การประชุมระดับ ผู้นำประเทศกลุ่ม BRICS ที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย โดยมี ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำ รัสเซีย เป็นเจ้าภาพ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก กลุ่มบริกส์ ร่วมกับอีก 3 ชาติอาเซียน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม รัฐบาลไทยได้ส่ง คุณมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีต่างประเทศไปประชุมแทน นายกฯแพทองธาร ชินวัตร โดยไทยได้แถลงในที่ประชุมว่า ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่ม บริกส์ และเชื่อว่า ไทยจะเป็นตัวเชื่อมระหว่าง BRICS กับกลุ่มอื่นๆ เช่น อาเซียน เอเปค BIMSTEC และ ACD ได้เป็นอย่างดี

การที่ รัสเซีย และ ประธานาธิบดีปูติน สามารถจัดประชุมระดับผู้นำกลุ่ม BRICS ได้อย่างราบรื่น ทั้งที่ถูกสหรัฐฯควํ่าบาตร และมีผู้นำประเทศต่างๆเข้าร่วมประชุมกว่า 30 ประเทศโดยไม่แคร์สหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นว่าการควํ่าบาตรรัสเซียของสหรัฐฯและยุโรปล้มเหลว

กลุ่ม BRICS ก่อตั้งขึ้นมาคานอำนาจสหรัฐฯและยุโรปตั้งแต่ปี 2549 ริเริ่มโดย 4 ประเทศคือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน ต่อมามี แอฟริกาใต้ เข้าร่วมด้วย จึงเรียกชื่อว่า BRICS ตามอักษรชื่อประเทศตัวแรก การประชุมครั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า มีสมาชิกเพิ่มอีก 5 ประเทศคือ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และอีก 13 ประเทศเข้าร่วมเป็นพันธมิตร มี ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม แอลจีเรีย เบลารุส โบลิเวีย คิวบา คาซัคสถาน ไนจีเรีย ตุรกี ยูกันดา และ อุซเบกิสถาน ทำให้กลุ่มบริกส์มีประชากรรวมกันมากกว่า 3,200 ล้านคน มีศักยภาพทางเศรษฐกิจกว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์ (เท่ากับจีดีพีสหรัฐฯ) คิดเป็น 28% ของเศรษฐกิจโลก

นายเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า จีนพร้อมทำงานกับทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในกลุ่มบริกส์เข้าสู่ยุคใหม่แห่งความสามัคคี  และ การพึ่งพาตนเองของกลุ่มประเทศ ในซีกโลกใต้

...

การประชุมครั้งนี้ คุณมาริษ เสงี่ยมพงษ์  รัฐมนตรีต่างประเทศไทย ได้เสนอให้มีการหารือเรื่อง การปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น และได้เชิญสมาชิกกลุ่ม BRICS มาร่วมประชุม High–Level Discussion on the Financial Architecture  ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปีหน้าด้วย สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้รายงานโดยอ้าง เอกสารทางการของรัสเซีย ว่า การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มบริกส์ครั้งนี้ รัฐบาลรัสเซียได้เสนอ “ร่างแผนการสร้างระบบการเงินระหว่างประเทศรูปแบบใหม่”  ซึ่งจะช่วยให้ ชาติสมาชิกรอดพ้นจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก และ “ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ” เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนอีกต่อไป

ระบบการเงินระหว่างประเทศรูปแบบใหม่นี้ จะเป็น “แพลตฟอร์มทางการเงิน” ที่ใช้เทคโนโลยี “บล็อกเชน” และมี “สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Token)”  เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนโดย สินทรัพย์ดิจิทัล ในรูปแบบใหม่นี้ จะใช้เงินสกุลของประเทศที่เข้าร่วมเป็นตัวค้ำประกัน

เอกสารของรัฐบาลรัสเซียระบุด้วยว่า แพลตฟอร์มการเงินใหม่ จะทำงานผ่าน เครือข่ายเน็ตเวิร์กของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของชาติสมาชิก ที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันผ่านระบบของ “ธนาคารกลางประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์” ซึ่งจะทำให้ธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศสมาชิกไม่จำเป็นต้องใช้เงินสกุลดอลลาร์อีกต่อไป

นอกจากนี้ยังเสนอให้จัดตั้ง แพลตฟอร์ม “BRICS Clear” และ แพลตฟอร์มการค้า เพื่อไม่ให้มีการใช้เงินสกุลดอลลาร์มาเป็นเครื่องมือกดดันทางการเมือง

ล่าสุด ธนาคารกลางจีน รายงานว่า 8 เดือนแรกปีนี้ มีการใช้ “สกุลเงินหยวน” ในการชำระข้ามพรมแดนเพิ่มขึ้นถึง 21.1% แตะที่ 41.6 ล้านล้านหยวน หรือ 5.94 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว ด้านบริการ ก็มีการใช้เงินหยวนข้ามพรมแดนเพิ่มขึ้น 22.3% ที่ 1.2 ล้านล้านหยวน โดยไม่ต้องใช้เงินดอลลาร์แม้แต่เซ็นต์เดียว ดอลลาร์สหรัฐฯท่าจะเหนื่อย.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม