นักการเมืองในอดีตชอบทำตัวหรูหราหมาเห่า ไปไหนต้องใช้รถราคาแพง เต็มไปด้วยบอดี้การ์ด ต้องโชว์นาฬิกา อวดแหวนเพชร ฯลฯ เช่นเดียวกับนักธุรกิจ ดารา หรือคนมีชื่อเสียงอื่นๆ ต่อมา พฤติกรรมอวดรวยลามไปจนถึงคนธรรมดา ทำให้ต่างคนต่างดิ้นรนเพื่อมีเครื่องแต่งตัวและเครื่องประดับราคาแพงไว้ใส่อวดกัน

ต้องขอบคุณเศรษฐีระดับโลกหลายคนที่รวยของจริงที่ได้เปลี่ยนทัศนคติของผู้คนในเรื่องการใช้ชีวิตให้ปกติธรรมดา แต่งเนื้อแต่งตัวธรรมดาที่ปราศจากเครื่องประดับ หรือบางทีใช้รถเก่า เช่น วอร์เรน เอดเวิร์ด บัฟเฟตต์ ซีอีโอของบริษัท เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ นักลงทุนชาวอเมริกันที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก และมาร์ก เอลเลียต ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก และเป็นมหาเศรษฐีที่อายุน้อยที่สุดในโลก เมื่อ ค.ศ.2008

ผู้นำประเทศที่ใช้ชีวิตธรรมดาอีกคนหนึ่งคือ นายโจโก วิโดโด หรือโจโกวี ประธานาธิบดีคนที่ 7 ของอินโดนีเซียที่เพิ่งลงจากตำแหน่ง แม้แต่ประธานาธิบดีคนที่ 8 ของอินโดนีเซีย พลเอก ปราโบโว สุเบียนโต ทันทีที่รับตำแหน่งก็ออกคำสั่งให้รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเลิกใช้รถยนต์หรูที่นำเข้าจากต่างประเทศ แล้วหันมาใช้รถที่ผลิตในอินโดนีเซียแทน

ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี และกิจกรรมทหารในเมืองต่างๆ พลเอกปราโบโวใช้รถยนต์ Pindad MV3 Garuda Limousine นอกจากจะช่วยลดทัศนคติในเรื่องวัตถุนิยมแล้ว ยังช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของอินโดนีเซียพัฒนาอีกด้วย

คำสั่งของรัฐบาลอินโดนีเซียในชุดปัจจุบันได้ใจประชาชน เช่น การห้ามบริษัทแอปเปิลจำหน่ายไอโฟน 16 ในอินโดนีเซีย เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามกฎการลงทุนในประเทศที่กำหนดไว้ว่า สมาร์ทโฟนที่จะวางจำหน่ายจะต้องมีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศร้อยละ 40

อินโดนีเซียมีประชากร 270 ล้านคน มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีการใช้โทรศัพท์มือถือมากถึง 350 ล้านเครื่อง แอปเปิลเคยสัญญาว่าจะลงทุน 1.7 ล้านล้านรูเปียห์+ตั้งศูนย์การเรียนรู้สำหรับนักพัฒนาในประเทศ แต่ปรากฏว่าแอปเปิลลงทุนเพียง 1.5 ล้านล้านรูเปียห์ หรือแค่ 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รัฐบาลอินโดนีเซียจึงทั้งห้ามจำหน่ายไอโฟน 16 ในประเทศของตน

...

ตอนนี้กระแสบ้าวัตถุนิยมลดลงไปในหลายประเทศ แม้แต่ในจีนที่แต่เดิมใครมีเงินนิดหน่อยก็ต้องอวดรวยซื้อแบรนด์เนม ทว่าปัจจุบันมีกระแส Revenge Saving หรือการออมเงินเพื่อแก้แค้น ประหยัดอย่างสุดขีด เริ่มมีศัพท์บนโซเชียลมีเดียจีนที่ฮิตอย่าง Reverse Consumption หรือการบริโภคแบบย้อนกลับ Stingy Economy เศรษฐกิจแบบขี้เหนียว จากเดิมที่เคยนั่งในร้านภัตตาคารหรูหราก็หันไปนั่งตามฟู้ดคอร์ต การท่องเที่ยวในต่างประเทศที่เคยฮิตสำหรับคนเจน Z (อายุ 15-29 ปี) พวกนี้ก็หันไปเดินชมวิวทิวทัศน์และเดินเล่นไปเรื่อยๆเพื่อไม่ต้องใช้เงิน ไปพักที่ไหนก็จะใช้ระบบแชร์ บางคนก็นิยมไปพักที่วัดและอารามต่างๆเพื่อประหยัดค่าที่พัก

ประโยคฮิตที่ถามกันตามโซเชียลมีเดียก็เช่น มีบุฟเฟ่ต์ราคาประหยัดที่ไหนบ้าง หรือบางคนไปทานอาหารตามสถานที่ที่จัดไว้ให้สำหรับผู้สูงอายุ เทรนด์การใช้ชีวิตลักษณะนี้มีทั้งแง่บวกและมุมลบ แง่บวกก็คือทำให้คนไม่ฟุ้งเฟ้อ ในแง่ลบก็คือความมั่งคั่งไม่หมุนเวียนในประเทศ

ความที่คนจีนรัดเข็มขัดไม่ใช้เงิน และกลัวการเป็นหนี้ กระทบหลายอย่าง เช่น ภัตตาคารร้านอาหารที่เคยให้บริการอย่างเต็มรูปแบบก็ต้องลดขนาดหรือปิดตัวลง รัฐบาลจีนพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจโดยมีนโยบายนำบ้านเก่า รถเก่า เฟอร์นิเจอร์เก่า แลกกับของใหม่ โดยมีเงินจากรัฐบาลมาอุดหนุน แต่นโยบายนี้ล้มเหลวด้วยเหตุผลเดิมคือคนจีนไม่ใช้เงิน ยินดีใช้ของเก่าเพื่อเก็บเงินไว้ใช้ในอนาคต

ผู้นำประเทศเป็นบุคคลที่ต้องทำตนให้เป็นตัวอย่างของประชาชนคนทั่วไป ถ้าผู้นำทำตัวและใช้ชีวิตหรูหราหมาเห่าก็จะเป็นตัวอย่างให้คนทำตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเยาวชน ผู้นำจึงต้องระมัดระวังในการใช้ชีวิตเพราะพวกท่านเป็นบุคคลสาธารณะ.


นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม