ทีมกู้ภัยของสเปนกำลังเร่งค้นหาผู้สูญหายตามอุโมงค์หรือลานจอดรถใต้ดินที่ถูกน้ำท่วม ขณะที่มีฝนตกเพิ่มในแคว้นกาตาลุญญา ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันที่เมืองบาร์เซโลนา
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทีมกู้ภัยในประเทศสเปนยกำลังออกค้นหาผู้สูญหายในเหตุน้ำท่วมใหญ่ในภาคตะวันออกของประเทศ โดยเฉพาะในลานจอดรถใต้ดินที่ถูกน้ำท่วมขัง เมื่อวันจันทร์ที่ 4 พ.ย. 2567 วันเดียวหลังจากผู้ชนที่โกรธแค้นปาโคลนใส่คิงเฟลิเปที่ 6 และนายกรัฐมนตรี ซึ่งไปเยือนพื้นที่น้ำท่วม
สเปนกำลังเผชิญเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในรอบหลายสิบปี โดยจำนวนผู้เคราะห์ร้ายตอนนี้อยู่ที่ 217 ศพ โดย 213 ศพในจำนวนนี้ อยู่ที่แคว้นบาเลนเซีย ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด อีก 3 ศพอยู่ที่แคว้นกัสติยา-ลามันชา และอีก 1 ศพ อยู่ที่แคว้นปกครองตนเองอันดาลูเซีย
ตอนนี้ทีมนักประดาน้ำกำลังมุ่งการค้นหาผู้สูญหายตามลานจอดรถใต้ดินที่ยังถูกน้ำท่วมขัง ในเมืองอัลไดยา หลังประชาชนจำนวนมากถูกพายุฝนเล่นงานโดยไม่ทันตั้งตัวขณะอยู่ภายในรถยนต์ของพวกเขา หรืออยู่ในพื้นที่ใต้ดินอย่างลานจอดรถ, อุโมงค์ และโรงรถ ซึ่งปฏิบัติการกู้ภัยยากเป็นพิเศษ
สำนักงานบริการสภาพอากาศแห่งชาติของสเปน (AEMET) ประกาศยุติสถานการณ์ฉุกเฉินในแคว้นบาเลนเซียในวันจันทร์ แต่กำหนดให้บางพื้นที่ของแคว้นกาตาลุญญา ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ให้อยู่ในภาวะเฝ้าระวังฝนตกหนัก ระดับสีแดง ซึ่งเป็นขั้นสูงสุด
ฝนที่ตกลงมาทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในเมืองบาร์เซโลนา และบริการรถไฟในแคว้นกาตาลันถูกยกเลิกอย่างไม่มีกำหนด ตามการเปิดเผยของนาย ออสการ์ ปูเอนเต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขณะที่เที่ยวบินโดยสารของท่าอากาศยาน เอล แปรต ในเมืองบาร์เซโลนา ต้องล่าช้า หรือเปลี่ยนเส้นทางไปยังจุดหมายอื่น
...
ทั้งนี้ สเปนกำลังรับมือกับผลที่ตามมาหลังน้ำท่วม ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลและผู้มีอำนาจ เนื่องจากความช่วยเหลือเป็นไปอย่างล่าช้า
นายเฟร์นันโด กรังเด-มาร์ลัสกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยในวันจันทร์ว่า กองกำลังป้องกันพลเรือนกำลังสืบสวนเหตุความวุ่นวานที่เมืองไปปอร์ตา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในแคว้นบาเลนเซีย หลังฝูงชนขวางปาสิ่งของและดินโคลนใส่คิงเฟลิเปที่ 6, ควีนเลติเซีย และนายกรัฐมนตรี เปโดร ซานเชซ ขณะที่ทั้งสามเดินทางไปเยือนเมื่อวันอาทิตย์
นายกรังเด-มาลัสกา กล่าวโทษคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ว่าเป็นผู้ปลุกปั่นให้เกิดการเผชิญหน้ารุนแรงดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการให้ความช่วยเหลือ และความพร้อมรับมือภัยพิบัติของรัฐบาลสเปนกำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนัก เนื่องจากระบบเตือนภัยล้มเหลวในการแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า และตอนสนองไม่ทันท่วงที
ทหารและเจ้าหน้าที่กู้ภัยเพิ่งเดินทางถึงบางเมืองหลังจากหายนะได้ผ่านพ้นไปแล้ว และมีหลายกรณีที่อาสาสมัคร ที่เป็นกลุ่มแรกที่แจกจ่ายเสบียงอาหาร, ของใช้ด้านสุขอนามัยและอุปกรณ์ทำความสะอาด ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ
“เราไม่ควรมองโลกในแง่ดีในเรื่องนี้ เพราะผู้คนต้องมาช่วยเหลือกันเองเนื่องจากเราถูกทอดทิ้ง” ฆอร์เก ผู้อยู่อาศัยในเมืองชิวา หนึ่งในเมืองที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากน้ำท่วม กล่าว “เสียงปรบมือควรมอบให้แก่เหล่าอาสาสมัคร ไม่ใช่พวกคนที่มาแค่เพื่อถ่ายรูปและสร้างภาพ”
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign