วันนี้มาตามลุ้นผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากันนะครับ เวลาเช้าวันนี้ของบ้านเราตรงกับช่วงค่ำวันอังคารที่ 5 พ.ย.ของอเมริกา ปิดหีบเลือกตั้งเริ่มนับคะแนนกันแล้ว นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน แข่งกับนางคามาลา แฮร์ริส ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต ใครจะได้ขึ้นมาเป็นผู้นำชาติมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลก ซึ่งการดำเนินนโยบายต่างๆของผู้นำสหรัฐฯ ล้วนมีผลต่อสภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ใช่การเลือกตั้งโดยตรง แต่เลือกผ่าน คณะผู้เลือกตั้ง ของแต่ละรัฐ ผู้สมัครที่ได้คะแนนโหวตมากที่สุดจะได้คณะผู้เลือกตั้งของรัฐนั้นๆไปทั้งหมด ไม่ต้องหารสัดส่วนตามคะแนนดิบ จากนั้นผู้เลือกตั้งทั้งหมด 538 เสียงจะมาลงคะแนนเลือกประธานาธิบดี ใครได้ถึง 270 เสียง ก่อนคือผู้ชนะ ฉะนั้นผู้สมัครที่ได้ ป๊อปปูลาร์โหวต หรือ คะแนนดิบทั่วประเทศ  มากที่สุดก็ไม่แน่ว่าจะชนะการเลือกตั้ง

ช่วงแรกของการหาเสียง คะแนนนิยมของแฮร์ริสเป็นต่อทรัมป์อยู่พอสมควร แม้ว่าความโดดเด่นเฉพาะตัวจะเทียบไม่ติด แต่พอเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายทรัมป์เรียกคะแนนตามจี้มาอย่างสูสี โพลบางสำนักยกให้ทรัมป์แซงแฮร์ริส โดยเฉพาะใน รัฐสวิงสเตท (รัฐที่ฐานคะแนนทั้งสองฝ่ายไม่ชัดเจน) ที่มี 7 รัฐชี้ชะตา ถ้าการนับคะแนนขับเคี่ยวสูสี กว่าจะได้ผลการเลือกตั้งที่ชัดเจนอาจกินเวลาหลายวัน

ย้อนไปดูนโยบายหาเสียงของทั้งคู่ ด้านเศรษฐกิจ ทรัมป์ประกาศลดภาษีสำหรับธุรกิจและผู้มีรายได้สูง หวังกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุนและจ้างงาน ขณะที่แฮร์ริสจะเก็บภาษีเพิ่มจากผู้มีรายได้สูง ส่งเสริมกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ด้านสิ่งแวดล้อม ทรัมป์สนับสนุนธุรกิจพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล จะถอนตัวจากข้อตกลงปารีส แต่แฮร์ริสให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด ลดคาร์บอน มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อลดภาวะโลกร้อน

...

ด้านต่างประเทศ ทรัมป์เน้นแนวทาง America First ลดบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ ยกระดับการกีดกันทางการค้า ส่วนแฮร์ริสสนับสนุนการเสริมสร้างพันธมิตรและคงไว้ซึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศ สนับสนุนการค้าเสรีและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ด้านสังคมและสิทธิมนุษยชน  ทรัมป์เข้มงวดนโยบายคนเข้าเมือง และจะขับไล่ผู้อพยพกลับประเทศ ขณะที่แฮร์ริสส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เปิดโอกาสให้อพยพเข้ามาทำงานในอเมริกา

ในแง่ผลกระทบที่อาจจะมีต่อประเทศไทย หากประเมินภาพกว้างแบบไม่พยายามเค้นประเด็น ในความเห็นของ ดร.รุ่งเรือง พิทยศิริ อดีตที่ปรึกษา รมว.คลัง มองว่า ถ้าทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง สงครามการค้ากับจีนจะรุนแรงขึ้น ทำให้เงินเฟ้ออเมริกาปรับตัวสูง เพราะคนอเมริกันจะบริโภคสินค้าภายในประเทศมากขึ้น เป็นตัวเหนี่ยวนำทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐฯก็จะชะลอทิศทางการลดอัตราดอกเบี้ยไปก่อน และเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ส่งผลต่อค่าเงินบาทไทยจะอ่อนตัวลง แนวโน้มที่ธนาคารแห่งประเทศจะลดอัตราดอกเบี้ยก็น้อยลง

ส่วนแนวทางของแฮร์ริสจะเน้นเหมือนกรอบของธนาคารโลกคือ Sustainable Development Goals (SDGs) ความโปร่งและความยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกควรตระหนัก จะส่งผลดีในระยะยาว ถ้าแฮร์ริสชนะจะไม่เกิดภาวะช็อกระยะสั้นมากเท่ากับทรัมป์ แต่สงครามในตะวันออกกลางจะยืดเยื้อกว่า เพราะนโยบายของเดโมแครตไม่ยอมอ่อนข้อ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าทรัมป์หรือแฮร์ริสได้เป็นประธานาธิบดีก็ส่งผลกับไทยไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะไทยไม่ได้อยู่ในเรดาร์ ของสหรัฐฯอยู่แล้ว เราเป็นประเทศเล็ก และไม่ได้มีบทบาททางการเมืองโลกมากนัก ถ้าเทียบกับฟิลิปปินส์หรือมาเลเซียยังอยู่ในสายตาสหรัฐฯมากกว่าไทย

ดร.รุ่งเรืองให้ข้อคิดด้วยว่า สิ่งสำคัญที่สุดไทยต้องดูแลจัดการตัวเองให้สะอาดโปร่งใส อย่าทำอะไรที่เป็นเงื่อนไขให้สหรัฐฯ กีดกันการค้า เช่น ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ใช้แรงงานเด็ก หรือยาเสพติดตามแนวชายแดน ถ้าลดปัญหาเหล่านี้ได้ ไทยจะถูกจัดระดับเทียร์ดีขึ้น และไม่โดนสหรัฐฯกีดกันทางการค้า.

ลมกรด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม