รัฐมีคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งอยู่ 93 เสียง
ประเดิมคว้าชัยนอร์ทแคโรไลนา
อย่างไรก็ตาม ผลปรากฏว่าฝ่ายรีพับลิกันกลายเป็นผู้ที่ตุนคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งในรัฐสวิงสเตทได้อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากรัฐนอร์ทแคโรไลนา ที่มีคณะผู้เลือกตั้ง 16 เสียง ผลการนับคะแนนดิบทั้งรัฐครบ 95 เปอร์เซ็นต์ พบว่านายทรัมป์ได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 2.87 ล้านเสียง นางแฮร์ริสได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 2.68 ล้านเสียง สัดส่วนถือว่าอยู่ที่ 51 ต่อ 47 เปอร์เซ็นต์ ทำให้รีพับลิกันมีคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งเพิ่มเป็น 235 เสียง
ชัยชนะรำไรหลังซิวรัฐจอร์เจีย
จากนั้นถึงคิวของรัฐจอร์เจีย ที่มีคณะผู้เลือกตั้ง 16 เสียงเช่นกัน ผลการนับคะแนนดิบทั้งรัฐครบ 95 เปอร์เซ็นต์ พบว่านายทรัมป์ได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 2.64 ล้านเสียง นางแฮร์ริสได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 2.52 ล้านเสียง สัดส่วนถือว่าอยู่ที่ 50 ต่อ 48 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่ารีพับลิกันตุนคะแนนคณะผู้เลือกตั้งเพิ่มไปอีกเป็น 251 เสียง สร้างความฮือฮาแก่บรรดากองเชียร์ในเมืองต่างๆ เนื่องจากขาดอีก 19 เสียง ก็จะได้รับชัยชนะตามเกณฑ์เลือกตั้ง ขอเพียงแค่ครอบครองรัฐเพนซิลเวเนีย ที่มีคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 19 เสียง ก็ถือว่าปิดเกมโดยบริบูรณ์
รัฐเพนซิลเวเนียทำปิดเกม
สุดท้ายในช่วงกลางดึกคืนวันที่ 5 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ หรือช่วงเที่ยงวันที่ 6 พ.ย. ตามเวลาประเทศไทย ความฝันของพรรครีพับลิกันก็กลายเป็นความจริง หลังผลการนับคะแนนดิบในรัฐเพนซิลเวเนีย ที่มีคณะผู้เลือกตั้ง 19 เสียง ได้รับการยืนยันตอนนับผลครบ 95 เปอร์เซ็นต์ว่า นายทรัมป์ได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 3.39 ล้านเสียง นางแฮร์ริสได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 3.22 ล้านเสียง สัดส่วนถือว่าอยู่ที่ 50 ต่อ 48 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้รีพับลิกันมีคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งครบ 270 เสียงตามเกณฑ์
ยึดวิสคอนซินคะแนนนำขาด
นอกจากนี้ ชัยชนะของรีพับลิกันยังได้รับการตอกย้ำเข้าไปอีกที่รัฐวิสคอนซิน หลังการนับคะแนนดิบครบ 95 เปอร์เซ็นต์ นายทรัมป์ได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 1.6 ล้านเสียง นางแฮร์ริสได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 1.47 ล้านเสียง สัดส่วนถือว่าอยู่ที่ 51 ต่อ 47 เปอร์เซ็นต์ คะแนนคณะผู้เลือกตั้งของรีพับลิกันขยับกลายเป็น 280 เสียง ปิดประตูชัยชนะของพรรคเดโมแครตอย่างเป็นทางการ ไม่จำเป็นต้องรอลุ้นผลการนับคะแนนในรัฐสวิงสเตท 3 รัฐที่เหลือคือเนวาดา อริโซนาและมิชิแกน
ทรัมป์ร่วมปาร์ตี้เฉลิมฉลอง
ภายหลังจากผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ทยอยประกาศอย่างไม่เป็นทางการ นายทรัมป์ได้เดินทางมาปรากฏตัวในงานปาร์ตี้เฉลิมฉลองที่สำนักงานใหญ่เพื่อการหาเสียงของพรรครีพับลิกันในเมืองเวสต์ ปาล์ม บีช รัฐฟลอริดา โดยมีครอบครัว สมาชิกพรรครีพับลิกัน รวมถึงกลุ่มผู้สนับสนุน มารวมตัวกันอย่างเนืองแน่น มีเสียงเชียร์และตะโกนร้องกึกก้องไปทั่วหอประชุม นายทรัมป์ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ว่า เราจะช่วยฟื้นฟูประเทศ ให้คำมั่นว่าจะจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องชายแดน การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นชัยชนะอันงดงามของชาวอเมริกัน จะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง หวังว่าในสักวันหนึ่งผู้คนก็จะหันกลับมาครุ่นคิดว่า นี่คือหนึ่งในวันสำคัญที่สุดในชีวิต ขอบคุณครอบครัว และนางเมลาเนีย ทรัมป์ ภริยาโดยชื่นชมว่าทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม และทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือผู้คน
...
ขอบคุณเบอร์สอง–อีลอน มัสก์
นายทรัมป์ยังกล่าวแสดงความยินดีกับนายเจดี แวนซ์ คู่หูชิงชัยการเลือกตั้ง ที่กลายเป็นว่าที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ การเลือกนายแวนซ์คือการตัดสินใจที่ถูกต้อง ส่วนบุคคลที่มีความสำคัญต่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้คือ อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทรถไฟฟ้าเทสลาและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเอ็กซ์ มัสก์คือดาวดวงใหม่ของพรรครีพับลิกัน ส่วนตัวจะใช้จิตวิญญาณทุกอณูและต่อสู้เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้นำประเทศ การเป็นประธานาธิบดีคือสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในโลก จะทำหน้าที่ยึดหลักคำขวัญ “Promises made, promises kept” (ให้สัญญา และรักษาสัญญา) ก่อนเดินลงจากเวทีในงานปาร์ตี้โดยเปิดเพลง วายเอ็มซีเอ (YMCA) บรรเลงปิดท้าย
คนหงอยแฮร์ริสไม่มางานปาร์ตี้
ขณะที่บรรยากาศทางฝั่งพรรคเดโมแครตกลับตรงกันข้าม โดยสื่อท้องถิ่นสหรัฐฯรายงานว่า ทีมรณรงค์หาเสียงของพรรคเดโมแครต ประกาศว่านางแฮร์ริสจะไม่เข้าร่วมงานปาร์ตี้นับคะแนนในค่ำคืนวันเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยโฮเวิร์ด กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ตามกำหนดการ ส่งผลให้กลุ่มผู้สนับสนุนบางส่วน ที่เดินทางมารอเพื่อร่วมงานปาร์ตี้ตัดสินใจกลับบ้าน เหลือเพียงบางส่วนที่ยังรออยู่ในงาน โดยหลังจากที่ทราบผลคะแนนดิบว่านางแฮร์ริสพ่ายแพ้นายทรัมป์ในรัฐสมรภูมินอร์ทแคโลไรนา และรัฐจอร์เจีย ยิ่งทำให้บรรยากาศพากันอึมครึมมากกว่าเดิม นอกจากนี้กลุ่มผู้สนับสนุนบางส่วนยังปฏิเสธไม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเช่นกัน
สหรัฐฯเชิญนานาทูตลุ้นผล
วันเดียวกันนายโรเบิร์ต เอฟ.โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย เปิดทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ถนนวิทยุ กทม. ต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ อาทิ นายมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศ ไทย ดร.แอนเจลา แมคโดนัลด์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย น.ส.หว่อง เสี่ยว ผิง แคเทอริน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสิงคโปร์ มาร่วมกิจกรรมติดตามผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 อย่างเป็นกันเอง
...
เน้นย้ำหลักการประชาธิปไตย
นายโกเดคกล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ได้เห็นกระบวนการประชาธิปไตย ที่พลเมืองอเมริกันออกเสียงลงคะแนนและนับคะแนนเลือกตั้งทั่วสหรัฐฯ เลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี รองประธา นาธิบดี และผู้นำทางการเมืองสหรัฐฯในทุกระดับ อย่างสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ว่าการรัฐฯ สะท้อนถึงการปกครองตนเอง ตามที่อดีตประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอร์น เคยกล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองเกตตีสเบิร์กว่า เป็น “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” อย่างไรก็ตามท่านทูตโกเดคได้กล่าวเสริมยอมรับว่าประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการปกครองที่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ แต่ก็เป็นระบบดีที่สุดที่มีในปัจจุบัน
สัมพันธ์สหรัฐฯ–ไทยไม่เปลี่ยน
เอกอัครราชทูตสหรัฐฯยังเผยว่า สหรัฐฯมุ่งมั่นให้กระบวนการเลือกตั้งมีความสุจริตเที่ยงธรรม ขณะเดียวกันยังรับรองว่า ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ สหรัฐฯจะยังเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งของไทย เรามีความสัมพันธ์แนบแน่นทั้งด้านการค้า การลงทุน ความมั่นคง การศึกษา รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ทูตโกเดคยังย้ำว่าไทยเป็นมิตรประเทศชาติแรกในเอเชียของสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ทางการทูตของเรายาวนานกว่า 190 ปี จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
อย่าเพิ่งกังวล–รอดูรัฐบาลใหม่
จากนั้นทูตโกเดคให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยเน้นย้ำถึงความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิตัดสินใจเลือกผู้นำของตนเอง ขณะเดียวกันยังให้ความเชื่อมั่นว่าหลังการเลือกตั้งครั้งนี้แน่นอนว่าย่อมมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายและโครงการต่างๆเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ไม่ว่าอย่างไรความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับประเทศไทยพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนข้อกังวลต่อนโยบายต่างๆ ขณะหาเสียงที่มองว่าอาจส่งกระทบด้านการค้าต่อประเทศไทย เช่น การประกาศจะขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้าของทรัมป์ ทูตโกเดคชี้ว่ายังต้องรอดูกันต่อไปว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่หลังรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ในวันที่ 20 ม.ค. 2568 เนื่องจากนโยบายต่างๆยังต้องผ่านกระบวนการเห็นชอบจากวุฒิสภาเสียก่อน
...
ไม่ขออธิบายเรื่องผู้นำหญิง
ส่วนประเด็นที่ว่าเหตุใดสหรัฐฯจึงยังไม่มีผู้นำหญิงทั้งที่ถูกมองว่าเปิดกว้าง ขณะที่ประเทศในเอเชียอย่างไทยก็มีนายกรัฐมนตรีหญิงแล้ว 2 คน เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์ก็เคยมีประธานาธิบดีหญิงมาแล้ว นายโกเดคไม่ได้ตอบตรงๆว่าอะไรคืออุปสรรคในสังคมอเมริกันที่ทำให้ยังไม่มีผู้นำหญิง กล่าวเพียงว่าพลเมืองสตรีอเมริกันเพิ่งมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งราว 100 กว่าปีมานี้เอง สิ่งสำคัญก็คือการยอมรับว่าการจำกัดสิทธิในอดีตเป็นสิ่งผิด พลเมืองสหรัฐฯทุกคนควรมีสิทธิในการลงคะแนนเสียง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
“มาริษ” ชี้สัมพันธ์มะกันยังคงเดิม
ขณะที่นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ เมื่อตอนสายวันที่ 6 พ.ย.ว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯยังคงมั่นคง เข้มแข็ง แน่นแฟ้นเหมือนเดิม เรามีความร่วมมือกันเป็นอย่างดีนี่คือนโยบายสำคัญของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ที่ต้องการเห็นความร่วมมือระหว่างไทยกับทุกประเทศ ต้องมีความยุติธรรมเพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ วินๆทั้งสองฝ่าย ความร่วมมือมีหลายระดับ หลายมิติ ทั้งภาครัฐบาล แบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาคเอกชน ภาคประชาชน ทั้งสามระดับมันดีอยู่แล้ว ใครมาเป็นหัวเรือก็ไม่มีปัญหา
ไทยส่อถูกเพ่งเล็งได้ดุลการค้าสหรัฐฯ
ในส่วนความเห็นของนักธุรกิจไทยกับผลการเลือกตั้งที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง คัมแบ็ก นั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ เป็นคำรบสองนั้น นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะเน้นนโยบายอเมริกาต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก หากประเทศใดได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ ก็จะถูกเพ่งเล็ง ที่สำคัญไทยอยู่ในส่วนนี้แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะที่ผ่านมาสมัยนายทรัมป์ เป็นประธา นาธิบดีสหรัฐฯ ไทยผ่านเรื่องนี้มาแล้ว เชื่อว่าไทยจะสามารถบริหารจัดการเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เรื่องการขึ้นภาษีจัดเก็บ การนำเข้าสินค้าคงจะขึ้นทุกประเทศ ไทยไม่น่ามีข้อเสียเปรียบมาก แต่จีนจะเสียเปรียบมากกว่า โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ภาคเอกชนได้พูดคุยกับสถานทูตจีน ประจำประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ถึงเรื่องการเข้ามาลงทุนในไทย ขณะเดียวกันไทยควรมีแนวทางทำให้สหรัฐฯไม่มีความรู้สึกถึงการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาที่ไทย เพราะอาจถูกเพ่งเล็งเรื่องภาษีเช่นเดียวกับจีนได้ อาจได้รับผลกระทบ ทำให้ไม่สามารถส่งสินค้าบางอย่างไปที่สหรัฐฯ หากจีนย้ายฐานผลิตมาที่ไทยเพิ่มขึ้น ควรสร้างงานและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาให้กับคนไทยด้วย นโยบายกีดกันทางการค้าที่ชัดเจนนั้นไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบมาก สินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯมีคุณภาพ แต่ไทยควรปรับตัวอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะเรื่องการนำสินค้านำเข้า-ส่งออก รวมถึงเรื่องการลงทุนที่สหรัฐฯถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก
ส.อ.ท.ชี้ไทยรับอานิสงส์ย้ายฐานจากจีน
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรไทยจะได้อานิสงส์จากการขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนในบางอุตสาหกรรม ส่งผลให้จะมีการย้ายฐานการผลิตมายังไทย โดยสินค้าจากจีนจะถูกตั้งกำแพงสูงขึ้น อนาคตมีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯจะซื้อสินค้าจากจีนน้อยลงและหันมาซื้อสินค้าจากประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยแทน ก่อนหน้านี้นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่นำเข้าจากจีนจากเดิม 25% เป็น 100% เดือน พ.ค.67 ได้เรียกเก็บภาษีคิดเป็นมูลค่า 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กับสินค้าอุตสาหกรรมที่นำเข้าจากจีน โดยเฉพาะพลังงานสะอาด แผงโซลาร์ ขณะที่นโยบายของนายทรัมป์จะมีความรุนแรงขึ้นกว่า คือ จะขึ้นภาษีจากทุกประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ อย่างน้อย 10-20% และจะเพิ่มกำแพงภาษีจีนเป็น 60-100% ส่วนการกีดกันด้านเทคโนโลยี นายทรัมป์จะมีความรุนแรงกว่าโจ ไบเดน เมื่อทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี ไทยจะต้องมีลอบบี้ยิสต์ ในการเจรจา วางนโยบายที่ชัดเจน เพราะหากเป็นทรัมป์จะเป็นลักษณะ “หมูไปไก่มา” หรือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน ต่างจากนางแฮร์ริส ที่นโยบายยังคล้ายนายไบเดน ไทยยังมีโอกาสที่จะได้เปรียบการค้า
สรท.แนะไทยปรับตัวรับมือ “ทรัมป์”
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า หลังนาย ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง จากนี้โลกจะไม่เหมือนเดิม จะเกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว คาดการณ์ได้ยาก รวมถึงจะเกิดการจัดระเบียบโลกการค้าใหม่ ไทยจะ ต้องปรับตัวรับมือให้ได้ โดยเฉพาะเกิดสงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน แน่นอน และมีความรุนแรงไม่น้อยกว่าเดิม สำหรับแนวทางการรับมือของไทยในเชิงรุก คือ 1. ไทยควรหาพันธมิตรทางการค้าเพิ่มเติม เช่น ในกลุ่ม ตะวันออกกลาง อินเดีย ที่เป็นตลาดใหม่ 2.นโยบายการค้าของนายทรัมป์ ที่สนับสนุนรถยนต์ใช้น้ำมันต่อไป จะเป็นโอกาสให้อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สันดาปได้ประโยชน์ จึงควรมุ่งเปิดตลาดสหรัฐฯ และอเมริกาใต้เพิ่ม 3.ไทยควรสร้างบรรยากาศเปิดรับการลงทุนใหม่และการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ภูมิภาค เพราะเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมาก ส่วนผลกระทบที่ไทยต้องรับมือ คือ 1.ไทยต้องระวังการทำข้อตกลงทางการค้าเพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างคู่กรณีสหรัฐฯกับจีน 2.ต้องเตรียมรับมือสินค้าจากจีนที่อาจจะทะลักเข้าไทยเพิ่ม หากส่งออกไปสหรัฐฯได้ยาก 3.ต้องรับมือการแข่งขันทางการค้าโลกที่มีความรุนแรง โดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิตที่ไทยต้องทำให้ได้เพื่อแข่งขันกับคู่แข่ง
สงครามการค้าแรงขึ้นไทยกระทบหนัก
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ไม่ว่าจะนายทรัมป์ หรือนางแฮร์ริส เป็นประธานาธิบดี สงครามการค้ากับจีน เกิดขึ้นแน่นอน เพียงแต่หากนายทรัมป์ชนะสงครามการค้าจะรุนแรงกว่า เพราะนายทรัมป์ประกาศจะขึ้น ภาษีสินค้าจากจีน 60% และประเทศอื่นๆอีก 10% รวมถึงเม็กซิโก ไต้หวัน การกีดกันทางการค้าไทยนั้น จะได้ผลกระทบในเชิงลบ ทั้งการส่งสินค้าไทยไปสหรัฐฯ ที่ต้องเสียภาษีสูงขึ้น การส่งออกจากไทยไปจีนลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากสหรัฐฯลด หรือไม่นำเข้า สินค้าจากจีน ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจโลกโตต่ำกว่าคาด จากการตั้งกำแพงภาษีที่จะเกิดขึ้น เชื่อว่าประเทศไทยน่าจะปรับตัวได้ และมีกลไกสำคัญรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ มองว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดี ไม่น่าจะมีผลกระทบรุนแรงจนทำให้ไทยปรับตัวไม่ได้ แม้ว่าหากนายทรัมป์เป็นประธานาธิบดี จะทำ นโยบายแบบเลี้ยวหักศอกหรือยูเทิร์น หรือตั้งกฎขึ้นมาเองได้แบบเต็มที่ จึงทำให้ทั้งโลกกังวลว่าจะทำ ให้เศรษฐกิจโลกโตช้ากว่านางแฮร์ริสเป็นประธานาธิบดี เพราะนางแฮร์ริส น่าจะพยายามประคอง ไม่ทำให้สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงจากยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดนมากนัก”
นายกฯอิ๊งค์ยินดี “ทรัมป์” คว้าชัย
ทางด้านนายกรัฐมนตรีของไทย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทวีตข้อความผ่าน X เมื่อเย็นวันที่ 6 พ.ย. ถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ว่า ดิฉันขอแสดงความยินดีกับท่านประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ @realDonald Trump และ สว. เจดี แวนซ์ @JDVance สำหรับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดิฉันพร้อมทำงานร่วมกับท่าน ส่งเสริมความเป็นพันธมิตรระหว่างไทย-สหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยาวนานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ฝรั่งเศส–อังกฤษแสดงความยินดี
ด้านปฏิกิริยาจากผู้นำโลก ต่างร่วมแสดงความยินดีกับชัยชนะของพรรครีพับลิกัน นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส แถลงผ่านโซเชียลมีเดีย X ระบุว่า ขอแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีทรัมป์ พร้อมทำงานร่วมกันเหมือนอย่างเคย ด้วยความเคารพและความมุ่งมั่น เพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง เช่นเดียวกับเซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษระบุว่า พร้อมตั้งตารอที่จะได้ทำงานร่วมกันในอนาคตข้างหน้า ในฐานะที่เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุด ขอยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับสหรัฐฯ ในการปกป้องคุณค่าที่ยึดถือร่วมกัน ทั้งเสรีภาพ ประชาธิปไตยและความร่วมมือทางธุรกิจต่างๆ
รัสเซีย–จีนร่วมส่งสารถึงมะกัน
ขณะที่นายดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวว่า นายทรัมป์คือหนึ่งในบุคคลที่เป็นผลดีต่อรัสเซียและไม่ชอบใช้งบประมาณไปกับหน่วยงานต่างๆอย่างไร้เหตุผล แต่โฆษกรัฐบาลรัสเซียยังไม่ทราบว่า นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย มีแผนจะแถลงแสดงความยินดีหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าสหรัฐฯไม่ใช่มิตรของรัสเซีย ส่วนนางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนระบุว่า รัฐบาลจีนจะยังคงทำงานร่วมกับสหรัฐฯต่อไปบนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน สันติภาพและความร่วมมือที่จะได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย นโยบายของจีนที่มีสหรัฐฯจะคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนเรื่องแนวโน้มการขึ้นภาษีสินค้าจีนของสหรัฐฯนั้น จีนเคารพต่อการตัดสินใจของประชาชนชาวอเมริกัน การเลือกตั้งเป็นกิจการภายในของสหรัฐฯ ขอไม่ตอบคำถามประเด็นนี้
ชาติทำสงครามหวังร่วมมือทรัมป์
นอกจากนี้ นายโวโลดิเมียร์ เซนเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน กล่าวชื่นชมว่า เป็นการเลือกตั้งที่น่าประทับใจและรอคอยที่จะได้เห็นสหรัฐฯที่มีความแข็งแกร่งในยุคสมัยหน้า รวมถึงขอบคุณที่นายทรัมป์มีความมุ่งมั่นสร้างสันติภาพผ่านการเข้ามามีส่วนร่วมในสถานการณ์โลกอย่างเข้มแข็ง หลักการนี้จะนำพาสันติภาพมาสู่ยูเครนได้มากยิ่งขึ้นและหวังว่าจะร่วมมือกันได้ ส่วนนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ชี้ว่าเป็นการกลับมานั่งเก้าอี้ทำเนียบขาวครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นครั้งใหม่สำหรับสหรัฐฯ และจะเป็นความร่วมมือที่ทรงพลังอีกครั้งกับสหรัฐฯเพื่อนแท้ของอิสราเอล
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่