สัปดาห์หน้า เช้าวันที่ 6 พ.ย. ตามเวลาประเทศไทย ก็จะถึงเวลาของการชี้ชะตาว่าใครจะกลายเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ลำดับที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา

“โดนัลด์ ทรัมป์” วัย 78 ปี จากพรรคฝ่ายค้านรีพับลิกัน หรือ “คามาลา แฮร์ริส” วัย 60 ปี จากพรรครัฐบาลเดโมแครต ใครที่จะชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 และขึ้นครอบครองบัลลังก์ทำเนียบขาวชาติ “พญาอินทรี” ผู้ทรงอิทธิพลระดับโลก

โดยบรรยากาศครั้งนี้ ไม่ต่างอะไรจากการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน ในทั้งหมด 50 รัฐ จะมี 43 รัฐที่มีทิศทางชัดเจนตั้งแต่แรกว่าเป็นรัฐ “แดง” รีพับลิกัน หรือรัฐ “น้ำเงิน” เดโมแครต

คาดการณ์ผลลัพธ์ไปได้เลยว่า จะเทคะแนนไปทางไหน อย่างภาคตะวันตกฝั่งเวสต์โคสต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย โอเรกอน วอชิงตัน ก็เป็นของเดโมแครตมาตลอด ขณะที่ภาคใต้อย่างเท็กซัส ฟลอริดา และกลุ่มชนบทภาคกลาง เคนตักกี แคนซัส มิสซูรี โอกลาโฮมา ก็แทบไม่เคยเปลี่ยนใจจากรีพับลิกัน

สามารถบวกคะแนน “คณะเลือกตั้ง” ในแต่ละรัฐไปได้เลย ทำให้ทุกๆปีจะต้องมาชิงชัยกันในรัฐ “สวิง สเตท” หรือรัฐที่ในปีนั้นๆ มีทิศทางไม่ชัดเจนว่าจะอยู่ข้างใด

ซึ่งสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้มีอยู่ทั้งหมด 7 รัฐ ประกอบด้วย เนวาดา อริโซนา วิสคอนซิน มิชิแกน จอร์เจีย นอร์ทแคโรไลนา และเพนซิลเวเนีย ที่จะผลักดันให้ผู้สมัครครองคณะผู้เลือกตั้งจากรัฐต่างๆได้ตามเกณฑ์ (270 เสียงจากทั้งหมด 538 เสียง) กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนคนไทยแล้ว การติดตามบรรยากาศการนับคะแนนการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 ในสัปดาห์หน้า คงไม่ต่างอะไรนักกับการรับชมการแข่งขันกีฬา ทายผลกันอย่างสนุกสนานว่าใครจะชนะ แถมเผลอๆอาจมีการพนันขันต่อพ่วงตามมา

...

เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งนี้ถือเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่จะนำไปสู่คำถามสำคัญว่า ผู้นำพญาอินทรีคนใหม่ที่กำลังจะมา จะดำเนินความสัมพันธ์กับเรา ภูมิภาคอาเซียน หรือในภาพใหญ่ “อินโดแปซิฟิก” เช่นไร

สำหรับประเทศไทยและอาเซียนนั้น ดำเนินความสัมพันธ์ฉันมิตรกับสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลาหลักร้อยปี แต่ไม่สามารถเรียกได้เต็มปากว่า เป็นความสัมพันธ์ในระดับผู้เท่าเทียม หรือมีค่านิยมร่วมกัน เพราะเป็นไปในลักษณะของการมี “ผลประโยชน์” ต่างตอบแทน

โดยมีความมั่นคง และ “การจัดระเบียบโลก” เป็นตัวยืนพื้น เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงยุคสงครามเย็น ที่สหรัฐฯกลายเป็นผู้รับประกันความปลอดภัยของภูมิภาค และก่อให้เกิดกลุ่มความร่วมมืออาเซียน

และแน่นอนว่าการเปลี่ยน ตัวผู้นำสหรัฐฯ ก็ไม่เคยส่งผลกระทบต่อ “แก่นแท้” ดังกล่าว เนื่องด้วยไทยและชาติอื่นๆ ในภูมิภาค จะทำการปรับตัวอยู่เสมอ เพื่อให้สอดคล้องไปกับทิศทางการเมืองอเมริกัน

ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องถอยหลังหนึ่งก้าว เพื่อมองดูภาพรวมว่านโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ณ เพลานี้ เป็นเช่นไร ซึ่งสิ่งที่ชัดเจนคือ ไม่ว่าจะเป็นรีพับลิกันหรือเดโมแครต ต่างมีจุดยืนร่วมกันว่า “สาธารณรัฐประชาชนจีน” จำเป็นจะต้องถูกยับยั้งไม่ให้โตเสริมสร้าง อิทธิพลไปมากกว่านี้

เท่ากับว่าความแตกต่างขึ้นอยู่กับ “วิธีการ” ของตัวผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าจะเดินเกมในภูมิภาคเราเช่นไร

สำหรับ “คามาลา แฮร์ริส” มีแนวโน้มสูงที่จะดำเนินรอยตามนโยบายการต่างประเทศของ “โจ ไบเดน” เหมือนดั่ง 4 ปีที่ผ่านมา ใช้กลไกความเป็นพหุภาคี ปรึกษาหารือ จับกลุ่มความร่วมมือในการตีกรอบล้อมจีน หรือกดดันทางอ้อม ภายใต้หลักการว่า “แข่งขันเมื่อสมควร ร่วมมือเมื่อทำได้ และเป็นศัตรูกันเมื่อจำเป็น”

หากแฮร์ริสได้รับเลือกเป็นผู้นำสหรัฐฯ ก็เป็นไปได้สูงที่จะเดินทางมาร่วมการประชุมระดับสูงของอาเซียนมากขึ้น แต่ความท้าทายที่จะตามมาคือ จะเกลี้ยกล่อมในเรื่องการค้าเช่นไร ในเมื่อความสัมพันธ์การค้าระหว่างภูมิภาคเรากับจีนก็มีผลประโยชน์ตอบแทนที่ชัดเจนและรวดเร็ว

อีกทั้งค่านิยมที่แฮร์ริสเชื่อมั่นอย่างประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน อาจกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาความสัมพันธ์ เพราะประเด็นดังกล่าวยากที่จะบอกกล่าวโดยไม่ให้รู้สึกว่ากำลังถูก “สั่งสอน”

สำหรับ “โดนัลด์ ทรัมป์” มีแนวโน้มสูงที่จะใช้นโยบายตาต่อตาฟันต่อฟันในเรื่องจีน การตั้งกำแพงภาษีการค้าเพิ่มเติมกับจีน ย่อมส่ง ผลกระทบต่อบรรยากาศการค้า และการไหลเวียนของห่วงโซ่สินค้าในภูมิภาค แย่กว่านั้นคือการที่ทีมงานของทรัมป์ บางส่วนมองว่า ควรหรือไม่ ที่จะแยกขาดจากจีนไปเลย

หากทรัมป์ได้รับเลือกเป็นผู้นำสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความโกลาหลในตลาดการค้า ซึ่งต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวสักพักใหญ่ แต่การเข้าหาประเทศต่างๆในภูมิภาคจะมีความตรงไปตรงมา และเป็นไปในลักษณะ “ทวิภาคี” เหมือนกับช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งผู้นำครั้งก่อน

อีกทั้งบางประเทศย่อมเกิดความรู้สึกคุยง่าย เนื่องจากทรัมป์เคยให้ความชัดเจนมาแล้ว ว่าไม่อยากยุ่งเรื่องค่านิยมและสิทธิมนุษยชน สนใจเรื่องผลประโยชน์เป็นที่ตั้งตามสไตล์นักธุรกิจอเมริกัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้ยังขึ้นอยู่กับว่า “ผู้ชนะ” จะแต่งตั้งใครขึ้นมาเป็นแขนขา และคนเหล่านั้นจะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายหลังจากนี้เช่นไร นอกจากนี้ การเดินหน้าความสัมพันธ์กับไทยและภูมิภาคจะทำได้ช้าหรือเร็ว เพราะการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 เกิดความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในระดับที่น่าวิตกกังวล

...

การปรองดองและเยียวยาสังคมอเมริกันให้กลับมายอมรับ ซึ่งกันและกันจะใช้เวลาเพียงใด หรือสุดท้ายแล้วจะทำได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด ซึ่งสิ่งที่เราทำได้คือการคงความสงบร่มเย็น พัฒนาประเทศให้น่าสนใจ และรอคอยวันที่จะได้เจรจากับรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ.

ทีมข่าวต่างประเทศ